Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 48349 จำนวนผู้เข้าชม |
โรคของเซลล์ประสาทสั่งการ
Motor Neuron disease (MND)
กลุ่มโรคที่มีความเสื่อมอย่างต่อเนื่องของเซลล์ประสาทสั่งการ (Motor neurons) ที่ Anterior horn cell บริเวณไขสันหลัง หรือ Cranial nerve nuclei ที่ Brainstem หรือ Pyramidal cells ใน Motor Cortex ที่เปลือกสมอง รวมไปถึงความเสียหายใน Pyramidal Tract
ถ้าพยาธิสภาพอยู่ที่ Lower motor neuron เป็นหลัก เรียก Progressive spinal muscular atrophy (PSMA)
ถ้าพยาธิสภาพอยู่ที่ Upper motor neuron เป็นหลัก เรียก Primary lateral sclerosis (PLS)
ถ้าพยาธิสภาพเกิดที่ทั้ง Upperและ Lower motor neuron เรียก Amyotrophic lateral sclerosis (ALS)
ถ้าพยาธิสภาพอยู่ที่ Medullary motor nuclei เรียก Progressive bulbar palsy (PBP)
โรคนี้เป็นโรคที่มีพัฒนาการของโรคอย่างต่อเนื่อง พบมากในวัยกลางคน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 40-50 ปี แต่ก็พบในเด็กและผู้สูงอายุวัย 70 ปีขึ้นไปได้เช่นกัน พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง 2-3 เท่า 5-10%ของผู้ป่วยมักมีประวัติครอบครัว อันเกิดการถ่ายทอดพันธุกรรมแบบ Autosomal dominant
Rowland (1987) ได้รายงานอัตราผู้ป่วยโรค MNDและ ALS ในแต่ละปีอยู่ที่ 2-7คนต่อประชากร 100,000คน โดยมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 1คน ต่อผู้ป่วย 100,000คน
ชื่อโรคในทางการแพทย์แผนจีน
ศาสตร์การแพทย์แผนจีน ไม่มีการกล่าวถึงชื่อโรค MND นี้
เมื่อพิจารณาจากอาการแสดงทางคลินิก
อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงและกล้ามเนื้อลีบฝ่อนั้น จัดอยู่ในขอบเขตของโรคอ่อนแรง “เหว่ยปิ้ง 痿病” ในแพทย์แผนจีน
ในระยะต้นของโรค กล้ามเนื้อแขนที่อ่อนแรงมักมีอาการสั่นพริ้วร่วมด้วย กล้ามเนื้อที่ขามักอ่อนแรงในลักษณะ อัมพาตแบบหดเกร็ง (Spastic paralysis) จึงสามารถวินิจฉัยเป็นโรคสั่น "ช่านปิ้ง" 颤病 หรือ โรคเกร็ง “จิงปิ้ง 痉病” ได้เช่นกัน
กรณี Bulbar palsy มีอาการเสียงแหบ เสียงพูดไม่ชัดเจน สามารถจัดอยู่ในโรคพูดไม่ได้ “ ซือหยู่失语” ได้เช่นกัน ทว่าในทางคลินิกจะวินิจฉัยจากอาการอ่อนแรงเป็นหลัก โรคนี้จึงจัดอยู่ในขอบเขตโรคอ่อนแรงแรง “เหว่ยปิ้ง痿病” เป็นส่วนใหญ่
สาเหตุและกลไกการเกิดโรคในทางแพทย์จีน
กลไกการเกิดโรคหลัก คือ อินของตับและไตพร่อง , หยางของม้ามและไตพร่อง , สารจำเป็น (จิง) และเลือดพร่องหมดไป , ลมปราณพร่องมีเลือดคั่ง
