ฝังเข็มลดความอ้วนได้จริง ? ตอนที่ 1

Last updated: 10 ต.ค. 2566  |  19194 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ฝังเข็มลดความอ้วนได้จริง ? ตอนที่ 1

"ฝังเข็มลดความอ้วนได้ไหม ?"
"อยากฝังเข็มลดความอ้วน"


ความอ้วนอาจจะดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อร่างกายเกิดภาวะไม่สมดุลย์ มีการสะสมไขมันมากเกิน หรือไปอยู่ที่ใดที่หนึ่งมากเกินไป เมื่อนั้นความอ้วนก็จะเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาอีกต่อไป เพราะส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย จากอ้วนแบบธรรมดาซึ่งพบได้ร้อยละ 90 ของคนไข้โรคอ้วน สาเหตุเกิดจากรูปแบบวิถีการใช้ชีวิต เช่น การบริโภคมากขึ้น ไม่ออกกำลังกาย ชอบนั่ง นอน อยู่เฉยๆ ไม่เคลื่อนไหว 


มักพบร่วมกับโรคเรื้อรังหรือนำไปสู่โรคเรื้อรังอื่น เช่น เบาหวาน ความดัน โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด ไม่ปรากฏว่ามีความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ หรือขั้นตอนของขบวนการเคมี เช่น การขับเกลือโซเดียมที่ตกค้างผิดปกติ เกิดน้ำตกค้างในร่างกายทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือการใช้ยาฮอร์โมนได้ผลดี หรือผลจากหลังอุบัติเหตุทางสมอง ผลจากกรรมพันธุ์ เหล่านี้จัดเป็นการอ้วนแบบทุติยภูมิซึ่งการฝังเข็มจะไม่ได้ผลดี


ทางการแพทย์จีนมองว่าโรคอ้วนมีความสัมพันธ์กับม้าม ตับ ไต กระเพาะ ลำไส้ใหญ่ ถุงน้ำดี ส่วนใหญ่แบ่งการวินิจฉัยได้ ดังนี้

1. เสมหะชื้นปิดกั้น จะมีลักษณะ หน้า คอ อ้วน ตัว หัวหนักๆ แน่นหน้าอก แน่นบริเวณกระเพาะใจสั่นหายใจสั้น ชอบนอน น้ำลายเหนียว อุจจาระเหนียวหรือเละๆ 


2. กระเพาะลำไส้ใหญ่ร้อน มีลักษณะอ้วนทั้งช่วงบนช่วงล่างของตัว กินเก่ง ปากแห้งชอบดื่ม น้ำเย็น ไม่ชอบร้อน เหงื่อออกมาก หงุดหงิด ขี้โมโห อุจจาระผูก ปัสสาวะสั้นเหลือง 


3. ชี่ตับติดขัด มีอาการแน่นหน้าอกและชายโครง แน่นบริเวณเต้านมหรือบริเวณท้องช่วงบนหรือปอด ไม่มีตำแหน่งแน่นอนเคลื่อนไปมาเปลี่ยนที่ได้ สัมพันธ์กับการเปลี่ยน แปลงของอารมณ์ ชอบถอนหายใจหรือเลอ หรือผายลมจะสบายขึ้น 


4. ม้ามและไตหยางพร่อง มีอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะครั้งละมากๆ ไม่ค่อยมีแรง ปวดเอว เมื่อยขา หน้าขาบวม ท้องอืด เบื่ออาหาร อุจจาระเหลว 


หลักการรักษา 
ฝังเข็ม รมยาเข็มอุ่น หรือ รับประทานยาสมุนไพรจีน
ซึ่งจะอยู่ในพิจารณาของแพทย์จีนที่ทำการรักษา

- ถ้าเกิดจากความชื้นเสมหะปิดกั้น แพทย์จีนจะใช้วิธีบำรุงม้ามกระเพาะ สลายเสมหะความชื้น 

- ถ้าเกิดจากกระเพาะลำไส้ร้อน ใช้วิธีระบายไฟกระเพาะและระบายลำไส้ใหญ่ 

- ถ้าเกิดจากตับแกร่งชี่ติดขัด ใช้วิธี สลายชี่ติดขัด บำรุงม้ามกระเพาะ 

- ถ้าเกิดจากหยาง ม้ามไตพร่อง ใช้วิธีบำรุงหยางม้ามไต

การวินิจฉัยกลุ่มโรคอ้วนตามหลักการของแพทย์จีน
1.กลุ่มม้ามพร่องความชื้นอุดกั้นภายในร่างกาย
อาการที่แสดงออก : ร่างกายอวบอ้วน แขนขารู้สึกหนัก อ่อนเพลียไม่มีแรง ท้องอืดแน่น ทานได้น้อย รู้สึกเบื่ออาหาร ถ่ายเหลว ลิ้นซีด ฝ้าบางเหนียว ชีพจรเล็กหรือเนิบ (พบมากสุด)

