ผู้ป่วยโรคผิวหนังกับการดูแลตนเองในสถานการณ์โรคไวรัสโควิด19

Last updated: 10 ต.ค. 2566  |  8880 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ผู้ป่วยโรคผิวหนังกับการดูแลตนเองในสถานการณ์โรคไวรัสโควิด19

“เวินอี้ (瘟疫)” คือคำที่ใช้เรียกโรคระบาดที่มีความรุนแรงในยุคปัจจุบัน โรคระบาดในทางแพทย์แผนจีนมีบันทึกไว้ตั้งแต่สมัยก่อนราชวงศ์ฉินในคัมภีร์โจวหลี่ (周礼) ว่า “เป็นโรคที่แพทย์มีผู้ป่วยในความดูแลนับหมื่น ไม่ว่าจะฤดูกาลใดก็เกิดขึ้นได้” ในสมัยก่อน เวินอี้ ถูกเข้าใจกันในคำว่า เวินปิ้ง (温病) ความหมายก็คือโรคที่มีสาเหตุจากความร้อน ในคัมภีร์เน่ย จิง (内经) และหนานจิง (难经) ต่างก็จัดเวินอี้ให้อยู่ในประเภทของซางหานปิ้ง (伤寒病) หรือโรคที่มีสาเหตุจากลมเย็นกระทบ

ก่อนหน้าปี ค.ศ.1642 ณ อำเภออู๋ ประสบกับโรคระบาดติดต่อกันนานหลายปี ในหนึ่งตรอกกว่าร้อยหลังคาเรือน ไม่มีบ้านไหนไม่มีคนติด บ้านแต่ละหลังก็มีคนติดโรคกว่าสิบคน และไม่มีใครที่มีชีวิตรอด ในปี ค.ศ.1642 อู๋โย่วเข่อ (吴又可) จึงได้เขียนทฤษฎีเวินอี้ลุ่น (瘟疫论) ขึ้นโดยระบุว่าโรคเวินอี้เป็นโรคที่มีการโจมตีอย่างรุนแรงและเข้าสู่ร่างกายอย่างฉับพลันทางปากและจมูก เน้นทำลายโจมตีเนื้อเยื่อช่องอกและกระเพาะอาหาร โดยแนวทางการวินิจฉัยและการรักษาโรคนั้นแตกต่างจากซางหานปิ้งอย่างสิ้นเชิง


โรคไวรัสโควิด-19 ที่มีการรักษาโดยแพทย์แผนจีนในสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีคำสรุปออกมาว่า “โรคไวรัสโควิด-19 ถือเป็นโรคระบาดชนิด “ซือตู๋อี้ (湿毒疫)” เป็นโรคระบาดที่มีสาเหตุจากพิษและความชื้นเป็นหลัก นอกจากนี้โรคนี้ยังเข้าสู่เส้นลมปราณหรืออวัยวะปอดและม้ามโดยตรง จากทฤษฎีพื้นฐานกล่าวไว้ว่า “ปอดควบคุมผิวหนัง”  “ม้ามและกระเพาะอาหารก็ถือเป็นแม่ของปอด” หากแม่ปกติลูกก็ปกติ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคผิวหนังจำเป็นต้องรู้แนวทางการดูแลตนเองเพิ่มเติมนอกเหนือจากการดูแลตนเองในสถานการณ์ที่มีการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ในบุคคลทั่วไป โดยแบ่งแยกจากลักษณะและสาเหตุการเกิดโรคผิวหนังดังนี้



1. กลุ่มอาการที่มีสาเหตุมาจากลม (风邪致病) 
สาเหตุของโรคผิวหนังจำนวนมาก มักมีสาเหตุมาจากลม ซึ่งลมสามารถทำให้เกิดโรคได้โดยตรง หรืออาจจะก่อโรคร่วมกับปัจจัยก่อโรคภายนอกอื่นๆ ก็ได้ ในขณะที่รูขุมขนของเราปิดไม่สนิทและเว่ยชี่ (ชี่ที่มีหน้าที่ปกป้องร่างกาย) อ่อนแอลง ลมก็จะแทรกเข้ามาอุดกั้นอยู่ที่ผิวหนัง ทำให้ชี่และเลือดไหลเวียนไม่สะดวก ผิวหนังขาดการหล่อเลี้ยง จึงเกิดเป็นโรคผิวหนัง ลักษณะเด่นของโรคผิวหนังที่เกิดจากลม มักมีอาการดังนี้



