การฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีภาวะ Long COVID ด้วยวิธีศาสตร์แพทย์จีน

Last updated: 10 ต.ค. 2566  |  11068 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีภาวะ Long COVID ด้วยวิธีศาสตร์แพทย์จีน

จากสถานการณ์โรคระบาดติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ทั่วโลกในปัจจุบันยังไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยที่ผ่านมามีทั้งได้รับการรักษาตามระบบอยู่ในโรงพยาบาล  ฮอสพิเทล หรือ กักตัวรักษาอยู่ที่บ้าน โดยทั่วไประยะเวลาในการรักษาอยู่ที่ 14 วัน ยกเว้นบางรายที่มีอาการหนักอาจใช้เวลานานกว่านั้น โดยแพทย์จะประเมินจากอาการ ภาพถ่ายเอ็กซเรย์ปอด ผลการตรวจเชื้อร่วมด้วย  แต่กลับพบว่าผู้ป่วยหลายรายที่หายป่วยจาก COVID-19 ซึ่งจัดว่าเป็นผู้ที่พ้นระยะการแพร่เชื้อ และอยู่ในระยะที่ร่างกายฟื้นตัว  มักมีอาการไม่สบายหลงเหลืออยู่ ซึ่งบางรายอาจไม่มีอาการแสดงอะไรเป็นพิเศษในช่วงที่รักษาเลย แต่พอกลับบ้านพบว่าเริ่มมีอาการต่างๆตามมา จนบางคนอาจสงสัยว่าตนเองหายจากโควิด-19 แล้วหรือยัง ?

อาการต่างๆที่เกิดขึ้น ในผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายจากระยะเฉียบพลัน แล้วมักจะพบอาการต่างๆ เนื่องจากกระทบการทำงานหลายๆระบบ รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันด้วย เช่น เหนื่อยง่าย , อ่อนเพลีย, ปวดศีรษะ,  หายใจลำบาก,  จมูกไม่ได้กลิ่น,  กล้ามเนื้ออ่อนแรง,   ไข้ต่ำๆ ,   เวียนศรีษะ,  เจ็บหน้าอก,  ไอ , ปวดกล้ามเนื้อ-ข้อต่อ ,  ซึมเศร้า หรือวิตกกังวล,  นอนไม่หลับ,  เบื่ออาหาร และความจำถดถอย เป็นต้น

บางรายอาจกระตุ้นทำให้โรคเก่าเป็นกำเริบขึ้นมาได้ด้วยเช่นกัน  ซึ่งอาการเหล่านี้เรียกว่า “ภาวะลองโควิด (Long COVID)” ซึ่งตามที่สถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์ (NICE) ของประเทศอังกฤษ ได้อธิบายไว้ว่า เป็นอาการและอาการแสดงที่ดำเนินต่อไปหรือพัฒนาต่อมาจากโควิด-19 เฉียบพลัน ซึ่งหมายถึงทั้งกลุ่มอาการโควิด-19 ที่มีอาการต่อเนื่อง (ongoing symptomatic COVID-19) ตั้งแต่ 4 –12 สัปดาห์ และกลุ่มอาการหลังโควิด-19 (post-COVID-19 syndrome) ที่มีอาการเมื่อตรวจพบเชื้อหรือมีอาการเกิดขึ้นในภายหลัง ตั้งแต่12 สัปดาห์ขึ้นไป  


ปัจจุบันมีรายงานว่ามีผู้ป่วยที่รู้สึกว่าตนเองยังไม่หายป่วยอย่างเด็ดขาดถึงแม้ว่าจะสิ้นสุดการรักษาแล้ว โดยเฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงจะมีแนวโน้มว่ารู้สึกไม่หายป่วยมากขึ้น เนื่องจากความเสียหายกระทบในหลายระบบ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ที่รู้สึกเหมือนยังไม่หายป่วยมีมากถึงร้อยละ 91  โดยร้อยละ 82.8 จะมีอาการอ่อนเพลียเหนื่อยง่าย  ร้อยละ 53.5 จะรู้สึกหายใจติดขัด  และร้อยละ 46.2 มีปัญหาการนอนไม่หลับ 