อาหารบำรุงม้ามขับความชื้น : ตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเลนทิล  ถั่วปากอ้า  ถั่วอะซูกิ(ถั่วแดงญี่ปุ่น)  ถั่วเขียว  ถั่วงอก  ข้าวโพด  ฟัก  แตงกวา แตงโม ผักกาดขาว  ปลาไน

2. กลุ่มม้ามและไตพร่อง
อาการที่แสดงออก : ร่างกายอวบอ้วนเหมือนบวมน้ำ เหนื่องง่ายไม่มีแรง หายใจสั้น ขี้เกียจพูดคุย ขยับแล้วเหนื่อยง่าย เวียนหัว ขี้หนาว ทานได้น้อย รู้สึกเบื่ออาหาร เมื่อเอว ปวดเข่า ถ่ายเหลวหรือมักจะท้องเสียตอนเช้าตรู่ หากเป็นผู้ชายมีอาการสมรรถภาพทางเพศเสื่อมร่วมด้วย ลิ้นซีด ฝ้าบางขาว ชีพจรจมแล็ก (มักพบในกลุ่มที่น้ำหนักเกินระยะรุนแรง)
อาหารบำรุงหยางขับน้ำ : ถั่วฝักยาว  ถั่วพร้า  เก๋ากี้  นมแพะ  นมวัว  เนื้อแพะ 
ถั่ววอลนัท

3. กลุ่มกระเพาะอาหารร้อนชื้นอุดกั้น
อาการที่แสดงออก : ร่างกายอวบอ้วน ชอบทานอาหารรสหวานมัน ย่อยง่าย หิวบ่อย ปากแห้งปากเหม็น ท้องผูก ลิ้นแดง ฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรลื่นเร็ว (พบมากในกลุ่มวัยรุ่ยหรือวัยทำงาน)

อาหารระบายร้อนสลายชื้น : ผักกากขาว ขึ้นช่ายฝรั่ง(celery)  กะหล่ำปลี  ผักกาดหอม  หน่อไม้  รากบัว  มะระ  ผักเบี้ยใหญ่  แห้ว  สาลี่

4. กลุ่มชี่ติดขัดเลือดคั่ง
อาการที่แสดงออก : ร่างกายอวบอ้วน ตึงชายโครงทั้ง2ข้าง แน่นตึงท้อง หงุดหงิดโมโหง่าย ปากลิ้นแห้ง เวียนศีรษะตาลาย นอนไม่หลับฝันเยอะ ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือประจำเดือนขาด ลิ้นคล้ำมีจุดจ้ำเลือดที่ตัวลิ้น ชีพจรตึงเร็วหรือตึงเล็ก
(พบมากในคนที่อ้วนมานาน)

อาหารที่ระบายชี่ตับกระตุ้นการไหลเวียนเลือดสลายคั่ง : ส้ม เปลือกส้ม ข้าวฟ่าง ถั่วพร้า  หัวไชเท้า ยี่หร่า ดอกมะลิ ซานจา(hawthorn) มะเขือยาว

5. กลุ่มอินไตพร่อง
อาการที่แสดงออก : ร่างกายอวบอ้วน มึนศีรษะ ปวดศีรษะ กลางฝ่ามือ-เท้าร้อน เมื่อยเอวปวดเข่า ลิ้นแดง ฝ้าน้อย ชีพจรเล็กเร็วหรือเล็กตึง(พบได้น้อย)

อาหารที่บำรุงอินไต : เห็ดหูหนูขาว  เห็ดหูหนูดำ  ถั่วดำ  มัลเบอร์รี  เนื้อหมู เนื้อเป็ด ไข่เป็ด ปลิงทะเล แมงกะพรุน งาดำ ตับหมู

บทความโดย : แพทย์จีน รติกร อุดมไพบูลย์วงศ์
แผนกฝังเข็ม




ข้อมูลประกอบบทความ 
หนังสือการฝังเข็ม รมยา เล่ม 2
Acupuncture & Moxibusion Volume 2
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
กระทรวงสาธารณสุข
ISBN 978-616-11-0277-7


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้