- การเกิดโรครวดเร็ว ผื่นขึ้นไวยุบไว ตำแหน่งผื่นหรืออาการคันเปลี่ยนไปมา
- เกิดได้ทั้งร่างกาย แต่โดยมากมักจะเป็นส่วนศีรษะและใบหน้า ผิวหนังแห้ง ลอก มีอาการเจ็บ คัน อาการที่มักพบ คือ อาการผื่นลมพิษ ตุ่ม ผิวลอก หรือรังแค ถ้าหากรอยโรคสีซีด เมื่อโดนความเย็นจะกระตุ้นทำให้เกิดอาการ ฝ้าลิ้นบางขาว ชีพจรลอยแน่น มักมีสาเหตุจากลมเย็น หากรอยโรคสีแดง เมื่อโดนความร้อนจะกระตุ้นทำให้เกิดอาการ ฝ้าลิ้นบางเหลือง ชีพจรลอยเร็ว มักมีสาเหตุจากลมร้อน





สมุนไพรที่ใช้ในการรักษาที่เหมาะสม (คลิกที่ชื่อสมุนไพรเพื่ออ่านรายละเอียดของสมุนไพรแต่ละชนิดได้)

1. ฝางเฟิง (防风) รสเผ็ด หวาน ฤทธิ์อุ่นเล็กน้อย เข้าสู่เส้นลมปราณตับ ม้าม กระเพาะปัสสาวะ สรรพคุณ กระจายลมที่มากระทบจากภายนอก ขับความชื้น ระงับปวด ระงับการชัก

2. เก๊กฮวย / จฺหวีฮวา  (菊花) รสเผ็ด หวาน ขม ฤทธิ์เย็นเล็กน้อย เข้าสู่เส้นลมปราณปอดและตับ
สรรพคุณ กระจายลมร้อนที่มากระทบจากภายนอก  สงบตับช่วยให้การมองเห็นชัดขึ้น

3. ป๋อเหอ (薄荷) รสเผ็ด ฤทธิ์เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณปอดและตับ
สรรพคุณ กระจายลมร้อนที่มากระทบจากภายนอก บรรเทาอาการเวียนศีรษะ ขับผื่น ลดการระคายเคืองที่ตาและลำคอ ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย

อาหารที่เหมาะสม อาหารที่ควรทาน
ชาใบมัลเบอรี่  ขิง กระเทียม (สุก) องุ่น ชาดอกแมกโนเลีย ชาจอกแหน

ข้อแนะนำเพิ่มเติม 
1. ยาสมุนไพรแต่ละชนิดมีฤทธิ์ร้อนเย็นต่างกัน  ก่อนใช้หรือก่อนรับประทานควรได้รับการตรวจหรือคำแนะนำจากแพทย์จีนที่มีประสบการณ์การรักษาเฉพาะทางโดยตรง
2.  หลีกเลี่ยงการถูกลมกระทบโดยตรงเป็นเวลานาน เช่น เปิดพัดลมจ่อ เป็นต้น
3. ยาสมุนไพรบางชนิดอาจทำให้มีเหงื่อออกมาก ไม่เหมาะกับคนที่มีร่างกายชนิดพร่อง หรือควรรับประทานแต่น้อย

2. กลุ่มอาการที่มีสาเหตุมาจากความชื้น (湿邪治病) 
โรคผิวหนังที่มีสาเหตุมาจากความชื้นมีมากมาย เช่น ผิวหนังอักเสบในระยะเฉียบพลัน ผื่นแพ้จากสัมผัส การอักเสบของชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ฯลฯ มีทั้งชนิดที่มาจากความชื้นภายนอก หรือ ความชื้นภายใน หรือทั้งภายนอกและภายในร่วมกัน กลไกของอาการเกิดจาก ความชื้นเข้าสู่กล้ามเนื้อและผิวหนังสะสมไม่สลายหายไป

จากนั้นรวมตัวกับเลือดและชี่ ทำให้เกิดอาการตุ่มน้ำ คัน มีน้ำไหลซึม ผิวบริเวณผื่นที่มีปัญหาดูชื้นแฉะฯลฯ โรคผิวหนังที่มีสาเหตุมาจากความชื้นนั้นมีผื่นลักษณะเป็นตุ่มน้ำหรือดูมีปัญหาผิวชื้นแฉะเป็นหลัก มักมีปัญหาที่บริเวณท่อนล่างของร่างกาย ข้อพับแขนขา มีน้ำเหลืองไหลซึมหรือดูเปียกชื้น อาการเป็นๆ หายๆ มีอาการเป็นระยะเวลานาน

หากมีสาเหตุจากความชื้นภายในร่วมด้วยมักมีอาการ แน่นหน้าอก ไม่อยากอาหาร แขนขาหนักร่วมด้วย ลิ้นมีฝ้าขาวเหนียว ชีพจรลอยแผ่วหย่อน หากเกิดจากความชื้นรวมกับความเย็น มักมีอาการแขนขาไม่มีแรง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปลายแขนขาเย็นมีสีซีดหรือม่วงคล้ำร่วมด้วย ลิ้นมีฝ้าขาวบาง ชีพจรหย่อนช้า (โรค / อาการ ที่เกิดจากความชื้นจะรักษายากเนื่องจากตัวความชื้นจะมีลักษณะที่เหนียวหนืดขจัดออกยาก จึงมักจะเป็นๆ หายๆ และจะสัมพันธ์กับอากาศที่มีความชื้นสูง)