สารจำเป็น (จิง) และเลือดของตับและไตนั้น ได้มาจากหน้าที่การสร้างและดูดซึมของม้ามและกระเพาะอาหาร แขนขาได้รับชี่ที่มาจากกระเพาะอาหาร เมื่อม้ามป่วยไม่สามารถทำหน้าที่ดูดซึม ขนส่งลำเลียงสารน้ำในกระเพาะอาหาร แขนขาก็จะไม่ได้รับการหล่อเลี้ยงจากชี่ที่มาจากน้ำและสารอาหาร จึงไม่สามารถสร้างเส้นเอ็นกระดูกและกล้ามเนื้อได้ ทำให้กล้ามเนื้อลีบฝ่อใช้การไม่ได้ จึงมักพบอาการอ่อนแรงของแขนขาส่วนปลาย (distal) เป็นหลัก แสดงให้เห็นว่ามีความเกี่ยวข้องกับอาการม้ามพร่องอย่างแน่นอน
เมื่อหยางของไตพร่องเหลือน้อย ไม่สามารถอบอุ่นม้ามซึ่งเป็นอวัยวะธาตุดิน ลมปราณของม้ามไม่เพียงพอในการทำหน้าที่การสร้างและลำเลียง เส้นลมปราณจึงขาดการบำรุงเลี้ยงจนทำให้แขนขาอ่อนแรง ใช้การไม่ได้ หยางของม้ามและไตพร่องก็ถือเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคนี้; เมื่อป่วยเป็นโรคนี้มาเป็นเวลายาวนาน หรือ มีอาการชี่พร่องมีเลือดคั่งอุดกั้นเส้นลมปราณจนทำให้เส้นเอ็นกล้ามเนื้อขาดการบำรุงเลี้ยง
โรคนี้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับตับ ม้าม และไต อวัยวะตันทั้ง 3 อย่างใกล้ชิด มีพยาธิการเกิดโรคหลัก คือ ลมปราณ , สารจิง , สารน้ำ ไม่เพียงพอ ทำให้เส้นเอ็นขาดการบำรุงเลี้ยง ทำให้โรคนี้เป็นโรคที่ซ่อนเร้นเกิดอย่างเงียบเชียบ ยืดเยื้อยาวนาน มีพยากรณ์โรคที่ไม่ดี ดังคำกล่าวไว้ในคัมภีร์《ซู่เวิ่น素问 · ยวี้จีเจินจ้างลุ่น 玉机真脏论》ที่ได้กล่าวว่า
“กระดูกแห้งเหี่ยว , กล้ามเนื้อยุบเป็นร่อง , ไขกระดูกบริเวณกระดูกหัวไหล่เหือดหาย , เคลื่อนไหวอ่อนแอ , หากพบจับชีพจร “เจินจ้างม่าย” , จะเสียชีวิตภายใน 1 ปี”
Cr.Photo : nature.com
สาเหตุและกลไกของโรคในทางแพทย์แผนปัจจุบัน
- ปัจจัยทางพันธุกรรม
- ปัจจัยด้านภูมิคุ้มกัน
- การได้รับสารพิษ
- การติดเชื้อ Lentivirus , การเป็นโรคมะเร็ง
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้มีการกล่าวถึง สาเหตุการเกิดโรค ALS ที่มาจากความผิดปกติของนิวโรฟิลาเม้นท์ (Neurofilament) กับความเสื่อมของเซล์ประสาท (Neuronal degeneration) ความผิดปกติในการขนส่งสารกลูตาเมท (Glutamate transport) และความผิดปกติของไมโทคอนเดรีย (Mitochondria)
อาการแสดงทางคลินิก
Amyotrophic Lateral Sclerosis (ALS)
พบได้ค่อนข้างบ่อยในทางคลินิก เกิดและดำเนินโรคอย่างเชื่องช้า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการเริ่มต้นที่แขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่งก่อนแล้วจึงพัฒนาลุกลามจนเป็นทั้งสองข้าง
