Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 14074 จำนวนผู้เข้าชม |
โรคหืดเป็นโรคที่พบได้บ่อย อาการหอบเหนื่อยมีลักษณะเป็น ๆ หาย ๆ เวลาหายใจมีเสียงวี้ด ตามทฤษฏีการแพทย์จีน โรคหืดเป็นผลกระทบจากการรบกวนการทำงานของชี่ของปัจจัยต่าง ๆ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทแกร่ง และ ประเภทพร่อง
สาเหตุและกลไกการเกิดโรค
ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของโรคหืดมีหลากหลาย ทั้งปัจจัยก่อโรคจากภายนอก จนถึงปัจจัยเรื่องความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย โรคหืดที่เกิดจากปัจจัยก่อโรคภายนอกจัดเป็นประเภทแกร่ง ส่วนโรคหืดที่เกิดจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายจัดเป็นประเภทพร่อง
1) ประเภทแกร่ง แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
1.1) ชนิดลมเย็น (wind-cold type) การรุกรานจากปัจจัยประเภทลมเย็น กระทบต่อการไหลเวียนของชี่ปอด ผิวหนังและขน ทำให้รูผิวหนังปิด ชี่ปอดกระจายและไหลลงสู่เบื้องล่างไม่ได้ ทำให้เกิดอาการไอ
1.2) ชนิดเสลดร้อน (phlegm-heat type) เป็นโรคหืดที่เกิดจากม้ามเสียหน้าที่ในการแปรสภาพและการลำเลียง เกิดความชื้นคั่งค้างสะสมกลายเป็นเสลด เสลดเมื่อคั่งค้างอยู่นาน จะแปรสภาพเป็นความร้อน หรือเป็นไฟเกินในปอด ผลาญสารน้ำในปอดให้แห้งกลายเป็นเสมหะ เมื่อเสลดร้อนตกค้างในปอดทำให้ชี่ปอดติดขัดและหน้าที่ของปอดบกพร่อง จึงเกิดอาการของโรคหืด
2) ประเภทพร่อง แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
2.1) ชนิดปอดพร่อง (lung deficiency) การไอต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้ชี่ปอดถูกทำลายจนอ่อนแอ รวมถึงความตึงเครียดมากเกินไปและการบาดเจ็บภายใน ก็สามารถทำให้ชี่ปอดพร่องได้เช่นกัน ในกรณีเหล่านี้จะเกิดอาการหายใจสั้น และหอบเหนื่อย
2.2) ชนิดไตพร่อง (kidney deficiency) การทำงานหนักและการหมกมุ่นในเพศสัมพันธ์มากเกินไป ส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของไต การป่วยด้วยโรคที่รุนแรงหรือเรื้อรังทำให้สภาพความต้านทานของร่างกายเสื่อมและทำลายชี่ที่จำเป็น ซึ่งอาจส่งผลต่อชี่ปอดจนเกิดเป็นโรคหืดได้ ในทางกลับ กันการป่วยด้วยโรคหืดต่อเนื่องเป็นเวลานานจะส่งผลกระทบต่อไตได้เช่นกัน
การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการโรค
1) ประเภทแกร่ง
1.1) ชนิดลมเย็น:
ลักษณะทางคลินิก ไอมีเสมหะน้อย หายใจเร็ว ร่วมกับอาการหนาวสั่น มีไข้ ปวดศีรษะ และไม่มีเหงื่อในระยะแรก ไม่รู้สึกกระหายน้ำ
ลิ้น เคลือบด้วยฝ้าสีขาว
ชีพจร ลอยและตึง (Fu Jin Mai 浮紧脉)