สมุนไพรที่เหมาะสม (คลิกที่ชื่อสมุนไพรเพื่ออ่านรายละเอียดของสมุนไพรแต่ละชนิดได้)
1. ผิวส้มจีน / เฉินผี (陈皮) รสขม เผ็ด ฤทธิ์อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณปอดและม้าม
สรรพคุณ  เสริมม้าม ปรับการไหลเวียนของชี่ ช่วยให้การทำงานของม้ามดีขึ้น ขับความชื้น ขับเสมหะ

2. โฮ่วผู่ (厚朴) รสขม เผ็ด ฤทธิ์อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม กระเพาะอาหาร ปอด และลำไส้ใหญ่ สรรพคุณ ขับความชื้น ขับเสมหะ ปรับการไหลเวียนของชี่เพื่อลดอาการแน่นท้อง ลดอาการหอบ

3. ลูกเดือย / อี้อี่เหริน (薏苡仁) รสหวาน จืด ฤทธิ์ค่อนข้างเย็น เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม กระเพราะอาหาร และปอด สรรพคุณ ขับปัสสาวะและความชื้น เสริมม้ามแก้ท้องเสีย ระบายความร้อน

4. ถั่วแดง (赤小豆) รสหวาน จืด ฤทธิ์สุขุม เข้าสู่เส้นลมปราณหัวใจ และลำไส้เล็ก
สรรพคุณ ขับปัสสาวะ ลดบวม ขับพิษ ขับความชื้น

อาหารที่เหมาะสม อาหารที่ควรทาน 
ลูกเดือย ถั่วแดง มันเทศ ถั่วเขียว ถั่วงอก ข้าวโอ๊ต ข้าวฟ่าง แครอท ข้าวกล้อง

ข้อแนะนำ 
1. หลีกเลี่ยงอาหารหรือยาสมุนไพรชนิดที่มีฤทธิ์เย็น หรือมีสรรพคุณขับความร้อน ทำให้เลือดเย็น หรือเครื่องดื่มใส่น้ำแข็ง หรือเครื่องดื่มเย็นจัด
2. หลีกเลี่ยงอาหารมัน อาหารหวาน ขนมหวาน
3. หลีกเลี่ยงการอยู่แต่ในห้องแอร์ตลอดเวลาหรือเปิดแอร์เย็นจัด
4. ออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายให้พอเหงื่อออกเล็กน้อย เพื่อกระตุ้นระบบการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยเสริมภูมิคุ้นกัน (ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักๆ ที่ทำให้เหงื่อออกมากเกินไป)
5. หากมีน้ำเหลืองหรือผิวหนังชื้นแฉะสามารถประคบน้ำเกลือ (น้ำเกลือล้างแผล) ได้วันละ 1-2 ครั้ง ครั้งละ 10นาที

3. กลุ่มอาการที่มีสาเหตุจากความร้อน (热邪致病) 
ความร้อนเป็นปัจจัยก่อโรคชนิดหยาง ซึ่งความร้อนหากรุนแรงจะกลายเป็นไฟ ซึ่งหากมีความร้อนเล็กน้อย จะทำให้เกิดอาการคัน แต่หากความร้อนรุนแรงจะทำให้เกิดอาการเจ็บแสบ ไม่ว่าจะเป็นความร้อนจากภายนอก หรือความร้อนจากภายใน หากติดขัดอยู่ที่บริเวณผิวหนังไม่สามารถขับออกไปได้ก็จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคผิวหนัง ความร้อนมีลักษณะลอยขึ้นข้างบน ทำให้เกิดโรคและแผ่บริเวณออกเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว ดังนั้นผู้ป่วยมักมีอาการที่ส่วนบนของร่างกาย หากความร้อนมาก ก็จะทำให้มีอาการแดง ปวดแสบปวดร้อน และมักมีอาการร่วมทั้งร่างกาย คือ มีไข้ กระหายน้ำ ท้องผูก ปัสสาวะเหลือง ฝ้าลิ้นเหลือง ชีพจรเร็ว



สมุนไพรที่เหมาะสม (คลิกที่ชื่อสมุนไพรเพื่ออ่านรายละเอียดของสมุนไพรแต่ละชนิดได้)