อาการที่พบได้บ่อยที่สุดหลังจากผ่านไป 6 เดือน คือ อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และมีปัญหาด้านความจำ  ร้อยละ 85.9 ของผู้ป่วยจะมีอาการเป็นมากขึ้นเมื่อออกกำลังกาย ทำกิจกรรม หรือเมื่อมีความเครียด และใช้เวลาในการฟื้นฟูร่างกายกลับสู่ปกตินานถึง 35 สัปดาห์


ศาสตร์การแพทย์แผนจีนโดยทั่วไป จะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการป้องกันรักษาก่อนเกิดโรค ซึ่งในคัมภีร์หวงตี้เน่ยจิงได้ให้หลักการป้องกัน 3 กระบวนชั้น คือ

1. ยังไม่ป่วย ต้องป้องกันก่อนเกิดโรค
2. เมื่อป่วยแล้ว รีบรักษาป้องกันไม่ให้โรครุนแรง
3. เมื่อหายป่วยแล้ว ต้องฟื้นฟูป้องกันไม่ให้โรคกำเริบ 

ซึ่งจากผู้ป่วยโควิด-19 แพทย์จีนจัดอยู่กลุ่มโรคระบาดติดเชื้อ “瘟疫 เวินอี้” โดยมีสาเหตุการเกิดจากปัจจัยก่อโรคที่ไม่ปกติไม่ได้เป็นไปตามฤดูกาลธรรมชาติ ซึ่งจากความเห็นของแพทย์จีนที่มีชื่อเสียงในประเทศจีนเห็นพ้องตรงกันว่าปัจจัยก่อโรคในครั้งนี้คือ พิษความชื้น “湿毒” ซึ่งอาจมีได้ทั้ง พิษเย็นชื้น (寒湿疫) พิษร้อนชื้น (湿热疫)  และพิษแห้งชื้น (暑湿疫) ซึ่งก็จะขึ้นอยู่ที่ภูมิประเทศภูมิอากาศของแต่ละแหล่งที่อยู่ โดยตำแหน่งเกิดโรคอยู่ที่ปอด  ส่วนม้ามและกระเพาะอาหารเป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาของโรค  ซึ่งหลังจากหายป่วยจากโรคใหม่ๆ ถึงแม้ว่าอาการจะหายหมดแล้วก็ตาม แต่บางครั้งอาจจะยังมีปัจจัยก่อโรคยังไม่หมดไปเพียงแค่อ่อนตัวลง  และเจิ้งชี่ยังไม่ฟื้นฟูกลับสภาพปกติ เลือดและชี่ยังแปรปรวน อินหยางยังไม่สมดุล  ต้องปรับสมดุลร่างกายจึงจะฟื้นฟูแข็งแรงดังเดิม 

ในตำราแพทย์จีนโบราณเวินปิ้งลุ่น กล่าวว่า หลังจากเจ็บป่วยจากโรคติดเชื้อเวินอี้แล้ว อาจพบอาการเจ็บป่วยกลับขึ้นมาได้จาก 3 สาเหตุ

1. เหลาฟู่ (劳复)
คือ เหน็ดเหนื่อยหักโหมเกินไปทำให้กำเริบ เช่น ทำงาน ออกกำลัง ครุ่นคิด การมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น 

2. สือฟู่ (食复)
คือ เกิดจากการกินอาหารไม่เหมาะสมทำให้กำเริบ

3. จื้อฟู่ (自复)
คือ ปัจจัยก่อโรคยังไม่หมดไปไม่มีปัจจัยอะไรมากระตุ้นเป็นกำเริบขึ้นมาเอง ส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับโรคเก่าที่เคยเป็นสมัยก่อนด้วย  ด้วยเหตุนี้ผู้ป่วยที่เคยได้รับเชื้อโควิดและหายแล้วมักจะมีอาการไม่สบายต่างๆ ตามมา หรืออาจจะมีโรคเก่าเป็นกำเริบขึ้นมาด้วย

