แผลในกระเพาะอาหาร

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  19696 จำนวนผู้เข้าชม  | 

แผลในกระเพาะอาหาร

แผลในกระเพาะอาหาร หมายถึง แผลที่เกิดขึ้นที่ผนังของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น (duodenum) ลักษณะเป็นรูปกลมหรือรี มักเกิดที่บริเวณ pyrorus ของกระเพาะอาหาร และ bulb ของลำไส้เล็กก่อน สาเหตุอาจมากมายแต่ไม่สามารถยืนยันได้แน่นอน มักจะมีอาการปวดบริเวณลิ้นปี่ เรอหรือเรอเปรี้ยว คลื่นไส้ อาเจียนและเบื่ออาหาร อาการปวดเริ่มต้นมักเกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารลงไป ในกรณีของแผลในกระเพาะอาหารมักเกิดอาการปวดราว 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมง หลังรับประทานอาหารแล้วหายไป บางครั้งอาจปวดก่อนรับประทานอาหารมื้อต่อไป ส่วนแผลในลำไส้เล็กส่วนต้นมักจะปวดหลังรับประทานอาหารแล้ว 3 – 4 ชั่งโมง และดีขึ้นหลังรับประทานอาหารมื้อถัดไป

โดยทั่วไป ถ้าเมื่อใดที่เรารู้สึกปวดท้องเรามักจะคิดว่าเป็นโรคกระเพาะอาหารก่อนเป็นอันดับต้น ๆ ทั้งที่ความจริงแล้วอาจเป็นโรคอื่น ๆ เช่น โรคนิ่วในถุงน้ำดี (มีอาการคล้ายกับโรคกระเพาะอาหารทุกอย่าง) ตับอักเสบ เนื้องอกในตับ และตับอ่อนอักเสบ เป็นต้น ในที่นี้เราจะกล่าวถึงโรคแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นโรคที่มีความรุนแรงและอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

 

อาการและความรุนแรง

ผู้ป่วยอาจจะปวดท้องมากหรือน้อยตามอาการ ท้องอืด คลื่นไส้ กินอิ่มง่าย หากมีอาการรุนแรง จะมีเลือดออกและทำให้กระเพาะทะลุ ซึ่งถือว่าเป็นอาการที่รุนแรงมาก โดยทั่วไปพบว่าผู้ป่วยร้อยละ 50 - 60 อาการจะค่อย ๆ ทุเลา และหายไปเองโดยไม่ต้องรับการรักษา แต่โอกาสที่จะกลับมาเป็นอีกมีอัตราสูงถึงร้อยละ 80 ถึงแม้ว่าจะได้รับการรักษาดีเพียงใดก็ตาม และที่สำคัญ คือ พบว่ามีอาการแทรกซ้อน ซึ่งหมายถึง มีเลือดออก ถ่ายเป็นเลือด ถ่ายเป็นสีดำเหลว (จากเลือดที่ออกในกระเพาะอาหาร ทำปฏิกิริยากับกรดในกระเพาะอาหาร) นอกจากนี้ หากแผลทะลุจะทำให้ปวดท้องอย่างรุนแรง มีไข้ ช็อค และอาจถึงแก่ชีวิต การรักษาจะทำโดยการผ่าตัด แผลที่หายจะเป็นพังผืด โดยเฉพาะลำไส้เล็กที่จะตีบ อุดตัน ทำให้มีอาการอาเจียน และปวดท้อง


โดยทั่วไปผู้ป่วยที่เคยมีเลือดออกจะมีโอกาสเกิดโรคซ้ำเพิ่มจากร้อยละ 20 - 25 เป็น ร้อยละ 50 และจากสถิติพบว่าผู้ป่วยร้อยละ 50 ของคนไข้ที่มีเลือดออกจะไม่แสดงอาการใด ๆ แม้แต่ปวดท้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่พึงระวังของโรคชนิดนี้


อาการ

1) จะปวดท้องเมื่อท้องว่าง ใกล้มื้ออาหารหรือหลังอาหาร แต่จะไม่ปวดตลอดเวลา เมื่อได้รับประทานอาหารจะทำให้อาการดีขึ้น ซึ่งแตกต่างจากอาการของโรคนิ่วในถุงน้ำดี ที่จะปวดท้องหลังอาหาร ไม่ปวดตอนท้องว่าง แต่ถ้าปวดจะปวดตลอดทั้งคืนติดต่อกัน

2) ปวดท้องเวลาดึก คลื่นไส้ อาเจียนออกมาเป็นอาหารที่แยกชนิดอย่างชัดเจน

 

การดูแลตนเอง แบ่งออกเป็น 3 ระยะ

ระยะที่ 1 ป้องกันการเกิดโรค สามารถทำโดยวิธีดังนี้

- ค้นหาสาเหตุ และสังเกตอาหารที่รับประทาน ว่าทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติหรือ ไม่ อย่างไร