1. ดอกสายน้ำผื้ง / จิ๋นอิ๋นฮวา  (金银花) รสหวาน ฤทธิ์เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณปอด หัวใจ และกระเพาะอาหาร สรรพคุณ ขจัดความร้อนและขับพิษ กระจายลมร้อนที่มากระทบจากภายนอก

2. เหลียนเฉียว (连翘) รสขม ฤทธิ์เย็นเล็กน้อย เข้าสู่เส้นลมปราณปอด หัวใจ และถุงน้ำดี สรรพคุณ กระจายลมร้อนที่มากระทบจากภายนอก ขจัดความร้อนและขับพิษ ลดบวม สลายก้อน

3. ป่านหลานเกิน (板蓝根) รสขม ฤทธิ์เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณหัวใจ และกระเพาะอาหาร
สรรพคุณ กระจายลมร้อนที่มากระทบจากภายนอก ขจัดความร้อนและขับพิษ แก้เจ็บคอ

อาหารที่เหมาะสม อาหารที่ควรทาน  
ถั่วเขียว สาลี่ แตงโม แตงกวา แห้ว ฟัก

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง 
1. หลีกเลี่ยงอาหารฤทธิ์ร้อน เช่น ทุเรียน ของเผ็ด เนื้อวัว เนื้อแกะ เป็นต้น
2. ใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ถ้ารับประทานยาสมุนไพรหรืออาหารที่มีฤทธิ์เย็นต่อเนื่องนานๆ จะทำให้ม้ามและกระเพาะอาหารอ่อนแอ
3. หลีกเลี่ยงการอบซาวน่า

4. กลุ่มอาการที่มีสาเหตุมาจากแมลง (虫邪致病) 
โรคผิวหนังที่เกิดจากแมลงมีลักษณะผื่นหลากหลายแตกต่างกันไปตามชนิดแมลงที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค กลุ่มแรกคือโรคที่มีสาเหตุจากปรสิต เช่น โรคหิดที่เกิดจากตัวหิด หรือ เชื้อราที่ทำให้เกิดฮ่องกงฟุต กลาก เชื้อราที่เล็บ 

กลุ่มที่สองคือโรคหรือผื่นที่เกิดจากพิษของแมลงเข้าสู่ร่างกายหรือแพ้พิษของแมลง เช่น ยุง ตัวเรือด ตัวริ้น เหา นอกจากนี้ยังมีโรคที่เกิดจากการแพ้พยาธิ พิษจากปรสิตในสัตว์ปีก พิษจากหนอนหม่อนและพิษจากหนอนผีเสื้อที่พบได้บ่อย

ในสมัยโบราณ วิทยาศาสตร์ตะวันตกยังไม่เข้าสู่แผ่นดินจีน ในคัมภีร์โบราณจึงจัดโรคที่เกิดจากเชื้อราอยู่ในกลุ่มของโรคที่เกิดจากแมลง รวมไปถึงอาการคันของผิวหนังที่ใช้คำว่าแมลงมาอธิบาย เช่น คันเหมือนมีแมลงไต่ แต่ในความจริงไม่ใช่โรคที่เกิดจากแมลง โรคผิวหนังที่มีสาเหตุมาจากแมลงจะมีอาการคันมาก บางโรคอาจมีน้ำเหลืองชื้นแฉะ บางโรคอาจติดต่อได้ บางโรคอาจมีผื่นเป็นขุยสีขาวที่ใบหน้าและอาจมีอาการปวดท้องและพบไข่พยาธิในอุจจาระร่วมด้วย




สมุนไพรที่เหมาะสม : (กรณีที่เกิดจากแมลงสัตว์กัดต่อย)
1. ดอกสายน้ำผื้ง / จิ๋นอิ๋นฮวา  (金银花) รสหวาน ฤทธิ์เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณปอด หัวใจ และกระเพาะอาหาร สรรพคุณ ขจัดความร้อนและขับพิษ กระจายลมร้อนที่มากระทบจากภายนอก

2. ผู่กงอิง (蒲公英) รสขม หวาน ฤทธิ์เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณตับ และกระเพาะอาหาร
สรรพคุณ ขจัดร้อนขับพิษ ขับความชื้น

3. ไป๋เซี่ยนผี (白鲜皮) รสขม ฤทธิ์เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม กระเพราะอาหาร และกระเพาะปัสสาวะ สรรพคุณ ขจัดความร้อน ขับความชื้น ขับพิษ ขับกระจายลม

4. ไท่จื่อเซิน (太子参) รสหวาน ขมเล็กน้อย ฤทธิ์สุขุม เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม และปอด
สรรพคุณ บำรุงชี่และเสริมม้าม สร้างสารจินและทำให้ปอดชุ่มชื้น

อาหารที่เหมาะสม อาหารที่ควรทาน  
ลูกเดือย ถั่วเขียว ถั่วงอก เก๊กฮวย มะระ ชาอัสสัม มะเขือเทศ ฟัก แตงกวา มันเทศ ผักกาดขาว เผือก คึ่นช่าย แครอท