วิเคราะห์อาการ: ปอดทำหน้าที่หายใจ และสัมพันธ์ดูแลผิวหนังและขนซึ่งเป็นด่านแรกที่ถูกลมเย็นเข้ากระทำ เมื่อลมเย็นเข้าถึงปอด ทำให้ชี่ปอดติดขัด ไหลเวียนไม่คล่อง จึงเกิดอาการไอ เสมหะน้อย และหายใจเร็ว
ลมเย็นที่กระทำต่อส่วนผิวของร่างกาย ทำให้รูผิวหนังปิด เกิดอาการหนาวสั่น มีไข้ ปวดศีรษะและไม่มีเหงื่อ การไม่รู้สึกกระหายน้ำเนื่องเพราะลมเย็นยังไม่แปรสภาพเป็นความร้อน
ลิ้นมีฝ้าสีขาว ชีพจรลอยและตึง บ่งชี้ว่า ลมเย็นก่อโรคยังจำกัดอยู่ในตำแหน่งที่รุกรานคือปอดและระบบผิวหนัง
1.2) ชนิดเสลดร้อน
ลักษณะทางคลินิก หายใจตื้นและเร็ว เสียงพูดดังกระด้าง ไอมีเสมหะข้นเหลือง รู้สึกแน่นอึดอัดในอก มีไข้ กระสับกระส่าย ปากแห้ง
ลิ้น เคลือบด้วยฝ้าสีเหลืองหนา หรือเหนียว
ชีพจร ลื่น และเร็ว (Hua Su Mai 滑数脉)
วิเคราะห์อาการ: เสลดร้อนแปรสภาพมาจากความชื้น หรือเสลดไฟสะสมอยู่ในปอดเป็นเวลานาน เกิดการปิดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้ชี่ปอดเสียหน้าที่ เกิดอาการหายใจตื้นและเร็ว เสียงดังกระด้าง และไอมีเสมหะข้นเหลือง เสลดที่คั่งค้างอยู่ในปอดทำให้รู้สึกแน่น อึดอัดในอก
อาการไข้ กระสับกระส่ายและปากแห้ง เป็นผลมาจากภาวะร้อนไฟ
ฝ้าลิ้นสีเหลือง หนาหรือเหนียว ชีพจรลื่นและเร็ว เป็นอาการแสดงของเสลดร้อน
2) ประเภทพร่อง
2.1) ชนิด ปอดพร่อง
ลักษณะทางคลินิก: หายใจตื้นและเร็ว เสียงพูดเบาอ่อนไม่มีแรง เสียงไอเบา ไม่มีแรงไอ เหงื่อออกง่ายเมื่อออกแรง
ลิ้น ซีด
ชีพจร พร่อง (Xu Mai 虚脉)
วิเคราะห์อาการ: ปอดทำหน้าที่ควบคุมชี่ เมื่อชี่ปอดพร่อง การทำหน้าที่ของปอดย่อมเสื่อมพร่องไป ปรากฏอาการหายใจตื้นและเร็ว เสียงพูดอ่อนแรง ไอไม่มีแรง เสียงไอเบา ปอดดูแลและสัมพันธ์กับผิวหนัง เมื่อชี่ปอดพร่องย่อมทำให้ระบบปกป้องของผิวหนังด้อยสภาพ ทำให้เมื่อออกแรงเพียงเล็กน้อยก็มีเหงื่อซึมออก
ลิ้นซีดและชีพจรอ่อนพร่อง เป็นอาการแสดงของชี่ปอดพร่อง
2.2) ชนิด ไตพร่อง
ลักษณะทางคลินิก: หลังจากมีอาการหืดหอบเรื้อรังเป็นเวลานาน จะเกิดอาการเหนื่อยง่ายเมื่อออกแรง เสียงวี้ดรุนแรง เนื้อเยื่อรอบคอบุ๋มเข้าออกตามการหายใจ หายใจตื้น อ่อนล้า เพลีย เหงื่อแตก แขนขาเย็น
ลิ้น ซีด
ชีพจร ลึกและเล็กเหมือนเส้นด้าย (Chen Xi Mai 沉细脉)
วิเคราะห์อาการ: เมื่อมีอาการหืดหอบเรื้อรังเป็นเวลานาน เกิดผลกระทบต่อไตซึ่งเป็นแหล่งของชี่ ไตเมื่อเสียหน้าที่จะไม่สามารถรองรับและกักเก็บชี่ไว้ใช้ได้ จึงเกิดอาการเหนื่อยง่ายเมื่อออกแรงเพียงเล็กน้อย เสียงวี้ดรุนแรง และหายใจตื้น ในกรณีเรื้อรังจนเกิดชี่ไตพร่องจะมีอาการอ่อนเพลียและผ่ายผอม หยางของไตพร่องทำให้หยางของระบบปกป้องร่างกายส่วนผิวหนังเสียหน้าที่ เกิดอาการเหงื่อออกง่าย ส่วนอาการแขนขาเย็นเกิดจากชี่หยางพร่องทำให้เสียหน้าที่ในการสร้างความอบอุ่นแก่ร่างกาย