อาการแรกเริ่มที่พบบ่อยคือเคลื่อนไหวมือและนิ้วไม่คล่องแคล่ว ทำการเคลื่อนไหวละเอียดอ่อนได้ไม่แม่นยำ แรงบีบกำมือถดถอยลง ต่อเนื่องด้วยมีการลีบฝ่อของกล้ามเนื้อมัดเล็กๆบริเวณมือ แล้วค่อยๆมีการพัฒนาลุกลามไปสุู่ด้าน Proximal ขึ้นไปถึงแขน ต้นแขน ไหล่ กล้ามเนื้อรอบไหล่ บริเวณกล้ามเนื้อที่ฝ่อลีบรู้สึกถึงการเต้นของกล้ามเนื้อ โดยเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวหรืออาจเกิดขึ้นถี่ๆ อาการเกิดขึ้นที่แขนทั้งสองข้าง เกิดขึ้นพร้อมกัน หรือ เกิดข้างใดข้างหนึ่งก่อนหลายเดือนแล้วจึงเกิดอีกข้าง
หลังจากผ่านมาช่วงระยะเวลาหนึ่งก็จะเริ่มรู้สึกว่าขาไม่มีแรง กล้ามเนื้อขาแข็งเกร็ง เคลื่อนไหวได้ไม่สมดุล เดินลำบาก แต่ไม่มีการลีบผ่อของกล้ามเนื้อ การตรวจร่างกายทางระบบประสาทพบกล้ามเนื้อที่แขนทั้งสองข้างฝ่อลีบ กำลังกล้ามเนื้อ (Muscle power)ลดลง โดยด้านDistal อ่อนแรงกว่าด้าน Proximal ในบางรายอาจพบมือมีลักษณะคล้ายกรงเล็บเหยี่ยว (Claw hand) กล้ามเนื้อที่ลีบฝ่อมีการเต้นสั่นพริ้ว (Fasciculation)อย่างชัดเจน แรงตึงตัวของกล้ามเนื้อ (Muscle tone) เป็นปกติหรือลดลง แต่มี Hyperreflexia, Hoffman's sign (+) มี Spastic gait, Muscle power ที่ขาลดลงไม่ชัดเจน แต่มีแรงตึงตัวของกล้ามเนื้อ (Muscle tone) สูงขึ้นอย่างชัดเจน, Patellar tendon reflex(++++) Achilles tendon reflex (++++) มี Knee, ankle clonus, Babinski sign (+) ไม่พบความผิดปกติของระบบประสาทรับความรู้สึก ผู้ป่วยมีความรู้สึกชา และเย็นบริเวณผิว
อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงพัฒนาลุกลามไปตามระยะเวลาการดำเนินโรคที่ยาวนานขึ้น ลุกลามถึงลำตัว คอ จนถึงกล้ามเนื้อใบหน้าและกล้ามเนื้อที่หล่อเลี้ยงแล้วด้วยเส้นประสาทสมองบริเวณเมดัลลาออบลองกาต้าในท้ายที่สุด พบมีอาการ Bulbar Palsy เมื่อถึงระยะท้ายของโรคมีการลีบฝ่อของกล้ามเนื้อ Sternocleidomastoid ผู้ป่วยจะไม่มีแรงหันคอ ไม่มีแรงยกเงยศีรษะ ต้องนอนติดเตียง ให้อาหารและน้ำผ่านสายยางทางจมูก
โรคในระยะแรกยังไม่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อหูรูดกระเพาะปัสสาวะ โรคในระยะท้ายพบมีความผิดปกติในการขับปัสสาวะ หากโรคกระทบถึงกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจ จะทำให้หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ไม่มีแรงกระแอมกระไอ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเสียชีวิตจากการติดเชื้อในปอด
Progressive spinal muscular atrophy (PSMA)