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง 
1. หลีกเลี่ยงการแคะ แกะ เกา รวมถึงการบีบเพื่อเค้นเลือดหรือน้ำเหลือง
2. หลีกเลี่ยงอาหารมัน รสจัด อาหารที่มีฤทธิ์ร้อนจัด
3. หมั่นรักษาความสะอาดสถานที่พักอาศัย และหมั่นกำจัดสาเหตุของการมีแมลงในสถานที่พักอาศัย
4. เวลาเก็บผ้าที่ซักแล้วควรสะบัดก่อนทำการพับเก็บ และ หลีกเลี่ยงการตากผ้าในบริเวณที่มีแมลงชุกชุม
5. หากเด็กเล็กจะออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้านควรทายากันแมลงก่อน
6. หากแมลงก้นกระดกมาเกาะที่ผิวไม่ควรใช้มือบี้ บีบ หรือปัดแมลง 
7. หากมีน้ำเหลืองหรือผิวหนังชื้นแฉะสามารถประคบน้ำเกลือ (น้ำเกลือล้างแผล) ได้วันละ 1-2 ครั้ง ครั้งละ 10นาที
8. หากมีอาการคันมากอาจใช้น้ำต้มใบป๋อเหอทาเฉพาะจุด

5. กลุ่มอาการที่มีสาเหตุมาจากพิษ (毒邪致病) 
พิษสามารถแบ่งได้เป็นพิษจากอาหาร จากยา จากแมลง เป็นต้น เนื่องจากพิษที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังส่วนมากเกิดจากการได้รับพิษ หรือ พื้นฐานร่างกายเกิดปฏิกิริยาการแพ้ต่อสิ่งๆ นั้น มักมีประวัติการได้รับพิษจากการรับประทาน เคยรับประทานยาบางชนิด สัมผัสบางอย่าง หรือมีประวัติถูกแมลงมีพิษกัดต่อย โดยจำเป็นต้องผ่านระยะแฝงก่อนการเกิดโรค มีอาการแสดง ได้แก่ บริเวณผิวหนังบวมแดง เกิดตุ่ม ตุ่มน้ำ ผื่นนูน แผลเปื่อย  และสามารถเกิดรอยโรคได้หลายรูปแบบ หรืออาจมีอาการคัน หรือปวด

หากอาการไม่รุนแรงจะเป็นเฉพาะที่ ในรายที่อาการหนักจะแสดงอาการทั้งตัว ระยะของโรครวดเร็วและหายเร็วเช่นกัน ในผู้ป่วยหนัก ผิวหนังอาจบวมใหญ่ เกิดตุ่มน้ำขนาดใหญ่ เมื่อตุ่มน้ำแตกจะมีของเหลวไหลออก ผิวหนังหลุดลอกเป็นชั้นๆ อาจรุนแรงถึงชีวิตได้



สมุนไพรที่เหมาะสม 
1. ถั่วเขียว (绿豆) รสหวาน ฤทธิ์เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณหัวใจ และกระเพาะอาหาร
สรรพคุณ ขจัดความร้อน ขับพิษ ขับปัสสาวะ สามารถป้องกันและขับพิษจากการยาพิษ ยากำจัดศัตรูพืช หรืออาหารที่มีพิษ น้ำต้มถั่วเขียวเป็นตำรับยาที่ช่วยขับพิษได้ดี อาจรับประทานเป็นผัดถั่วงอก โจ๊กถั่วเขียว หรือซุปถั่วเขียว

2. เบญจมาศสวน (野菊花) รสเผ็ด ขม ฤทธิ์ค่อนข้างเย็น เข้าสู่เส้นลมปราณปอด และตับ สรรพคุณ ขจัดความร้อนขับพิษ มักใช้กับฝีต่างๆ รักษาอาการตาบวมแดง ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ

3. ไป๋ฮวาเสอเสอเฉ่า (白花蛇舌草) รสหวาน ขมเล็กน้อย ฤทธิ์เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณกระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ และลำไส้เล็ก สรรพคุณ ขจัดความร้อนขับพิษ ขจัดความชื้นขับปัสสาวะ รักษาฝีบวมแผลมีพิษ ลำคอบวมแดง พิษจากงูกัด

4. ผักเบี้ยใหญ่ (马齿苋) รสเปรี้ยว ฤทธิ์เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณลำไส้ใหญ่ และตับ
สรรพคุณ ขจัดความร้อนขับพิษ ทำให้เลือดเย็นห้ามเลือด

อาหารที่เหมาะสม อาหารที่ควรทาน  
มะระ หัวไชเท้า แครอท ลูกเดือย ผักกาดขาว ฟักเขียว ขึ้นฉ่าย สาหร่ายคมบุ

