Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 8375 จำนวนผู้เข้าชม |
อาการบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าหัวเข่า (Anterior cruciate ligament injury)
การบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้า (ACL) anterior cruciate ligament (ACL) (交叉韧带) คือ การที่เอ็นไขว้หน้าที่อยู่บริเวณด้านหน้าหัวเข่าเกิดการ บาดเจ็บ ฉีกขาดบางส่วนหรือทั้งหมด เป็นหนึ่งในอาการการบาดเจ็บของข้อเข่าเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจจะเกิดจากอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการปะทะอย่างรุนแรงบริเวณข้อเข่า เช่น การหกล้ม การตกจากที่สูง หรือการประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ เป็นต้น หรือเกิดจากการออกกำลังกายซึ่งทำให้ การเหยียดเข่าหรือการงอเข่าอย่างรุนแรง หรือมีแรงกระทำทางด้านนอกของข้อเข่า และ การบิดหมุนของข้อเข่า เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล มวย หรือแม้กระทั่งฟิตเนสที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน การบาดเจ็บดังกล่าว หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม จะส่งผลให้เอ็นฉีกขาด ข้อเข่าสูญเสียความมั่นคงและประสิทธิภาพการทำงาน รวมถึงการมีเลือดออกภายในข้อเข่า
โครงสร้างทางกายวิภาคศาสตร์ของข้อเข่า
ข้อเข่า (knee joint) เป็นจุดบรรจบกันของกระดูกสามชิ้น ได้แก่ กระดูกต้นขา (femur) กระดูกแข้ง (tibia) และกระดูกสะบ้า (patella) มาต่อเชื่อมกันโดยมีกระดูกอ่อนอยู่ส่วนปลายเชื่อมต่อกระดูกกัน เรียกว่าข้อต่อ (joint) ประกอบด้วย Tibio-femoral joint เชื่อมกระดูกต้นขา (femur) กับกระดูกแข้ง (tibia) และ patello-femoral joint เชื่อม กระดูกต้นขา (femur) กับกระดูกสะบ้า (patella) ข้อต่อเหล่านี้ จะมีเยื่อหุ้มอยู่โดยรอบ (joint capsule) เพื่อเสริมความแข็งแรงของข้อ และภายในข้อเข่าจะมีน้ำหล่อเลี้ยงข้อ (synovial fluid) ทำหน้าที่หล่อลื่นข้อต่อให้สามารถเคลื่อนไหวได้สะดวก ไม่ติดขัด นอกจากจะมีเยื่อหุ้นข้อระหว่างกระดูกแล้วยังมีส่วนที่เรียกว่า เอ็น (ligament) ที่ทำหน้าที่เสริมความแข็งแรงและยืดหยุ่นให้กับข้อเข่าแล้ว ซึ่ง มีทั้งเอ็นที่อยู่นอกข้อ (extra-articular ligament) ได้แก่ เอ็นพับในและเอ็นพับนอก (medial and lateral collateral ligament) และเอ็นที่อยู่ในข้อ (intra-articular ligament) ได้แก่ เอ็นไขว้หน้า (Anterior cruciate ligament = ACL) และเอ็นไขว้หลัง (Posterior cruciate ligament = PCL) นอกจากนี้ยังมีเอ็นส่วนปลายกล้ามเนื้อ (tendon) ที่ทอดข้ามข้อเข่า ที่ช่วยเสริมความแข็งแรงในการเคลื่อนไหวของข้อ