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าร่างกายของเราเป็นปกติแล้วหรือยัง ?
สามารถสังเกตุตัวเองได้ง่าย ๆ จาก “ลิ้น”  ส่วนกลุ่มอาการที่พบได้บ่อยตามแนวทางการวินิจฉัยและการรักษาโรคระบาดปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (ฉบับทดลองใช้ที่ 7-8 ) สำหรับผู้ป่วยกลุ่มระยะฟื้นฟู คือ



ส่วนในการรักษาฟื้นฟูด้วยแพทย์แผนจีน โดยการรับประทานยาจีน ซึ่งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละบุคคล ตัวยาอาจมีความแตกต่างกันไป โดยยิ่งรักษาได้ทันท่วงทีจะทำให้อาการต่างๆกลับสู่ปกติได้เร็ว หากปล่อยทิ้งไว้นานอาจทำให้ยิ่งเป็นเรื้อรัง ส่งผลให้เจิ้งชี่พร่องลงไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจทำให้ภูมิคุ้มกันลดลงและอาจเจ็บป่วยได้ง่ายในภายหลัง หรืออาจมีโอกาสได้รับเชื้ออีกครั้งได้เช่นกัน

จากผลรายงานพบว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้ว โอกาสที่จะติดเชื้อต่ำกว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน มีความสัมพันธ์ในการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อร้อยละ 84 เสมือนกับผู้ที่ได้รับวัคซีนมาก่อน แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อก็ยังควรที่จะได้รับวัคซีน เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้วภูมิคุ้มกันนี้จะคงอยู่ไม่ได้ถึง 6 เดือน

ดังนั้น นอกจากจะรับประทานยาจีนในการรักษาฟื้นฟูร่างกายแล้ว  ควรรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ทำงานเหน็ดเหนื่อยหักโหมเกินไป เข้านอนและตื่นเป็นเวลา ก็จะทำให้ร่างกายกลับมาแข็งแรงดังเดิม และยังช่วยป้องกันไม่ให้โรคเป็นกำเริบหรือการเกิดโรคแทรกซ้อนเข้ามาใหม่ได้อีกด้วย       

วิธีการฟื้นฟูร่างกายด้วยตนเอง 
1. เสริมโภชนาการ ด้วยเมนูอาหารเพื่อฟื้นฟูร่างกาย
ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงอาหารทอดๆ มันๆ หรือ อาหารย่อยยากในช่วงแรกเนื่องจากหลังจากเจ็บป่วย ม้ามและกระเพาะอาหารถูกทำร้าย ความสามารถในการทำงานจึงมีจำกัด หากทานอาหารที่ย่อยยากจะทำให้ม้ามและกระเพาะอาหารฟื้นตัวยาก ชี่บริเวณจงเจียวจะยิ่งติดขัดและทำให้โรคกำเริบได้ง่าย  

ดังนั้นผู้ป่วยหลังจากหายแล้วในช่วงที่ฟื้นฟูร่างกายควรรับประทานอาหารอ่อนและรสจืด ปริมาณพอเหมาะ  เริ่มจากโจ๊กใสค่อยๆ เปลี่ยนเป็นโจ๊กข้น ข้าวต้ม ข้าวสวย ธัญพืช ตามลำดับ และอาจใช้อาหารเป็นยา โดยเลือกให้เหมาะกับอาการของตนเองสำหรับทำเป็นโจ๊กหรือข้าวต้ม  โดยสามารถสังเกตได้จากสีลิ้น หรือ ฝ้าบนลิ้นหนาจะค่อยๆจางหายไป หรือ จากฝ้าลิ้นไม่มีเลยลิ้นแห้งเปลี่ยนเป็นชุ่มชื้นขึ้นเริ่มมีฝ้าบางๆ ปัสสาวะเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีจางใส ซึ่งเป็นแนวโน้มของอาการที่กลับมาเป็นปกติ  