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง 
1. หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด รสเผ็ด เครื่องเทศกลิ่นฉุน อาหารทะเล (กุ้ง หอย ปลาหมึก ปู) ของแสลงต่างๆ รวมถึงเนื้อวัว เนื้อแพะ ผลไม้ที่ควรเลี่ยงจำพวก ทุเรียน มะม่วง ลำไย เงาะ
2. สวมใส่เสื้อผ้าที่ใส่สบายเนื้อผ้าควรเลือกที่ทำจากผ้าฝ้าย
3. พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้แจ่มใส

6. กลุ่มอาการที่มีสาเหตุจากเลือดคั่ง (血瘀凝滞) 
ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยก่อโรคภายนอกทั้งหก ปัจจัยจากอารมณ์ทั้งเจ็ดต่างก็สามารถทำให้การไหลเวียนชี่ติดขัดได้ ชี่เปรียบเสมือนผู้บังคับบัญชาเลือด หากเลือดไหลเวียนสะดวกชี่ก็ไหลเวียน หากชี่ติดขัดเลือดก็ไหลเวียนไม่สะดวก นานวันไปจนทำให้เกิดภาวะเลือดคั่ง

กลุ่มอาการเลือดคั่งมักพบในโรคผิวหนังเรื้อรัง ลักษณะเด่นๆ ของผื่นจะมีผิวสีคล้ำ สีม่วงแดง เขียวคล้ำ หรือผิวหนังแห้งแตกเป็นเกล็ด ผิวดำคล้ำ ผิวหนังหนาผิวขรุขระ ตุ่มก้อนใต้ผิวหนัง แผลเป็นคีลอยด์ ลิ้นสีม่วงคล้ำหรือมีจุดม่วงคล้ำ ชีพจรตึงฝืด เป็นต้น




สมุนไพรที่เหมาะสม 
1. ขมิ้นชัน / เจียงหวง (姜黄) รสเผ็ด ขม ฤทธิ์อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณ ตับ และม้าม
สรรพคุณ แก้ปวด กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและชี่ ทำให้ประจำเดือนมาปกติ

2. ดอกคำฝอย / หงฮวา (红花) รสเผ็ด ฤทธิ์อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณหัวใจ และตับ
สรรพคุณ กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทะลวงเส้นลมปราณ ขจัดเลือดคั่ง ระงับปวด

3. ชวนซยง (川芎) รสเผ็ด ฤทธิ์อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณตับ น้ำดี และเยื่อหุ้มหัวใจ
สรรพคุณ กระตุ้นการไหลเวียนของชี่และเลือด ขจัดลมระงับปวด

อาหารที่เหมาะสม อาหารที่ควรทาน  

มะเขือเทศ ปลา เห็ดหูหนู ขิง หอมแดง มะเขือยาว พุทราจีน ตังกุย เมล็ดท้อ

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง 
1. หลีกเลี่ยงอาหารหรือยาสมุนไพรชนิดที่มีฤทธิ์เย็น หรือมีสรรพคุณขับความร้อน ทำให้เลือดเย็น หรือเครื่องดื่มใส่น้ำแข็ง หรือเครื่องดื่มเย็นจัด
2. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันหรือคลอเรสเตอรอลสูง
3. เน้นทานผักผลไม้มากกว่าทานเนื้อสัตว์
4. หากมีอาการคันบริเวณผิวหนังหรือแสบร้อนบริเวณผิวหนังไม่แนะนำให้ประคบเย็น หรือใช้น้ำเย็น หรือน้ำแข็งลูบหรือประคบบริเวณที่มีอาการ
5. ออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายให้พอเหงื่อออกเล็กน้อย เพื่อกระตุ้นระบบการไหลเวียนเลือด
6. พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้แจ่มใส
7. ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการทานยาละลายลิ่มเลือดการทานอาหารหรือยาเหล่านี้ไม่ควรทานในปริมาณที่มากเกินไปหากมีอาการรุนแรงควรปรึกษาแพทย์

7. กลุ่มอาการที่มีสาเหตุจากเลือดพร่องทำให้เกิดลม (血虚风燥)  
มักพบในกลุ่มโรคผิวหนังเรื้อรังที่มีอาการคันระยะยาว อาหารการกิน การพักผ่อนที่ไม่เหมาะสม  ทำให้หน้าที่ในการลำเลียงสารอาหารของม้ามและกระเพาะอาหารผิดปกติ สูญเสียหน้าที่ผลิตเลือดและอิน จนทำให้เกิดภาวะเลือดพร่องและเกิดลม หรือมีปัจจัยก่อโรคภายนอกจากลมและความชื้นสะสมมาระยะหนึ่ง เกิดความร้อนเกิดไฟกระทบอินและเลือด ทำให้อินและเลือดพร่อง

