ใจสั่น (Palpitation)

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  10504 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ใจสั่น (Palpitation)

เมื่ออัตราการเต้นหรือจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติไป โดยรับรู้ได้ถึงความผิดปกติร่วมกับมีอาการวิตก กระวนกระวาย อาการใจสั่นเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจเกิดจากการตกใจอย่างฉับพลันหรือใช้กำลังหนักเกินไป หมอจีนมองว่าอาการใจสั่นอย่างรุนแรงมักเกิดจากปัญหาของอวัยวะภายใน 

หมอจีนวิเคราะห์ถึงสาเหตุและกลไกการเกิดโรค ดังนี้
1."เสินไม่สงบ" (Disturbance of the mind) 
(ชี่หัวใจและถุงน้ำดีพร่อง)


คนขวัญอ่อนมักมีอาการใจสั่นเมื่อถูกทำให้ตกใจด้วยเสียงดัง สิ่งที่ไม่คาดหวัง หรือสภาวะแวดล้อมที่รู้สึกไม่ปลอดภัย คัมภีร์แพทย์จักรพรรดิหวังตี้ ภาคซูเหวิ่น บทที่ 19 กล่าวว่า “ความตกใจทำให้ชี่ไม่สงบเพราะหัวใจไม่มั่นคง หนักแน่น เสินจึงไม่มีที่ยึดเหนี่ยวและความคิดก็ไม่มีระเบียบระบบ” 


ปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดอาการใจสั่น ได้แก่ มีการสะสมของเสลดร้อน อารมณ์เก็บกดและโกรธ กระเพาะอาหารทำหน้าที่แปรปรวน และไฟเสลดเคลื่อนขึ้นบน 
หวาดกลัวและตื่นตกใจ กระสับกระส่าย กระวนกระวาย ฝันมากจนรบกวนการนอน เบื่ออาหาร ลิ้นซีด ฝ้าขาว หรือลิ้นแดง ฝ้าเหลืองเหนียว
ในรายที่เกิดจากเสลดร้อน ลิ้นมีฝ้าสีเหลือง-เหนียว และชีพจรลื่น-เร็ว


ความหวาดกลัวทำให้ชี่ไหลเวียนสับสน ความตกใจทำให้ชี่ไหลลง การรบกวนจิตใจทำให้ควบคุมตัวเองไม่ได้ จึงเกิดอาการใจสั่น ตื่นกลัวและตกใจง่าย ฝันจนรบกวนการนอน กระวนกระวาย กระสับกระส่าย ลิ้นมีฝ้าขาวบาง ชีพจรค่อนข้างเร็ว แสดงว่าเกิดจากจิตใจไม่สงบ ลิ้นมีฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรลื่น-เร็ว บ่งถึงเสลดร้อน


2."ชี่และเลือดพร่อง" (Insufficiency of qi and blood) 
(หัวใจและม้ามพร่อง)
โรคเรื้อรัง สภาพร่างกายอ่อนแอ เสียเลือด หรือคิดมาก ทำลายหัวใจและม้าม รวมทั้งขัดขวางการสร้างชี่และเลือด ชี่และเลือดพร่องไม่สามารถหล่อเลี้ยงหัวใจได้เพียงพอ มีผลกระทบต่อความมั่นคงของเสิน เกิดอาการใจสั่น 


สีหน้าหมองคล้ำ มึนงง ตามัว หายใจตื้น อ่อนเพลีย
ลิ้นซีดมีรอยฟัน ชีพจรอ่อน เล็กเหมือนเส้นด้าย หรือ ไม่สม่ำเสมอ ใจสั่นเกิดจากชี่และเลือดพร่องจนไม่สามารถหล่อเลี้ยงหัวใจได้เพียงพอ สีหน้าหมองเกิดจากชี่และเลือดพร่อง มึนงงเกิดจากชี่และเลือดไปหล่อเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ หัวใจควบคุมเลือดและหลอดเลือด เปิดทวารที่ลิ้น เมื่อชี่และเลือดพร่องทำให้ลิ้นซีดมีรอยฟัน ชีพจรเบาเล็กเหมือนเส้นด้าย หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ


3."ไฟกระทำมากเกินจากภาวะอินพร่อง" อินพร่องเกิดไฟ (Hyperactivity of fire due to yin deficiency)
การทำลายอินไตจากการหมกมุ่นมีเพศสัมพันธ์มากเกิน หรือความอ่อนเพลียทรุดโทรมจากโรคที่ป่วยมาเป็นเวลานาน ทำให้น้ำไตไม่สามารถควบคุมไฟหัวใจได้ การทำงานไม่สอดประสานกันของหัวใจและไตร่วมกับการกำเริบของไฟ รบกวนต่อเสิน ทำให้เกิดอาการใจสั่น กระสับกระส่าย กระวนกระวาย นอนไม่๖หลับ มึนงง ตามัว มีเสียงในหู ลิ้น แดง ฝ้าน้อย ชีพจร เล็กเหมือนเส้นด้าย-เร็ว 