เอ็นที่อยู่ในข้อ (intra-articular ligament) เป็นเส้นเอ็นที่เชื่อมระหว่างกระดูกต้นขา (femur) กับกระดูกแข้ง (tibia) มีลักษะพาดไขว้กันเป็นรูปตัว "X" โดยมีเอ็นไขว้หน้าอยู่ด้านหน้า (ACL) และเอ็นไขว้หลัง(PCL) อยู่ด้านหลัง เอ็นไขว้ควบคุมการเคลื่อนไหวไปมาของหัวเข่า เอ็นไขว้หน้า (ACL) พาดตามแนวทแยงมุมตรงกลางเข่า ช่วยป้องกันไม่ให้กระดูกแข้งเลื่อนออกไปด้านหน้าของกระดูกโคนขารวมทั้งให้ความมั่นคงในการหมุนที่หัวเข่า จากภาพจะเห็นได้ว่า เอ็นไขว้ขาหน้า (ACL) ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญทั้งในการทำงานของระบบข้อเข่า และเป็นจุดรับแรงกระทำจากหลายทิศทางเช่น แรงกดทับน้ำหนักจากแนวดิ่ง และแรงกดทับจากน้ำหนักในแนวดิ่ง แรงบิดจากทิศทางซ้ายขวา และแรงกระแทกที่เกิดจากการประทะทีมีต่อหัวเข่าโดยตรง ทำให้เอ็นไขว้ขาหน้า (ACL) มีความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บ ซึ่งจะส่งผลเสียอย่างมากต่อระบบข้อเข่าทั้งหมด กายวิภาคของเข่าปกติ หัวเข่าประกอบด้วยสี่สิ่งหลัก ๆ ได้แก่ กระดูกอ่อนเอ็นและเส้นเอ็น
Credit : https://orthoinfo.aaos.org/en/diseases--conditions/anterior-cruciate-ligament-acl-injuries
กลไกการฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าข้อเข่า
การฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าของข้อเข่า มีกลไกการฉีกขาดได้ทั้งในลักษณะทีมีการปะทะและไม่มีการปะทะโดยการฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้า ส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 70 เกิดจากกลไกการเคลื่อนไหวที่ไม่มีการปะทะจากภายนอก (non - contact injury) ได้แก่ การเปลี่ยนทิศทางการ เคลื่อนไหวอย่างทันทีทันใด ทำให้ข้อเข่าบิดจากลำตัวส่วนบนในขณะที่ฝ่าเท้ายังติดอยู่กับพื้นในตำแหน่งเดิม และขณะที่กำลังชะลอความเร็วส่ง ซึ่งผลให้เกิดแรง valgus ของข้อเข่าร่วมกับกระดูกtibia ที่หมุนเข้าด้านใน การเหยียดมากเกินมุมปกติ (knee hyperextension)ร่วมกับการหมุนเข้าด้านในของกระดูก tibia ส่วนกลไกการเคลื่อนไหวที่มีการปะทะจากภายนอก (contact injury) เกิดจากแรงมากระทบโดยตรงทางด้านหน้าของข้อเข่าอย่างรุนแรงในขณะเข่ามักจะอยูในท่าเหยียดตรง เช่น ถูกเตะ ถูกกระแทกข้อเข่า ทำให้เกิดแรงตึงที่เอ็นไขว้หน้าสูงกว่าปกติให้เกิดการฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้า
อาการเอ็นไขว้หน้าบาดเจ็บ
ผู้ที่มีการบาดเจ็บของเอ็นข้อไขว้หน้า (Anterior cruciate ligament injury) จะมีอาการบริเวณข้อเข่าโดยตรงซึ่งระดับของอาการจะสัมพันธ์กับระดับของการบาดเจ็บของเอ็น ดังนี้
1. รู้สึกตึง ปวดเป็นระยะๆ ภายในข้อเข่า จนถึงปวดรุนแรงตลอดเวลา
2. อาการบวมของเข่า โดยมีระยะเวลาของการบวมขึ้นกับความรุนแรงของการบาดเจ็บ