ความเสื่อมของเซลล์ประสาทสั่งการเกิดขึ้นเฉพาะที่ Anterior horn cellsของไขสันหลัง มีอาการแสดงและ signs ของ Lower motor neuron lesion ช่วงอายุที่เกิดโรคอยู่ระหว่างอายุ 20-50 ปี ส่วนใหญ่มักเกิดโรคช่วงก่อนและหลังอายุ 30 ปี มีจำนวนผู้ป่วยที่เป็นเพศชายค่อนข้างมาก เกิดโรคขึ้นอย่างเงียบเชียบ พัฒนาการโรคเชื่องช้า ราว 90%ของผู้ป่วยจะมี Involement บริเวณ Cervical enlargement ที่ไขสันหลังก่อน ทำให้มีอาการแรกเริ่ม คือกล้ามเนื้อมือข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างอ่อนแรง กล้ามเนื้อ Thenar and Hypothenar muscles, Interosseous muscles, Lumbrical musclesลีบฝ่อ ผู้ป่วยที่เป็นหนักมีอาการมือคล้ายกรงเล็บเหยี่่ยว (Claw hand) จากนั้นอาการลีบฝ่อพัฒนาลามถึงแขน ต้นแขน กล้ามเนื้อไหล่และสะบัก บริเวณกล้ามเนื้อที่ลีบฝ่อมีการสั่นพลิ้ว (Fasciculation) Muscle powerและ tendon reflex ต่างลดลงหรือหายไป การรับความรู้สึกเป็นปกติ ผู้ป่วยที่มีอาการแรกเริ่มที่ขาพบได้น้อย (-)
Progressive bulbar palsy (PBP)
โดยปกติอาการ Bulbar paralysis เป็นตัวแสดงว่า Amyothrophic lateral sclerosis (ALS) ได้มาถึงระยะท้ายของโรคแล้ว มีเพียงผู้ป่วยส่วนน้อยที่มีอาการBulbar paralysis ในระยะแรกของโรค ลักษณะอาการทางคลินิกของ Bulbar palsyคือ อาการพูดไม่เป็นความ (Dysarthria),เสียงแหบ,เสียงขึ้นจมูก, อาการสำลักเมื่อดื่มน้ำ,กลืนลำบาก,น้ำลายไหล ฯลฯ ตรวจร่างกายพบ Soft palate มีการเคลื่อนไหวลดลง กล้ามเนื้อบริเวณช่องคออ่อนแรง Gag reflexหายไป กล้ามเนื้อลิ้นลีบหดอย่างเห็นได้ชัด กล้ามเนื้อลิ้นสั่นราวกับมีไส้เดือนดิ้นอยู่ภายใน หากกระทบถึงกล้ามเนื้อใบหน้าส่วนล่างจะมีอาการสีหน้าปราศอารมณ์ แข็งกระด้าง
หากมีพยาธิสภาพที่ Corticobulbar tract ทั้งสองซีกจะมีอาการ ร้องไห้ หัวเราะอย่างรุนแรง, Hyperactive in Palmomental reflex, Mandibular tendon reflex, Snout reflex อันเป็นกลุ่มลักษณะอาการ Pseudo bulbar palsy
มีพัฒนาการโรครวดเร็ว ผู้ป่วยมักเสียชีวิตภายใน 1-2 ปี จากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจเป็นอัมพาต หรือ เสียชีวิตจากการติดเชื้อในปอด
Primary lateral sclerosis (PLS)
เกิดจากมีความเสียหายใน Pyramidal tract ทั้งสองซีก ทำให้ขาทั้งสองข้างมีการอ่อนแรงแบบ Spastic paresis,มี Muscle toneเพิ่มขึ้น, hyperreflexia , Pathological reflexes(+) โรคในระยะท้ายมีอาการควบคุมปัสสาวะไม่ได้ หากกระทบถีงกลุ่มกล้ามเนื้อที่เลี้ยงโดยเส้นประสาทสมองกลุ่มหลัง จะมีอาการของUpper motor neuron paralysis เรียกว่า Pseudo bulbar palsy ตรวจไม่พบการลีบฝ่อของกล้ามเนื้อและการสั่นพริ้วของกล้ามเนื้อ พบ hyperactive Palmomental reflex มีอาการ ร้องไห้ หัวเราะอย่างรุนแรง
หลักการวินิจฉัย