หรือมีระยะเวลาการดำเนินของโรคมายาวนาน ร่างกายอ่อนแอทำให้เลือดพร่องเกิดลม จากการที่เลือดน้อยทำให้ไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงผิวหนัง ผิวหนังขาดความชุ่มชื้น เมื่อเลือดน้อยจึงทำให้เกิดลม เมื่อลมคั่งค้างที่ผิวหนังจึงมักมีอาการผิวหนังแห้ง ผิวหนังสากหนา เป็นขุย มีอาการคันหรือเจ็บ ร่วมกับมีอาการเวียนศีรษะ ตาลาย สีหน้าซีดขาว ฝ้าลิ้นบาง ชีพจรเล็กลอยเป็นต้น มักพบในโรคสะเก็ดเงิน ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบชนิดเรื้อรัง เป็นต้น



สมุนไพรที่เหมาะสม 
1. ตังกุย (当归) รสหวาน เผ็ด ฤทธิ์อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณตับ หัวใจ และม้าม
สรรพคุณ บำรุงเลือด ช่วยการไหลเวียนของเลือด ปรับสมดุลประจำเดือน ระงับปวด

2. ลำไยอบแห้ง (龙眼肉) รสหวาน ฤทธิ์อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณ หัวใจ และม้าม
สรรพคุณ บำรุงม้ามและหัวใจ บำรุงเลือดสงบจิตใจ

3. เออเจียว (阿胶) รสหวาน ฤทธิ์สุขุม เข้าสู่เส้นลมปราณปอด ตับ และไต
สรรพคุณ บำรุงเลือด ทำให้เลือดหยุดไหล เสริมอินทำให้ชุ่มชื้น

อาหารที่เหมาะสม อาหารที่ควรทาน  
พุทราจีน ตับหมู เนื้อสัตว์ งาดำ รากบัว ลูกเกด(ดำ) ข้าวเหนียวดำ ไก่ดำ ผักขม ถั่วลิสง เก๋ากี้

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง 
1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รับประทานอาหารให้ตรงเวลา และรับประทานอาหารในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน
2. เข้านอนไม่เกิน 5ทุ่ม และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
3. ทาโลชั่นหรือครีมให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวทุกวันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
4. หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีฤทธิ์ร้อนจัดหรือเย็นจัดเกินไป
5. หลีกเลี่ยงการอยู่ในห้องแอร์ หรือเปิดแอร์ในอุณหภูมิที่ต่ำเกินไป
6. หลีกเลี่ยงการอาบน้ำด้วยน้ำร้อนจัด

8. กลุ่มอาการที่มีสาเหตุมาตับและไตพร่อง (肝肾不足)  
ในทฤษฏีการแพทย์แผนจีนกล่าวไว้ว่า หากเลือดตับพร่อง ขาดการหล่อเลี้ยงบริเวณเล็บ ปรากฏอาการ “เล็บหนาตัวแห้งและเปราะ” หากตับพร่องเลือดแห้ง เส้นลมปราณเส้นเอ็นไม่แข็งแรงเกิดเป็น “หูด” เส้นลมปราณตับเกิดไฟเลือดติดขัดอาจก่อให้เกิด “ไฝแดง”

สารจิง (精) ในไตเป็นสารจำเป็นของร่างกาย หากเพียงพอทำให้ขาดการหล่อเลี้ยงที่เส้นผม ส่งผลเส้นผมแห้งและหลุดร่วงได้ง่าย หากไตพร่องจะไม่สามารถเก็บกักคุณสมบัติไว้ภายในได้ สูญออกสู่ร่างกายส่วนนอกเป็นเหตุให้ใบหน้าเกิดฝ้าสีเข้ม ส่วนใหญ่แล้วโรคผิวหนังที่เกิดจากตับไตพร่องมักมีระยะเวลาเป็นมานาน นอกจากนี้รอยโรคที่ผิวหนังจะแห้ง หยาบสาก ลอกเป็นขุยหรือมีลักษณะเส้นผมแห้ง ผมร่วง เกิดรอยจุดด่างดำที่ใบหน้าขอบตา เล็บเกิดความเสียหาย หรือ อาจเกิดหูด ไฝเลือด เป็นต้น