3. พิสัยการเคลื่อนไหวหัวเข่าลดลงไปจนถึงไม่สามารถเคลื่อนไหวได้
4. ได้ยินเสียงลั่นในข้อ (Audible Pop)
5. มีอาการบาดเจ็บตำแหน่งเดิม ที่ข้อเข่ากลับมาเป็นซ้ำบ่อย เมื่อเล่นกีฬาหรือมีการใช้ข้อเข่า
ระดับของการบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าหัวเข่า
การบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าสามารถแบ่งระดับความรุนแรงได้ 3 ระดับดังนี้
การบาดเจ็บระดับ 1 (Grade 1 sprains) หมายถึง จะมีการยืดออกเล็กน้อยแต่ยังคงสามารถที่จะช่วยให้ข้อเข่าคงตัวไว้ได้
การบาดเจ็บระดับ2 (Grade 2 sprains) หมายถึงเส้นเอ็นยืดจนถึงเส้นเอ็นฉีกขาดบางส่วน
การบาดเจ็บระดับ3 (Grade 3 sprains) หมายถึง เส้นเอ็นฉีกขาดจากกันออกเป็น2ส่วนและข้อเข่าจะไม่มั่นคง
การตรวจร่างกาย
1. การซักประวัติ อาการที่เป็น ระยะเวลาที่เกิดอุบัติเหตุหรือเริ่มมีอาการ หลังได้รับการบาดเจ็บยังคงมีอาการต่อเนื่องนานหรือไม่ในกรณีที่เป็นการบาดเจ็บเรื้อรัง เป็นมานานแค่ไหน หลังได้รับการบาดเจ็บยังคงมีอาการต่อเนื่องนานจนเป็นเรื้อรังหรือไม่ มีลักษณะอย่างไร หลังได้รับบาดเจ็บผู้ป่วยยังสามารถดำเนินกิจกรรมเดิมต่อไปได้หรือไม่ ถ้ามีอาการบวมเกิดอยู่นานหลายชั่วโมง หรือข้ามวันหรือไม่
Palpation
คลำหาจุดกดเจ็บ (reproducible trigger point) การคลำดูการบวมและความผิดปกติของน้ำในข้อเข่า โดยจะมีการบวมของข้อหัวเข่าอย่างเห็นได้ชัดเจน กดบุ๋มลงไปได้
Range of motion
วิธีการ : ให้ขยับงอเหยียดหัวเข่า รวมถึงการบิดหัวเข่าเข้าและออก เพื่อดูว่าพิสัยการเคลื่อนไหวของหัวเข่ามีการเพิ่มขึ้นหรือลดลง รวมถึงการเคลื่อนไหวที่ติดขัด หรืออาการเจ็บตำแหน่งใดในการเคลื่อน ในผู้ป่วยรายที่มีการบาดเจ็บบริเวณเส้นเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าความรุนแรงระดับ 3 พิสัยการเคลื่อนไหวหัวเข่าจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด ร่วมกับมีอาการเจ็บในหัวเข่า
การตรวจอื่นๆ
การตรวจ Anterior drawer test เพื่อตรวจดูความเด่นชัดของปุ่มกระดูกเข่า (Tibia tubercle) ทั้ง 2 ข้าง
Credit : https://www.physio-pedia.com/Anterior_Drawer_Test_of_the_Knee
Anterior drawer test ดึงมาข้างหน้า ถ้ามีอาการเจ็บบริเวณหัวเข่า แสดงถึงการบาดเจ็บของเส้นเอ็นไขว้หน้าหัวเข่า หากขาสามารถเคลื่อนมาด้านหน้าได้มากกว่า 5 มิลลิเมตร อาจแสดงถึงการฉีกขาดของเส้นเอ็นไขว้หน้าหัวเข่า
3. การตรวจสอบด้วยภาพ
