Last updated: 23 พ.ค. 2568 | 427 จำนวนผู้เข้าชม |
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว(Tension Headache)เป็นอาการปวดศีรษะจากความเครียด จะมีลักษณะปวดศีรษะแบบตื้อ ๆ หนัก ๆ เหมือนมีอะไรมาบีบรัดบริเวณศีรษะ อาการมักเริ่มจากปวดตึงกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ และท้ายทอย อาจปวดร้าวไปยังขมับหรือปวดทั่วบริเวณศีรษะ บางครั้งอาจปวดศีรษะข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ แม้โดยทั่วไปอาการปวดมักไม่รุนแรง แต่ทำให้เกิดความทรมาน รู้สึกไม่สบายตัว และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้ อาการปวดมักเป็น ๆ หาย ๆ หรืออาจปวดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน บางรายอาจนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะ เกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ ท้ายทอย ขมับ ไปจนถึงบริเวณรอบศีรษะเกร็งตัว ซึ่งเป็นผลมาจากความเครียดสะสม การใช้สมองหรือสายตาเป็นระยะเวลานาน ๆ ร่างกายอ่อนเพลีย พักผ่อนไม่เพียงพอ อดอาหารหรือทานอาหารไม่ตรงเวลา นอกจากนี้ปัญหาทางด้านจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล หรือความตื่นตระหนก ล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้นการปวดศีรษะ
ในมุมมองของการแพทย์แผนจีนอาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว จัดอยู่ในกลุ่มอาการปวดศีรษะ (头痛)หรือลมขึ้นศีรษะ(头风)สาเหตุหลักเกิดจากลมภายนอกเข้ามารุกรานร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นลมเย็น ลมร้อน หรือลมชื้น ล้วนก่อให้เกิดอาการปวดเศีรษะ อีกปัจจัยหนึ่งคือเรื่องเกี่ยวกับอารมณ์ อารมณ์ที่ไม่สมดุลสามารถส่งผลกระทบถึงอวัยวะภายในได้เช่นกัน เช่น ความโกรธส่งผลกระทบต่อตับ ความเศร้าส่งผลกระทบต่อปอด ความกลัวส่งผลกระทบต่อไต ความกังวลส่งผลกระทบต่อม้าม เป็นต้น
การแพทย์แผนจีนมองว่าศีรษะเป็นจุดศูนย์รวมพลังหยางในร่างกาย และตำแหน่งการปวดศีรษะสามารถบ่งชี้ถึงความเกี่ยวข้องของเส้นลมปราณที่แตกต่างกัน เช่น ปวดศีรษะบริเวณท้ายทอยและปวดร้าวลงมาบริเวณต้นคอ จัดเป็นอาการปวดศีรษะตามแนวเส้นลมปราณไท่หยาง(太阳经)ปวดศีรษะบริเวณหน้าผากตลอดจนตามแนวคิ้ว จัดเป็นอาการปวดศีรษะตามแนวเส้นลมปราณหยางหมิง(阳明经)ปวดศีรษะบริเวณด้านข้างและปวดร้าวลงมาบริเวณหู จัดเป็นอาการปวดศีรษะตามแนวเส้นลมปราณเส้าหยาง (少阳经) ปวดศีรษะบริเวณกลางกระหม่อม จัดเป็นอาการปวดศีรษะตามแนวเส้นลมปราณ เจวี๋ยวอิน(厥阴经)
การรับประทานยาแก้ปวดมักป็นทางเลือกแรกที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะ แต่นั้นเป็นการรักษาที่ปลายเหตุและอาจมีผลข้างเคียงเมื่อใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ศาสตร์การแพทย์แผนจีนมีแนวทางการรักษาที่มุ้งเน้นในการปรับสมดุลร่างกายและรักษาโรคที่ต้นเหตุ โดยใช้วิธีการนวดทุยหนา การฝังเข็ม การครอบแก้ว และการใช้ยาสมุนไพรจีน เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของชี่และเลือด คลายความเครียด คลายความอ่อนล้า บรรเทาอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ อย่างไรก็ตาม การทำความเข้าใจถึงสาเหตุและปัจจัยกระตุ้น รวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอ การปรับท่านั่งในการทำงาน การจัดกับการความเครียด การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการดูแลสุขภาพจิต มีความสำคัญอย่างยิ่งในป้องกันอาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัวในระยะยาว
เอกสารอ้างอิง
[1]带你了解“紧张性头痛”. 上海市东方医院患者移动服务平台,2022年8月.
______________________________________________________________
บทความโดย
แพทย์จีน ปภาวรินทร์ อัศวเดชเมธากุล (หมอจีนหม่า หุ้ย หมิ่น)
马惠敏 中医师
TCM. Dr. Paphawarin Asawadethmetakul (Ma Hui Min)
แผนกทุยหนาและกระดูก
คลินิกการประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว
27 มิ.ย. 2568
27 มิ.ย. 2568
27 มิ.ย. 2568
27 มิ.ย. 2568