Upper & Lower motor neuron paresis ที่เกิดขึ้นเงียบเชียบพัฒนาการเชื่องช้า กล้ามเนื้อลีบฝ่อ มี Fasciculation, Hyperreflexia, มี Pathological reflexes, ส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บปวดและ Sensory impairment
อาจมีอาการกล้ามเนื้อลิ้นลีบหด ออกเสียงและกลืนลำบาก ฯลฯ อันเป็นอาการที่แสดงถึงความเสียหายของlower cranial nerves
Electromyogram (EMG) : พบคลื่นไฟฟ้าที่แสดงถึง neurogenic atrophy ที่บริเวณ Lower motor neuron ที่มีความเสียหาย
การวินิจฉัยรักษาตามกลุ่มอาการในทางแพทย์แผนจีน
กลุ่มอาการร้อนชื้นรุกราน
อาการ : แขนขาค่อยๆ อ่อนแรงลง เป็นมากที่ขา มีอาการชา หรือ ตัวร้อน ปัสสาวะสีออกแดง ปัสสาวะแสบขัด ตัวลิ้นสีแดง ฝ้าที่ลิ้นเหลืองเหนียว ชีพจรเล็กนุ่มลอยเร็ว 濡数
การรักษา : ระบายร้อนทำชื้นให้แห้ง ขจัดชื้นและเสมหะสกปรก ทะลวงลมปราณ
กลุ่มอาการลมปราณม้ามพร่อง
อาการ : แขนขาหนักไม่มีแรง, กล้ามเนื้อฝ่อลีบผอม, อ่อนเพลีย, หนักศีรษะราวกับเทินของไว้บนหัว แน่นหน้าอก แน่นท้อง ไม่อยากอาหาร ปากเหนียว เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน อุจจาระเหลวถ่ายไม่คล่อง ปัสสาวะสีขุ่น ปัสสาวะไม่คล่อง ตัวลิ้นซีด ฝ้าที่ลิ้นสีขาวหนาเหนียว ชีพจรลื่น ถ้าม้ามพร่องรุนแรง อาจพบอาการ ตัวลิ้นอ้วนใหญ่ที่ขอบลิ้นมีรอยฟัน ถ้าพร่องเปลี่ยนเป็นร้อน พบมี ลิ้นสีแดง ฝ้าที่ลิ้นสีเหลืองเหนียว ชีพจรลื่นเร็ว 滑数
การรักษา : บำรุงชี่เสริมม้าม บำรุงจงเจียว เพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ
การปรับเพิ่มลด : ทานอาหารไม่มีรสชาติ ทานได้น้อย เติม ซานเย้า加山药、 เปี่ยนโต้ว扁豆 เพื่อเสริมม้ามกระตุ้นกระเพาะ ; ลมปราณพร่องชัดเจน เพิ่ม เหรินเซิน人参 ร่วมกับใช้หวงฉี黄芪 ในปริมาณมาก
กลุ่มอาการปอดและม้ามพร่อง
อาการ : แขนขาอ่อนแรง อ่อนเพลีย ไม่อยากอาหาร กล้ามเนื้อลีบผอม ผิวหนังหย่อนยาน หรือเป็นมากกระทั่งแขนขาใช้การไม่ได้ ปากจืดรับประทานอาหารได้น้อย หน้าบวมลอย หายใจสั้น สีหน้าไม่สดใส ลิ้นซีด ฝ้าลิ้นน้อย ขอบลิ้นมีรอยฟัน ชีพจรเล็กอ่อนแรง
การรักษา : เสริมม้ามบำรุงปอด เพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อ ขจัดอาการอ่อนแรง
กลุ่มอาการอินของตับและไตพร่อง
อาการ : กล้ามเนื้อแขนขาลีบฝ่อ โดยเฉพาะที่แขนส่วนปลายเป็นหลัก ไม่มีแรงบีบกำมือ เคลื่อนไหวได้จำกัด หรือเป็นมากจนมือมีลักษณะคล้ายกงเล็บเหยี่ยว (Claw hand) หรือ คล้ายมือลิง บางครั้งมีกล้ามเนื้อสั่นกระตุก หรือมีอาการมือสั่นโดยเฉพาะเวลากำมือ อารมณ์แปรปรวณ นอนหลับฝันเยอะ ร่างกายผ่ายผอม อุจจาระแห้งแข็ง ลิ้นแดง ฝ้าที่ลิ้นน้อย ตัวลิ้นหดลีบผอม ชีพจรจมเล็กบางตึง