- ไม่รับประทานยาแก้ปวดโดยปราศจากแพทย์สั่ง และควรหลีกเลี่ยงสารเสพติด และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งของหมักดอง

- พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สบายไม่เครียด

- หากมีอาการของโรคติดเชื้อชนิดต่าง ๆ เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย ไทฟอยด์ ไข้หวัดใหญ่ ควรรีบรักษาให้หายขาดโดยเร็ว

ระยะที่ 2 การรักษาเมื่อมีอาการอักเสบ

- พบแพทย์สม่ำเสมอตามเวลานัด โดยทั่วไปแพทย์จะให้รับประทานยาน้ำหรือยาเม็ด โดยพิจารณาจากความรุนแรงของอาการ โดยปกติผู้ป่วยที่มีอาการระยะรุนแรงแพทย์จะให้รับประทานยานํ้า เนื่องจากออกฤทธิ์เร็ว

- ควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย และมีรสชาติอ่อน

- พักผ่อนให้เพียงพอ

ระยะที่ 3 หลังจากได้รับการรักษา

 - งดอาหารที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ อาหารรสจัด ร้อนจัด เย็นจัด ของหมักดอง รวมทั้งอาหารที่ทำให้เกิดก๊าซในกระเพาะอาหาร

- ทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใส และพักผ่อนอย่างเพียงพอ

- ดื่มน้ำมาก ๆ ป้องกันอาการท้องผูก และควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด เพื่อไม่ให้กระ เพาะอาหารทำงานหนัก

โรคแผลในกระเพาะอาหารเป็นเหมือนภัยเงียบที่คอยบั่นทอนสุขภาพ หากละเลยไม่ให้ความใส่ใจดูแลสังเกตอาการของตนเอง อาจทำให้ความรุนแรงของโรคเพิ่มมากขึ้น และอาจถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการที่ใกล้เคียงกับที่กล่าวมา จึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจโดยเร็ว เพราะถ้าหากทิ้งไว้นานจะส่งผลให้การรักษาไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร

การแพทย์แผนจีน จัดให้แผลในกระเพาะอาหารอยู่ในกลุ่ม WeiWanTong (epigastric pain) มีสาเหตุจากสมองถูกรบกวนการทำงานจากชี่ตับติดขัด และผลสืบเนื่องจากกระเพาะอาหารถูกชี่ตับรุกราน หรือสุขนิสัยการรับประทานอาหารไม่ถูกต้อง เช่น รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา หรือชอบรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เย็นหรือรสชาติจัดจ้าน ก่อให้เกิดการบาดเจ็บต่อกระเพาะอาหารและม้าม สาเหตุของแผลในกระเพาะอาหารคือการคั่งของชี่และเลือดทำให้กระทบต่อกระเพาะอาหาร ม้ามและตับ

 

การรักษา

แผลในกระเพาะอาหารแบ่งตามสาเหตุได้เป็น 5 ชนิดคือ 1) ชี่ของกระเพาะอาหารและตับติดขัด 2) ชี่และเลือดคั่ง 3) ความร้อนติดขัดในกระเพาะอาหารและตับ 4) อินกระเพาะอา หารพร่อง และ 5) ภาวะเย็นพร่องของม้ามและกระเพาะอาหาร ใช้จุดบนเส้นลมปราณกระเพาะอาหาร ม้าม กระเพาะปัสสาวะและตับเพื่อรักษา

 

1.  ชี่ของกระเพาะอาหารและตับติดขัด

อาการ: ปวดแน่นบริเวณลิ้นปี่ จุกเสียดชายโครง เรอหรือเรอเปรี้ยว เบื่ออาหาร อาการ

แย่ลงหากอารมณ์ไม่ดี

ลิ้น  บางฝ้าขาว ; ชีพจร  ตึง (XianMai)

หลักการรักษา: ลดชี่ตับติดขัด ปรับการไหลเวียนของชี่ ปรับสมดุลกระเพาะอาหารเพื่อลดอาการปวด


 

2.  ชี่และเลือดคั่ง

อาการ: ปวดบริเวณลิ้นปี่เหมือนมีดบาด ไม่ร้าวไปที่ใด กดนวดแล้วอาการเป็นมากขึ้น อาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดร่วมด้วย

ลิ้น  สีม่วงคล้ำมีจุดเลือดกระจาย ; ชีพจร  จม หรือจมฝืด (ChenMai or ChenSeMai)

หลักการรักษา: กระตุ้นการไหลเวียนของชี่และเลือด ลดการคั่งของเลือด หยุดเลือด ออกและอาการปวด

 