แม้ว่าการตรวจทางคลินิกด้วยมือที่มีประสบการณ์จะแม่นยำ แต่การใช้ภาพจะช่วยให้เห็นสภาพที่เกิดขึ้นภายในข้อเข่ารวมถึงโครงสร้างอื่นๆ เพื่อใช้ในการยืนยันและประเมิณอาการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้ารวมถึงส่วนอื่นๆว่ามีอาการบาดเจ็บร่วมด้วยหรือไม่ การวินิจฉัยภาพมาตรฐานการบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้า (ACL) คือ วิธีการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging or MRI) ซึ่งสารมารถทำให้พบอาการผิดปกติต่างๆ เช่น มีการฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าหรือ ACL ร่องรอยกระดูกช้ำที่บริเวณกระดูกต้นขา และกระดูกหน้าแข้ง (Lateral femoral condyle และ Posterolateral tibial plateau) เส้นเอ็นไขว้หลังหย่อน (PCL buckling sign) การฉีกขาดของหมอนรองเข่าทั้งทางด้านในและด้านนอก (Meniscus torn) การบาดเจ็บของเส้นเอ็นไขว้หลัง เส้นเอ็นประกบทั้งทางด้านนอกและด้านใน (PCL and collateral ligament torn) และการบาดเจ็บของกระดูกอ่อน (Cartilage injury)
ส่วนวิธีการถ่ายภาพด้วยรังสี X หรือ ภาพถ่ายรังสีเอ็กซ์ (X-ray) แม้ไม่สามารถพบการบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้า (ACL) โดยตรงได้แต่สามารถพบอาการอื่นๆ ซึ่งเป็นร่องรอยของอาการได้ เช่น อาการบวมน้ำในเข่า (Effusion) ลักษณะกระดูกหักที่เกิดขึ้นที่ตำแหน่งขอบด้านข้างของกระดูกหน้าแข้ง (Segond fracture) กระดูกหักตำแหน่งจุดเกาะของเส้นเอ็นไขว้หน้า (ACL avulsion fracture)
การรักษาการบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน
กลไกของการเกิดการบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน
ทางการแพทย์แผนจีนมองเป็นเป็นการบาดเจ็บบริเวณข้อต่อ “节伤” หรือกลุ่มข้อติด “节粘证” แพทย์จีนได้มีกล่าวว่า หัวเข่ามีเส้นเอ็นเป็น会 เป็นบริเวณที่มีชี่และเลือดอยู่มากและเป็นที่อยู่ของกล้ามเนื้อข้อต่อ (机关) [ 膝为诸筋之会,多气多血之枢,机关之室。] ปกติการงอเยียดติดขัด ทำให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณข้อต่อและเชี่ยว หรือการทำงานนานเกิดการล้าเป็นอาการพร่องเย็น การพับงอนานๆเกิดความล้า ชี่เลือดคั่งติดขัด เลือดคั่งทำให้บริเวณข้อเกิดการบวม เส้นเอ็นได้รับการบาดเจ็บทำให้เกิดอาการปวด งอเข่าแล้วเหยียดไม่ได้หรือเหยียดแล้วงอเข่าไม่ได้ หากเป็นมานานจะทำให้หัวเข่าติดไม่สามารถขยับได้ [凡磕仆闪挫,伤及节窍;或过劳虚寒,窍隙受累,气血瘀滞,瘀阻于窍则节肿,筋络受损则痛,拘-则屈6而不能伸,伸而不能屈,久之则节粘不能用]
หลักการรักษา :
กระตุ้นการไหลเวียนเลือดสลายเลือดคั่ง ระงับปวด คลายเส้นเอ็นทะลวงเส้นลมปราณ (活血化瘀止痛,舒筋通络)
การทุยหนา การนวดแบบจีน เป็นการช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด คลายเส้นเอ็น ช่วยให้ชี่และเลือดเข้าไปรักษาบริเวณเส้นเอ็นที่ได้รับบาดเจ็บได้ง่ายขึ้น ลดอาการปวดและลดการเกิดพังผืดบริเวณหัวเข่า