การรักษา : บำรุงอินทำให้เส้นเอ็นนุ่มนวล บำรุงตับและไต
กลุ่มอาการหยางของม้ามและไตพร่อง
อาการ : แขนขาอ่อนแรง ไม่มีแรงเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อลีบผอม ผิวหนังหย่อนยาน ชอบอุ่นกลัวหนาว แขนขาไม่อุ่น อ่อนแรงจนขี้เกียจพูด หรือมีอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ,หลั่งเร็วร่วมด้วย ฝ้าที่ลิ้นขาวบาง ตัวลิ้นซีดอ้วน ชีพจรลึกช้าและเล็กบาง 迟而细
การรักษา : อุ่นไตเสริมม้าม บำรุงเลือดหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อ
การรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบัน
- ปัจจุบันยังคงไม่วิธีการรักษาใดที่ให้ผลในการรักษาที่สาเหตุของโรค
- ยังคงมีการถกเถียงเกี่ยวกับ HormoneและThyroid stimulating hormone (TSH) กันอยู่
- Branched-chain amino acids(BCAAs)และModified snake venom ไม่มีผลในการรักษา
- วิตามินทุกชนิด รวมถึงยาอื่นอื่น ต่างก็ไม่ให้ผลในการรักษา
- มีความเป็นไปได้ว่าการศึกษาวิจัยด้าน Molecular genetics อาจจะสร้างให้เกิดนวัตกรรมใหม่ได้
- ปัจจุบันในทางคลินิกเน้นการรักษาแบบประคับประคองและการรักษาตามอาการเป็นหลัก ป้องกันการติดเชื้อที่ปอดและการเกิดอาการข้างเคียงอื่น ควรพยายามส่งให้ผู้ป่วยในระยะต้นรักษาการทำงานและทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันตามปกติให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
- กายภายบำบัด, เวชศาสตร์การกีฬา (Sports Medicine) ฯลฯ สามารถช่วยบรรเทาอาการได้ในช่วงสั้น แต่ทว่าการเคลื่อนไหวที่หนักหน่วงรุนแรง การใช้แรงมากเกิน รวมถึง กายภาพบำบัดที่มากเกินไป กลับเป็นการกระตุ้นให้โรคเป็นหนักขึ้น
- ผู้ป่วยที่กล้ามเนื้อในการหายใจอ่อนแรง ทำการการเจาะคอ (Tracheostomy) ให้อาหารและน้ำทางสายจมูก ให้อ็อกซิเจนเป็นบางครั้ง สามารถช่วยในการยืดชีวิตได้
ความรู้จากประสบการณ์การรักษาทางคลินิกฯ
การรักษากล้ามเนื้ออ่อนแรง , กล้ามเนื้อลีบฝ่อ ต้องเริ่มจากการบำรุงลมปราณ
แพทย์แผนจีนมีแนวคิดว่า เลือดและลมปราณพร่องเป็นสาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อลีบฝ่อ อ่อนแรง กล้ามเนื้อสั่น ดังเช่น ในตำรา 《จิ่งเยว่เฉวียนซู景岳全书。เหว่ยเจิ้ง痿证》ที่บันทึกเน้นย้ำว่า “ หยวนชี่ถูกทำลายเสียหาย ทำให้จิงพร่องไม่สามารถส่งการหล่อเลี้ยงไปถึง เลือดพร่องไม่เพียงพอหล่อเลี้ยงบำรุง ก็มีไม่น้อย”
ในตำรา《ซานอินจี๋อีปิ้งเจิ้งฟางลุ่น三因极一病证方论》บันทึกไว้ว่า: “ เหว่ยปี้เจิ้ง มีสาเหตุมาจากลมปราณของอวัยวะตันมีไม่เพียงพอ”