ลิ้นซีด ชีพจรลึกและเล็กเหมือนเส้นด้าย เป็นอาการแสดงของหยางไตอ่อนพร่อง
หลักการรักษาโดยวิธีฝังเข็ม
1.1) ชนิดลมเย็น
หลักการ เลือกใช้จุดหลักบนเส้นลมปราณมือไท่อินและเส้นมือหยางหมิง กระตุ้นระบายบางจุด ร่วมกับรมยาเพื่อขจัดลมเย็นและบรรเทาอาการหอบหืด
1.2) ชนิด เสลดร้อน
หลักการ: เลือกใช้จุดหลักบนเส้นลมปราณมือไท่อินและเส้นเท้าหยางหมิง กระตุ้นระบาย เพื่อขจัดเสลด ลดความร้อน และ บรรเทาอาการหอบหืด
2.1) ชนิด ปอดพร่อง
หลักการ: เลือกใช้จุดบนเส้นมือไท่อินปอดและเส้นเท้าหยางหมิงกระเพาะอาหาร กระตุ้นบำรุง หรือรมยา เพื่อเสริมชี่ปอด
นอกจากวิธีการรักษาด้วยการฝังเข็มแล้ว การใช้ยาจีนส่งเสริมการรักษาก็เป็นอีกวิธีที่ได้ผล โดยใช้ตำรับยาที่เหมาะสมกับพยาธิสภาพของอาการ โรค และพยาธิสภาพของผู้ป่วยแต่ละราย
หมายเหตุ
อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลือกจุดรักษาตามทฤษฎีปัญจธาตุ ปอดเป็นธาตุทอง (โลหะ) ม้ามและกระเพาะอาหารเป็นธาตุดิน ซึ่งเป็นธาตุแม่ของธาตุทอง ตามหลักการรักษา ‘ลูกพร่องบำรุงแม่’ ในกรณีนี้ ‘ธาตุทองพร่อง’ จึงต้อง ‘บำรุงธาตุดิน’ จึงเลือกกระตุ้นบำรุงหรือรมยา จุดธาตุดิน 3 จุด ได้แก่ TaiYuan (LU9), ZuSanLi (ST36) และ TaiBai (SP3) โดย TaiYuan (LU9) เป็นจุดปฐมภูมิ (Yuan-Primary) และ เป็นจุดซู-ลำธาร (Shu-Stream) ซึ่งเป็นจุดธาตุดินของเส้นมือไท่อินปอด การเลือกกระตุ้นบำรุงจุดนี้จึงมีประโยชน์มากในการบำรุงปอด ZuSanLi (ST36) เป็นจุดเหอ-ทะเล (He-Sea) เป็นจุดธาตุดินของเส้นเท้ากระเพาะอาหารซึ่งเป็นเส้นลมปราณหยางธาตุดิน TaiBai (SP3) เป็นจุดปฐมภูมิ (Yuan-Primary) และจุดซู-ลำธาร (Shu-Stream) เป็นจุดธาตุดินของเส้นเท้าไท่อินม้ามซึ่งเป็นเส้นลมปราณอินธาตุดิน
อาการหอบหืดชนิดปอดพร่อง มักพบในกลุ่มโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD: chronic obstructive pulmonary disease) ชนิดถุงลมโป่งพอง (emphysema type) และการกระตุ้นบำรุงหรือรมยาจุดทั้งสาม (ร่วมกับจุดอื่นตามหลักการวิเคราะห์โรค) สามารถช่วยฟื้นฟูสภาพและบรรเทาอาการจากโรคได้ดีมากระดับหนึ่ง
2.2) ชนิด ไตพร่อง
หลักการ: ใช้จุดหลักบนเส้นเท้าเส้าอินไตและเส้นลมปราณเญิ่น กระตุ้นบำรุง หรือรมยา เพื่อเสริมบำรุงหน้าที่ของไตในการรองรับและกักเก็บชี่
หมายเหตุ
ภาวะหอบหืดในการแพทย์จีนนอกจากโรคหืด (bronchial asthma) แล้ว อาจพิจารณารวมไปถึงกลุ่มโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) และอาการหอบหืดที่เกี่ยวเนื่องกับโรคอื่น ๆ ด้วย อย่างไรก็ตามหากมีอาการรุนแรง ควรพิจารณาใช้การรักษาร่วมกันทั้งแผนจีนและแผนตะวันตกตามความเหมาะสม
25 ก.ย. 2567