สำหรับผู้ที่มีกลุ่มอาการชี่ของปอดและม้ามพร่อง สามารถเลือกใช้สมุนไพร ได้แก่

1. ตั่งเซิน (党参) 10 กรัม
2. หวงฉี หรือ ปักคี้ (黄芪) 10 กรัม
3. ไป่เหอ หรือ แปะฮะ (百合) 20 กรัม 
4. เหลียนจื่อ หรือ เม็ดบัว(莲子)  20 กรัม

นำสมุนไพรทั้งหมดมาปรุงเป็นน้ำซุป ช่วยบำรุงชี่ปอดและม้าม หรือใส่เนื้อสัตว์เพิ่ม เช่น กระดูกหมู หากทำเป็นเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวานสดชื่นชุ่มคอ ก็สามารถตุ๋นสมุนไพรร่วมกับน้ำตาลกรวด อาจเพิ่มลูกเดือย และเปลือกส้มเล็กน้อย เพื่อช่วยขับเสมหะสลายความชื้นด้วยก็ได้ สามารถรับประทานได้ 2-3 ครั้ง/ สัปดาห์ ทานได้ต่อเนื่องประมาณ 1 เดือน


ตั่งเซิน (党参) (ตันเซียม)


 
หวงฉี หรือ ปักคี้ (黄芪)


ไป่เหอ หรือ แปะฮะ (百合)


เหลียนจื่อ หรือ เม็ดบัว (莲子)


สำหรับผู้ที่มีกลุ่มอาการชี่และอินพร่อง สามารถเลือกใช้สมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยระบายร้อนขับพิษ บำรุงชี่ เสริมอินและสร้างน้ำเสริมความชุ่มชื้นคืนปอด ได้แก่
1. ใบไผ่ หรือ จู๋เยี่ย (竹叶) 10 กรัม 
2. หลูเกิน (芦根) 10 กรัม 
3. ไป่เหอ หรือ แปะฮะ (百合) 10 กรัม 
4. ยวี่จู๋ หรือ เง็กเต็ก (玉竹)  10 กรัม 
5. รากบัวสด (莲藕) และ ฟักเขียว (冬瓜)  อย่างละ 300 กรัม หรือพอประมาณ
6. เห็ดหูหนูขาว 1 ดอก

นำสมุนไพรและส่วนประกอบทั้งหมด ตุ๋นร่วมกับกระดูกต้มเป็นน้ำซุปสำหรับรับประทาน หากมี โสมอเมริกา หรือ เอี่ยเซียม (西洋参)  สามารถใส่เพิ่มได้


โสมอเมริกา หรือ เอี่ยเซียม (西洋参)

หรือ นำเฉพาะโสมเอี่ยเซียมตุ๋นดื่มทานแทนน้ำก็ได้ ซึ่งจะช่วยบำรุงชี่ เสริมอิน เสริมน้ำ ระบายร้อนได้ดี สามารถรับประทานได้ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ ทานต่อเนื่องประมาณ 1 เดือน


ใบไผ่ หรือ จู๋เยี่ย (竹叶) 



หลูเกิน (芦根) 


ไป่เหอ หรือ แปะฮะ (百合)


ยวี่จู๋ หรือ เง็กเต็ก (玉竹)

 

สอบถามหรือสั่งซื้อสมุนไพรจีนและข้อมูลการใช้สมุนไพรอย่างปลอดภัย
LINE Oficial : @pharmacyTCM

หมายเหตุ
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละบุคคล อาจปรับลดปริมาณส่วนผสม หรือระยะเวลาในการรับประทานได้ตามเหมาะสม โดยสังเกตุจะอาการ และลักษณะของลิ้นที่เปลี่ยนไป หากอาการยังไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์

2. การออกกำลังกาย
สามารถเลือกออกกำลังกายช่วยฝึกพลังแบบจีนโบราณ เช่น รำไทเก็ก รำชี่กง รำปาต้วนจิ่ง รำอู๋ฉินซี่ เป็นต้น

สำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีพื้นฐานแนะนำเลือกเป็นการฝึกปาต้วนจิ่ง เนื่องจากท่าง่ายและทำได้ทุกเพศทุกวัย ปาต้วนจิ่งเป็นการออกกำลังกายที่ได้ทุกส่วน มีทั้งหมด 8 กระบวนท่า  โดยเฉพาะ “双手托天理三焦” ท่าสองมือประครองแผ่นฟ้าปรับทั้งซาเจียว จะเป็นการเคลื่อนไหวแขนร่วมกับการขยับซี่โครงให้สูงขึ้น ขยายทรวงอก ยืดกระดูกสันหลัง ยืดกล้ามเนื้อหน้าท้อง และประสานกับการหายใจ ซึ่งช่วยปรับสมดุลปอดและม้ามปรับการทำงานของระบบทางเดินหายใจและการทำงานของระบบย่อยอาหาร  และท่า “左右开弓似射雕”ซ้ายและขวาง้างเกาทัณฑ์ ช่วยปรับการทำงานของปอด

ส่วนท่า “调理脾胃须单举” มือเดียวประครองฟ้าสยบดิน ปรับม้ามกระเพาะอาหาร เสริมการทำงานของระบบย่อยให้แข็งแรง นอกจากนี้การรำปาต้วนจิ่นยังช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนเลือดทั่วร่างกาย  ยังสามารถช่วยปรับสมดุลร่างกาย และช่วยผ่อนคลายความวิตกกังวลและความตึงเครียด โดยแต่ละท่าทำ 16-20 ครั้ง  สามารถทำได้เป็นประจำ หรือ 3~4 ครั้ง ต่อสัปดาห์ เริ่มจากน้อยไปมาก

 

 
บทความโดย
แพทย์จีน อรกช  มหาดิลกรัตน์ (ไช่เพ่ยหลิง) 
คลินิกอายุรกรรมโรคมะเร็ง

เอกสารอ้างอิง

1. Davis HE, Assaf GS, McCorkell L, Wei H, Low RJ, Re’em Y, et al. Characterizing long COVID in an international cohort: 7 months of symptoms and their impact. EClinicalMedicine. 2021;38:101019.

2. Sigfrid L, Drake TM, Pauley E, Jesudason EC, Olliaro P, Lim WS, et al. Long Covid in adults discharged from UK hospitals after Covid-19: A prospective, multicentre cohort study using the ISARIC WHO Clinical Characterisation Protocol. medRxiv [Internet]. 2021 [Cited 2021 March 25]; 44:1-43. Available from: https://doi.org/10.1101/2021.03.18.21253888

3. Venkatesan P. NICE guideline on long COVID. Lancet Respir Med [Internet]. 2021;9(2):129. Available from: http://dx.doi.org/10.1016/S2213-2600(21)00031-X

4. Sisó-Almirall A, Brito-Zerón P, Ferrín LC, Kostov B, Moreno AM, Mestres J, et al. Long covid-19: Proposed primary care clinical guidelines for diagnosis and disease management. Int J Environ Res Public Health. 2021;18(8).

5. Hall VJ et al. SARS-CoV-2 infection rates of antibody-positive compared with antibody-negative health-care workers in England: a large, multicentre, prospective cohort study (SIREN) . The Lancet Public Health. 2021; 397: 1459-69.

6. Guidelines for rehabitilation of novel coronavirus pneumonia during the recovery phase of Chinese and Western medicine(version1). Tianjin Journal of Traditional Chinese Medicine, 2020, 37(5): 484-489. Available from: http://dx.doi.org/10.11656/j.issn.1672-1519.2020.05.02

7. Diagnosis and Treatment Protocol for Novel Coronavirus Pneumonia (Trial Version 7).China, Document Number : [2020] No.184. (2020 March 3). Available from: http://www.nhc.gov.cn/yzygj/s7653p/202003/46c9294a7dfe4cef80dc7f5912eb1989.shtml

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้