1. ให้ผู้ป่วยนอนหงายเหยียดขาตรง ผู้ทำการรักษายืนด้านข้างผู้ป่วย ใช้หัตถการคลึง (กุ่นฝ่า 滚法) หรือ ฝ่ามือกดคลึง (จ่างอั้นโหรวฝ่า掌按揉法)รอบๆบริเวณหัวเข่า โดยนวดบริเวณรอบๆที่มีอาการบวมก่อน จึงนวดบริเวณที่มีอาการบวมภายหลัง ร่วมกับการ ดึงและคลึง (โหรวหนาฝ่า揉拿法) บริเวณกล้ามเนื้อต้นขา Quadriceps Femoris การทำหัตถการให้ใช้น้ำหนักเบาก่อน จึงใช้น้ำหนักมากขึ้นภายหลัง โดยการลงน้ำหนักต้องไม่มากจนผู้ป่วยทนไม่ได้ นวดประมาณ 5 – 8 นาที
2. ผู้ทำการรักษาใช้นิ้วโป้งกดคลึง (เตี่ยนอั้นโหรวฝ่า 点按揉法) บริเวณจุด ฝูทู่ Futu (伏兔ST32) เหลียงชิว Liangqiu (梁丘ST34) เซวี่ยไห่ Xuehai (血海SP10) ซีเอี่ยนXiyan ทั้งสองฝั่ง (双膝眼EX-LE5) เห้อติ่ง Heting (鹤顶EX-LE2) เหว่ยจงWeizhong (委中BL40) หยางหลิงเฉวียน Yanglingquan (阳陵泉GB34) อินหลิงเฉ.วียน Yinlingquan (阴陵泉SP9) ประมาณจุดละ30 วินาที – 1 นาที
3.ผู้ทำการรักษาใช้ฝ่ามือกดบริเวณหัวเข่าและนวดคลึง ( ซือโม๋ฝ่า施摩法) จนในหัวเข่ารู้สึกร้อน
4.ผู้ทำการรักษาจัดท่าให้ผู้ป่วยนอนยกขาขึ้น 90องศาและงอเข่า 90 องศา มือหนึ่งประคองที่หัวเข่า อีกมือจับที่ข้อเท้า ทำการเขย่า (เหยาฮ้วงฝ่า摇晃法) หัวเข่า 6 – 7 ครั้ง และเหยืยดงอหัวเข่าหกถึงเจ็ดครั้ง โดยการทำหัตถการจะต้องทำอย่างเบามือและนิ่มนวล หากทำรุนแรงอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณเยื่อหุ้มไขข้อหัวเข่า
5.ใช้ท่านวดถู (โม๋ฝ่า摩法)บริเวณรอบๆลูกสะบ้าทั้งสองข้าง จนเกิดความร้อน และใช้ฝ่ามือสองข้างถูคลึงด้านข้างของหัวเข่าทั้งสองฝั่ง อาจะใช้ยาหม่องช่วยให้ทำหัตถการสะดวกขึ้นได้
การฝังเข็ม
ยาจีน
พอกยา
การดูแลตัวเองก่อนและหลังการเล่นกีฬา
1. ก่อนเล่นกีฬาควรยืดกล้ามเนื้อบริเวณหัวเข่า เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นเส้นเอ็นรอบหัวเข่า
2. การออกกำลังกาย ควรหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวทันทีทันใดหรือการปะทะรุนแรงที่มีต่อเข่า
3. การฝึกกล้ามเนื้อให้มีความแข็งแรงโดยเฉพาะกล้ามเนื้อรอบเข่า (quadriceps และ hamstrings)
4. ฝึกซ้อมให้มีความยืดหยุ่นของร่างกายและการฝึกเกี่ยวกับการทำงานประสาน (coordination) และการทรงตัว
5.การปรับท่าทางการยืน เดิน หรือวิ่งให้ถูกต้อง ระมัดระวังในการเคลื่อนไหว หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวทันทีทันใด
6. เลี่ยงไม่ให้หัวเข่าโดนลมหรือความเย็น ความชื้น รักษาความอบอุ่นบริเวณหัวเข่า
7. ในกรณีเป็นเรื้อรัง จะต้องมีการกายภาพกล้ามเนื้อต้นขา quadricep เพื่อไม่ให้กล้าเนื้ออ่อนแรง
ท่าบริหารหัวเข่า
ท่าบริหารหัวเข่า 6 ท่า (จากบทความ กิจกรรมห้องเรียนสูงวัยกายใจยังสุข ตอน รู้ทัน ป้องกัน “ข้อเข่าเสื่อม” วันที่ 21 กรกฎาคม 2561)
รูป ท่าบริหารหัวเข่า 6 ท่า Credit:https://www.thaihealth.or.th/sook/info-body-detail.php?id=193