อินไตพร่องจนไม่สามารถควบคุมไฟหัวใจได้ ทำให้จิตใจไม่สงบ เกิดอาการใจสั่น นอนไม่หลับกระสับกระส่าย เมื่ออินพร่อง หยางจึงทำหน้าที่เกินที่ส่วนบนของร่างกาย เกิดอาการมึนงง เสียงดังในหู ลิ้นแดง-ฝ้าบางและชีพจรเล็ก-เร็ว เป็นอาการแสดงของหยางทำหน้าที่มากเกินเพราะอิน


4. "ของเหลวที่อันตรายคั่งค้าง" - ภาวะที่น้ำท้นหัวใจ (Retention of harmful fluid) 
ของเหลวที่อันตรายคั่งค้างเกิดจาก หยางหัวใจลดลง หรือ การพร่องของหยางม้ามและไต กระทบถึงหัวใจทำให้เกิดอาการใจสั่น ใจสั่น ขากเสมหะเป็นเมือกใส แน่นในอกและลิ้นปี่ อ่อนเพลีย แขน-ขาเย็น ลิ้น เคลือบด้วยฝ้าขาว ชีพจร ลื่น ตึงเหมือนเส้นลวด 


ในรายที่หยางของม้ามและไตพร่อง จะมีปัสสาวะน้อย กระหายน้ำแต่ไม่อยากดื่มน้ำ ลิ้นมีฝ้าขาว-ลื่น ชีพจรลึก เร็ว และตึงเหมือนเส้นลวด ของเหลวที่อันตรายคั่งค้างจะกดหยางหัวใจ ทำให้หยางชี่ไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงแขนขาได้จึงเกิดอาการเย็นและอ่อนล้า ลิ้นมีฝ้าขาวและชีพจรลื่น-ตึงบ่งชี้ว่าเกิดจากของเหลวที่อันตราย การไหลเวียนชี่ที่ไม่คล่องที่เกิดจากหยางของม้ามและไตพร่องทำให้ปัสสาวะน้อย กระหายน้ำแต่ไม่อยากดื่มน้ำ ลิ้นมีฝ้าขาว-ลื่น ชีพจรลึก-ตึงบ่งชี้ว่าหยางของม้ามและไตพร่องและมีของเหลวคั่งค้าง ชีพจรเร็วจากหยางหัวใจลดลง




การรักษาอาการใจสั่นแบบแพทย์แผนจีนด้วยการฝังเข็ม
แพทย์จีนจะเลือกจุดบนเส้นลมปราณหัวใจ เส้นลมปราณเยื่อหุ้มหัวใจ จุดอวัยวะหน้า (Front-Mu) และจุดอวัยวะหลัง (Back-Shu) ของหัวใจ เป็นจุดหลัก 


- ถ้าเกิดจากสภาพจิตใจไม่สงบกระตุ้นเข็มแบบเสมอกัน (ผิงปู่ผิงเซี่ย) เพื่อทำให้หัวใจสงบ

- ถ้าชี่และเลือดพร่องกระตุ้นเข็มแบบบำรุงเพื่อบำรุงหัวใจและสงบเสิน 

- กรณีไฟกระทำมากเกินไปจากอินพร่องให้ใช้กระตุ้นร่วมกันทั้งบำรุงและระบายบางจุด 

- ในกรณีของเหลวที่อันตรายคั่งค้างให้กระตุ้นเพื่อการระบายก่อนแล้วกระตุ้นบำรุงหรือร่วมกับการรมยาเพื่ออุ่นหยางและสลายของเหลวที่อันตราย


หมายเหตุ
- อาการใจสั่น แพทย์จีนสามารถประยุกต์รักษาได้ทั้งกับใจสั่นจากอาการวิตกกังวลและใจสั่นจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmia) 


- การรักษาด้วยวิธีการฝังเข็ม ควรอยู่ในการดูแลรักษาโดยแพทย์จีนที่มีใบรับรองการประกอบโรคศิลปะ และตรวจสอบประวัติได้อย่างชัดเจน


แผนกฝังเข็ม คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน
www.huachiewtcm.com



ข้อมูลแพทย์จีนฝังเข็ม
.
ข้อมูลประกอบบทความ 
หนังสือการฝังเข็ม รมยา เล่ม 2
Acupuncture & Moxibusion Volume 2
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
กระทรวงสาธารณสุข
ISBN 978-616-11-0277-7


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้