3.  ความร้อนติดขัดในกระเพาะอาหารและตับ

อาการ: ปวดบริเวณลิ้นปี่อย่างฉับพลัน ร่วมกับอาการแสบร้อน อาการเป็นมากขึ้นจากการรับประทานอาหาร ปากแห้ง ขมในปาก เรอเปรี้ยวและจุกแน่นท้อง ถ่ายแข็งแห้ง ปัสสาวะสีเข้ม ลิ้นแดงฝ้าเหลือง ชีพจรตึงเร็ว

 

4.  อินกระเพาะอาหารพร่อง

อาการ: ปวดลิ้นปี่แบบอืดแน่น ไม่สบายในท้อง รู้สึกหิวแต่ไม่อยากรับประทานอาหาร หลังรับประทานอาหารจะรู้สึกแน่นอึดอัดในท้อง กระวนกระวาย นอนไม่หลับ กระหายน้ำ ปากแห้ง ท้องผูกถ่ายแข็งแห้ง

ลิ้น  แดงฝ้าบาง ; ชีพจร  เล็ก-เร็ว (Xi-ShuMai)

หลักการรักษา: บำรุงอิน ปรับสมดุลกระเพาะอาหาร และแก้ปวด



5.  ภาวะเย็นพร่องของม้ามและกระเพาะอาหาร

อาการ: ปวดแน่นลิ้นปี่ อาการเป็นมากขึ้นเมื่อหิว และดีขึ้นเมื่อทานอาหารเข้าไป ชอบความอุ่นและชอบกดนวด ดูซีด เหนื่อยอ่อนเพลีย ถ่ายเหลว ลิ้นซีดฝ้าขาว

หลักการรักษา: เสริมบำรุงม้ามและชี่ อุ่นจงเจียวเพื่อปรับสมดุลกระเพาะอาหาร

 

การรักษาด้วยเทคนิคอื่น

1. ปัก 5 จุด

ข้อบ่งใช้: แผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น 

วิธีการ: ใช้เข็ม 2 ชุ่น กระตุ้นด้วยการหมุนเข็ม ยกเข็มขึ้นลง แบบบำรุงระบายเท่ากัน ใช้ความแรงในการกระตุ้นปานกลาง หลังจากได้ชี่แล้ว คาเข็มไว้ 40 นาที กระตุ้นเข็มทุก 10 นาที ฝังเข็มวันละครั้ง ฝังทุกวัน ฝังครบ 10 ครั้งเป็น 1 รอบการรักษา หลังครบรอบการรักษาเว้นระยะ 3 – 5 วัน จึงเริ่มรอบการรักษาใหม่ ใช้ทั้งหมด 3 รอบการรักษา

 

2.  การฝังเข็มหู

จุดที่ใช้: Stomach, Duodenum, Abdomen, Spleen, Liver, Sympathetic, Subcortex, ShenMen

วิธีการ: ให้ใช้เทคนิคการฝังเข็มใบหูตามมาตรฐาน

 

3.  การครอบกระปุก / ครอบแก้ว


วิธีการ: ใช้กระปุกขนาดใหญ่หรือกลาง ใช้เวลา 10 – 15 นาที



ความเห็นเพิ่มเติม : โดยเหตุที่ความปรวนแปรของอารมณ์ และการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ต่างล้วนเป็นสาเหตุที่สำคัญ ที่จะไปกระตุ้นให้อาการแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่เย็น อาหารที่มัน หรือก่อให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารและลำไส้ ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ในระหว่างที่มารับการรักษา ส่วนผู้ป่วยที่จัดอยู่ในกลุ่มพร่องนั้น การรมยาต่อเนื่องในระยะยาวจะทำให้ได้ผลในการรักษาที่ดีมากขึ้น

 

หมายเหตุ: การรักษาแผลกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นทะลุ ด้วยการฝังเข็มนั้น จะได้ผลดีในกรณีที่เป็นแผลขนาดเล็ก และผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งการฝังเข็มสามารถลดอาการปวดได้ดี แต่หากว่าให้การรักษาไปแล้ว 1 – 2 รอบการรักษา อาการต่าง ๆ ไม่ดีขึ้นให้รีบส่งต่อเพื่อตรวจเพิ่มเติมและให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป

นอกจากนี้ อาจจะเสริมการรักษาด้วยการทานยาจีน ในตำรับที่เหมาะสมกับผู้ป่วย
ซึ่งจะอยู่ในการพิจารณาจากแพทย์หลังจากตรวจวินิจฉัยแล้ว


 

 

 


ปรึกษาปัญหาสุขภาพกับ "แพทย์จีน" หรือสอบถาม
ถึงข้อมูลและแนวทางการรักษาในเบื้องต้นก่อนได้ที่


เบอร์โทรศัพท์  02-223-1111
HOTLINE     : 095-884-3518
Facebook     : huachiewtcm
LINE@          : @huachiewtcm

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้