ในคัมภีร์《ซู่เวิ่น素问·ไท่อินหยางหมิงลุ่น太阴阳明论》กล่าวไว้ว่า: “ ม้ามป่วยทำให้แขนขาใช้การไม่ได้” คือ การที่แขนขาไม่ได้รับลมปราณที่ได้มาจากน้ำและสารอาหารมาหล่อเลี้ยง จึงไม่มีลมปราณเพื่อใช้สร้างเส้นเอ็นกระดูกและกล้ามเนื้อ นี้เกิดมาจากลมปราณพร่อง หลักการรักษา “ ถ้าร่างกายอ่อนแอ อุ่นบำรุงลมปราณ, ถ้าจิงไม่พอ บำรุงอินและเลือด” ด้วยเหตุนี้การรักษาจึงบำรุงลมปราณเป็นหลัก เสริมด้วยบำรุงเลือดเสริมจิง
การรักษาโดยใช้หลัก “รักษาเหว่ยรักษาที่หยางหมิงเพียงอย่างเดียว 治痿独取阳明”
คัมภีร์เน้ยจิง 内经 เป็นคัมภีร์เล่มแรกที่กล่าวถึงหลักวิธีการรักษา“ รักษาเหว่ย รักษาที่หยางหมิงเพียงอย่างเดียว 治痿独取阳明” เป็นวิธีที่ต้องผ่านการเปี้ยนเจิ้งลุ่นจื้อ (ตรวจวินิจฉัย) อันถือเป็นจิตวิญญาณของการแพทย์จีน จวบจนปัจจุบันก็ยังคงถูกใช้เป็นแนวทางสำคัญในการวินิจฉัยและรักษาโรคเหว่ยเจิ้ง หลักการรักษานี้ได้รวมไว้ซึ่งการรักษาอย่างน้อย 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ บำรุงพร่อง , บำรุงเลือด , ดับระบายร้อน
หยางหมิงกระเพาะอาหารเป็นรากฐานแห่งทุนหลังกำเนิด “รักษาเหว่ยรักษาที่หยางหมิงเพียงอย่างเดียว 治痿独取阳明” หมายถึง การบำรุงทุนหลังกำเนิดเป็นหลัก อันประกอบด้วย หยางหมิงกระเพาะอาหาร และ ไท่อินม้าม ; หลักการรักษาอาการพร่องที่ทำให้เกิดโรคอ่อนแรง 痿
แม้ว่าจะต้องบำรุงเหมือนกัน แต่กระเพาะอาหารกับม้ามนั้นมีความแตกต่าง ; หากม้ามพร่องมีความเย็น ต้องใช้วิธีอุ่นบำรุงหยางม้าม ; หากจงชี่ไม่เพียงพอ ต้องใช้วิธีเสริมม้ามบำรุงชี่ดึงชี่ที่ตกขึ้น ; หากอินของม้ามพร่อง ต้องใช้ยารสหวานเย็นบำรุงอินบำรุงม้าม ; ถ้าอินกระเพาะอาหารไม่พอต้องใช้ยารสหวานเย็นจัดบำรุงอินให้ความชุ่มชื้นขจัดแห้ง
“รักษาเหว่ยรักษาที่หยางหมิงเพียงอย่างเดียว 治痿独取阳明” ไม่เพียงแต่หมายถึงการใช้วิธีบำรุงเท่านั้น หากสาเหตุของโรคอ่อนแรง 痿 นั้นเกิดจากเสมหะความชื้นอุดกั้น แม้จะใช้วิธีบำรุงม้ามกระเพาะอาหารธาตุดิน แต่ก็ต้องระบายสิ่งที่มีเกินออกไปด้วย ; หากมีความร้อนแห้งที่หยางหมิงรักษาโดยวิธีขับถ่ายเพื่อดับระบายความร้อน ; หากมีความร้อนชื้นอุดกั้นที่จงเจียว รักษาโดย ใช้วิธีทำให้ขับถ่ายดับระบายความร้อนชื้น ; หากมีไฟร้อนจากความพร่อง รักษาโดยใช้วิธีบำรุงอินระบายร้อน
ข้อมูลโดย ศาสตราจารย์ แพทย์จีน ลั่วเสี่ยวตง
แพทย์จีนเฉพาะทางโรคระบบประสาท
โรงพยาบาลการแพทย์แผนจีน ประจำมณฑลกวางตุ้ง
สาธารณรัฐประชาชนจีน
แปลและเรียบเรียงโดย
แพทย์จีน สิริลักษณา ทวีโชติช่วง
แพทย์จีน ปณิตา กาสมสัน
คลินิกฝังเข็ม
สอบถามข้อมูลการรักษาเพิ่มเติม
LINE@ : @huachiewtcm
1 ก.ค. 2567
22 ก.ค. 2567
15 ก.ค. 2567