โดยท่าต่างๆทำประมาณ 10 – 20 ครั้ง ต่อวัน 3 – 5 วันต่อสัปดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อเข่าเสื่อม
ท่าที่ 1 นั่งบนเก้าอี้ ค่อยๆ ยกต้นขาขึ้นหนึ่งข้าง แล้วผายขาออกไปแตะพื้นด้านข้าง ทำสลับกัน 10 ครั้ง
ท่าที่ 2 เหยียดขาตรงมาด้านหน้าทั้ง 2 ข้าง เตะขาสลับข้าง เท้าลอยพื้น เกร็งขา เพิ่มความยากด้วยการเตะสลับไล่ความสูงขึ้นเรื่อยๆ สามารถเพิ่มความแข็งแรง : สร้างกล้ามเนื้อรอบๆ หัวเข่าให้แข็งแรงมากขึ้น
ท่าที่ 3 นั่งเก้าอี้ในท่าปกติ ยกต้นขาขึ้นตั้งฉาก 1 ข้าง และเกร็งกล้ามเนื้อช่วงต้นขาหน้า ค่อยๆ ยืดหน้าแข้งให้ขนานพื้น ค้างไว้ 1 วินาที และชักหน้าแข้งกลับที่เดิม
ท่าที่ 4 ยืดขาให้สุด วางฝ่าเท้าให้เต็มพื้น จิกฝ่าเท้าติดพื้น และค่อยๆ ลากเข้าหาลำตัวช้าๆ
ท่าที่ 5 นั่งเก้าอี้เหยียดขาไปด้านหน้า 1 ข้าง กดเข่าให้ตึง วางฝ่าเท้าไว้กับพื้นกระดกปลายเท้า แล้วค่อยๆ ไล่มือลงไปตั้งแต่ต้นขา หัวเข่า หน้าแข้ง และปลายเท้า (เหมาะสำหรับหลังออกกำลังกาย)
ท่าที่ 6 ยืนจับเก้าอี้ ยกปลายเท้า 1 ข้างมาด้านหลัง และจับปลายเท้าไว้ให้เข่ายืดตรง ไม่เอียงไปด้านข้าง (เหมาะสำหรับหลังออกกำลังกาย)
อู่ฉินซี 五禽戏
“อู่ฉินซี่” คิดค้นโดย ฮว๋าถัว หรือ ฮัวโต๋华佗 ซึ่งเป็นหมอจีนที่มีความสามารถเป็นอย่างมาก ท่านมีชีวิตอยู่ในยุคสามก๊ก หมอฮว๋าถัวเป็นที่ยกย่องของเหล่าคนจีนว่าเป็นหมอเทวดา การฝึกท่าสัตว์เหล่านี้จะสามารถบริหารข้อต่อ กล้ามเนื้อ เอ็นกระดูกและอวัยวะภายในให้แข็งแรงโดย ท่ารำอู่ฉินซี่ มีทั้งหมด 5 ท่า เสือ กวาง หมี วานร และนกกระสา
รูปการออกกำลัง 五禽戏 Credit: https://bit.ly/30GxBbq
ท่าหม่าตัง (马裆势)
เป็นท่าพื้นฐานของ คัมภีร์กำลังภายในเส้าหลิน เน้นการฝึกรยางค์ขา ซึ่งสามารถช่วยปรับสมดุลของอวัยวะภายใน บำรุงหยวนชี่ กระตุ้นให้ชี่และเลือดในเส้นลมปราณไปเลี้ยงรยางค์แขนขาได้ดี เมื่อฝึกจนชำนาญ สามารถเสริมสร้างความแข็งแรงของกำลังขา เท้าและแขน เสริมสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อ และทำให้อวัยวะภายในแข็งแรงขึ้น นอกจากนี้ท่านี้ยังเป็นท่าฝึกร่างกายสำหรับหมอทุยหนา ที่จะช่วยเพิ่มทักษะของท่านวดทุยหนา เช่น ท่าถู ท่าเขย่า เป็นต้น และช่วยบริหารของกล้ามเนื้อ quadriceps, semitendinosus, semimembranosus, psoas muscle, teres major, deltoid muscle, extensor pollicis longus เป็นต้น
1. ท่าเตรียม ยืนตรง กางขาให้กว้างกว่าระดับหัวไหล่
2.ปลายเท้าหันเข้าหากัน
3. ย่อเข่าลง ย่อเข่าไม่ให้ย่อเกินปลายเท้า และต้นขากับพื้นทำมุม 45 องศา ลำตัวส่วนบนตั้งตรง มือสองข้างวางไว้เหนือเข่า เก็บคอ สายตามองตรงไปข้างหน้า หายใจให้เป็นไปตามธรรมชาติ อย่างมีสมาธิ