นอกจากนี้การเกิดและการดำเนินของโรคผิวหนังมีความเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต การตั้งครรภ์ และประจำเดือน มักมีอาการแสดงร่วมทั้งตัวได้แก่ เวียนศีรษะ ตาลาย หูอื้อ ใบหน้าร้อนวูบวาบ ปวดเมื่อยเอวและหัวเข่า นอนไม่หลับฝันเยอะ ฝันเปียก ลิ้นสีแดง สารน้ำ (จิน津) น้อย ฝ้าน้อยหรือไม่มีฝ้า ชีพจรตึงเล็กเป็นต้นซึ่งเป็นอาการแสดงของสารอินตับไตพร่อง พบอาการร่วมได้แก่ ใบหน้าขาวซีด ขี้หนาว แขนขาเย็น ปวดเมื่อยเอวหัวเข่า มึนศีรษะ หูอื้อ หย่อนสมรรถภาพทางเพศ ลิ้นฝ้าขาว ตัวลิ้นบวม ขอบลิ้นมีรอยฟัน ชีพจรลึกเล็กเป็นต้นจะเป็นอาการของไตหยาง (肾阳) ไม่เพียงพอ


สมุนไพรที่เหมาะสม 
1. เก๋ากี้ (枸杞子) โก่วฉีจื่อ หรือ โกจิเบอรี่สหวาน ฤทธิ์สุขุม เข้าสู่เส้นลมปราณตับ และไต สรรพคุณ บำรุงตับและไต เสริมสารจิง (精) ของไต ช่วยให้มองเห็นชัดขึ้น เหมาะกับอาการอ่อนเพลียจากสารจิงพร่อง บรรเทาอาการปวดเมื่อยเอวและหัวเข่า เวียนศีรษะ หูอื้อ ร้อนในกระหายน้ำ เลือดพร่อง ตาพร่ามัวมองไม่ชัด

2. ผลหม่อน (桑椹) รสเปรี้ยว หวาน ฤทธิ์เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณหัวใจ ตับ และไต
สรรพคุณ บำรุงเลือดและอิน เสริมสารจินทำให้ชุ่มชื้น เหมาะกับอาการเวียนศีรษะ หูอื้อ ใจสั่น นอนไม่หลับ ผมขาวก่อนวัย กระหายน้ำคอแห้งเลือดพร่องท้องผูก

3. งาดำ (黑芝麻) รสหวาน ฤทธิ์สุขุม เข้าสู่เส้นลมปราณตับ ไต และลำไส้ใหญ่
สรรพคุณ บำรุงตับและไต เสริมสารจิงและเลือด ทำให้ลำไส้ชุ่มชื้น ใช้กับอาการเวียนศีรษะตาลาย หูอื้อหูมีเสียง ผมขาวก่อนวัย แก้ท้องผูก

4. ซันจูยหวี (山茱萸) รสเปรี้ยว ฝาด ฤทธิ์อุ่นเล็กน้อย เข้าสู่เส้นลมปราณตับ และไต
สรรพคุณ บำรุงตับและไต เก็บกักสารจิง ใช้กับอาการเวียนศีรษะ หูอื้อ ปวดเมื่อยเอว ปวดหัวเข่า ฝันเปียก เหงื่อออกปริมาณมาก ร้อนในกระหายน้ำ

อาหารที่เหมาะสม อาหารที่ควรทาน  
ถั่วดำ เห็ดหูหนูดำ ปลิงทะเล เกาลัด ตับหมู ตับไก่ หอยเชลล์แห้ง กุยช่าย

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง 
1. ในคนที่ผิวแห้ง ควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น หลีกเลี่ยงใช้สบู่ชนิดก้อนควรใช้ครีมอาบน้ำที่มีฤทธิ์อ่อนโยน
2. ระวังไม่ให้ผิวแห้งเกินไป พยายามอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอุณหภูมิไม่ต่างกันมาก ใช้โลชั่นบำรุงผิวอย่างเหมาะสม ปกป้องระวังไม่ให้ผิวแห้งเกินไปหรือหลีกเลี่ยงการโดนความเย็นแบบกะทันหัน หรือการอยู่ในห้องแอร์เป็นเวลานาน
3. งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รับประทานปลา กุ้ง ปู ในปริมาณน้อย รวมถึงอาหารแสลงต่างๆ

* หมายเหตุ *
เนื่องจากสภาพร่างกายหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคในผู้ป่วยบางรายมีความซับซ้อนอาจไม่ได้มีเพียงสาเหตุเดียวหากไม่แน่ใจว่าตนเองอยู่กลุ่มไหน ควรปรึกษาแพทย์จีนที่มีใบประกอบโรคศิลปะที่ถูกต้องตามกฎหมายก่อนรับประทาน

บทความโดย ทีมแพทย์จีนแผนกอายุรกรรมผิวหนัง
คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน

1. แพทย์จีนณัฐฐิมา เตชะพิพัฒน์ชัย
2. แพทย์จีนสมเกียรติ พัดอินท
3. แพทย์จีนคณิฏฐ์ษา จิรัฐิติกาล
4. แพทย์จีนมนัญญา อนุรักษ์ธนากร

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้