4. นำมือสองข้างมาเท้าเอว ใช้หัวแม่มือ กดคลึงที่จุดเซิ่นซู (BL32 肾俞) เก็บหน้าท้อง เก็บก้น ยืดเอวให้ตรง พร้อมกับยกอก
5. เหยียดข้อศอกให้ตรง พร้อมกับหักข้อมือ ดันออกไปข้างหลังลำตัว
6. นำมือทั้งสองข้างกลับมาเท้าเอว
7 วาดมือเป็นวงกลมจากด้านหลังไปถึงหน้าอก งอข้อศอกทั้งสองข้าง แล้วกดฝ่ามือลง เหยียดขาตรง แล้วกลับไปสู่ท่าเตรียม
บทความโดย
แพทย์จีน ธิติ นิลรุ่งรัตนา
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.1355
คลินิกทุยหนาและกระดูก
-----------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
1. สมศักดิ์ คุปต์นิรัติศัยกุล. กายวิภาคประยุกต์ของข้อเข่า. http://ortho.md.chula.ac.th/student/SHEET/somsak/3016702.html
2. สมศักดิ์ คุปต์นิรัติศัยกุล. หลักการดูแลรักษาผู้ป่วยบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า. http://ortho.md.chula.ac.th/student/SHEET/somsak/3016610.html
3. Anterior Cruciate Ligament (ACL) Injuries. https://orthoinfo.aaos.org/en/diseases--conditions/anterior-cruciate-ligament-acl-injuries
4. มารยาท เงินดี. คู่มือการพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าด้วยการส่องกล้อง. https://www2.si.mahidol.ac.th/division/nursing/sins/attachments/article/710/ACL.pdf
5. Anterior Cruciate Ligament (ACL) Injuries-OrthoInfo - AAOS". orthoinfo.aaos.org. March 2014. Archived from the original on 5 July 2017. Retrieved 30 June 2017.
6. https://patentimages.storage.googleapis.com/9c/c1/4e/d3c6e5bbfa16b7/CN1089856A.pdf
7. บทความ : กิจกรรมห้องเรียนสูงวัยกายใจยังสุข ตอนรู้ทัน ป้องกัน “ข้อเข่าเสื่อม” วันที่ 21 กรกฎาคม 2561 https://www.thaihealth.or.th/sook/info-body-detail.php?id=193
8. รูปการออกกำลัง 五禽戏 https://bit.ly/30GxBbq
9. https://wap.cnki.net/touch/web/Dissertation/Article/10071-1019828874.nh.html (งานเขียนการออกกำลังแบบ五禽戏ช่วยลดการบาดเจ็บบริเวณหัวเข่า)
--------------------------------------------------------------------
สอบถามข้อมูลการดูแลรักษาสุขภาพ
โดยหลักการและวิธีทางตามธรรมชาติ ใช้อินเพื่อเสริมหยาง ใช้หยางเพื่อเสริมอิน ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนแบบผสมผสาน
LINE OA : @HuachiewTCM
คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน สังกัดมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง
สถานพยาบาลการแพทย์แผนจีนต้นแบบ และเป็นศูนย์กลางการแพทย์แผนจีนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในประเทศไทย
15 ก.ค. 2567
1 ก.ค. 2567
22 ก.ค. 2567