นวดทุยหนารักษาอาการปวดศีรษะจากความเครียด Tension-type headache

Last updated: 10 ต.ค. 2566  |  13937 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นวดทุยหนารักษาอาการปวดศีรษะจากความเครียด Tension-type headache

อาการปวดศีรษะคล้ายกับมีอะไรมาบีบรัดบริเวณศีรษะ ตื้อๆ หนักๆ ปวดพอรำคาญ อาจเกิดเวลาใดก็ได้ ระยะเวลาที่มีอาการไม่แน่นอน ส่วนใหญ่มักมีอาการหลายชั่วโมง หรือตลอดทั้งวัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค อาการปวดจะรุนแรงขึ้นเมื่อมีความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือ ใช้สายตาเป็นระยะเวลานาน

กายวิภาคศาสตร์ของกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะ



กล้ามเนื้อบริเวณศีรษะและต้นคอที่มักทำให้เกิดอาการปวดศีรษะจากความเครียด เช่น Occipitofrontalis, Masseter, Sternocleidomastoid, Splenius, Temporalis และ Trapezius muscles เป็นต้น

จุดเกาะของกล้ามเนื้อ



กลไกของการเกิดโรคปวดศีรษะจากความเครียด
อาการปวดศีรษะของผู้ป่วยโรคนี้เป็นผลมาจากมีการเกร็งตัว ตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะและใบหน้า ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุและกลไกของการเกิดโรคอย่างแน่ชัด สันนิษฐานว่าเกิดจากมีสิ่งเร้ากระตุ้นที่กล้ามเนื้อและพังผืดบริเวณรอบกะโหลกศีรษะ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการทำงานของระบบประสาทขึ้นตรงประสาทส่วนกลาง (อาจเป็นบางส่วนของไขสันหลัง หรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ที่เลี้ยงบริเวณศีรษะและใบหน้า) แล้วส่งผลกลับมาที่กล้ามเนื้อรอบกะโหลกศีรษะ ทำให้เกิดการเกร็งตัว ตึงตัวของกล้ามเนื้อดังกล่าว รวมทั้งอาจมีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมี เช่น เอนดอร์ฟิน ซีโรโทนิน ในเนื้อเยื่อดังกล่าว ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ส่วนใหญ่มักพบว่ามีสาเหตุกระตุ้น เช่น ความเครียด หิวข้าว พักผ่อนไม่เพียงพอ ใช้สายตามากเกินไป

นอกจากนี้ยังพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีโรควิตกกังวล ซึมเศร้า ความผิดปกติทางอารมณ์ หรือ ช่วงสถาณการณ์ที่ต้องมีการปรับตัว บางครั้งอาจพบร่วมกับโรคปวดศีรษะไมเกรน เป็นต้น

อาการโรคปวดศีรษะจากความเครียด



มีอาการปวดศีรษะเหมือนมีเข็มขัดรัดบริเวณหน้าผาก กลางศีรษะ ขมับ หรือท้ายทอย ต่อเนื่องหลายชั่วโมง ตลอดทั้งวัน หรือหลายวัน ระดับความปวดจะคงที่ไม่รุนแรง ปวดพอรำคาญ อาจมีความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ร่วมด้วย

อาการของโรคปวดศีรษะจากความเครียดเพียงอย่างเดียวจะมีความใกล้เคียงกับหลายโรค ลักษณะเด่นคือจะไม่มีอาการอื่นร่วม เช่น ชา ปวดร้าวลงแขน อาเจียน บ้านหมุน เป็นต้น

การตรวจร่างกาย



จุดกดเจ็บ
หรือบริเวณที่มีอาการปวดสามารถบ่งบอกถึงปัญหาของกล้ามเนื้อแต่ละส่วนได้

 การ X – ray
ในกรณีที่มีอาการปวดศีรษะร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ชา ปวดร้าวลงแขน อาเจียน เป็นต้น เพื่อเป็นการแยกโรคปวดศีรษะจากความเครียดออกจากโรคอื่นๆ

การรักษาโรคปวดศีรษะจากความเครียด
ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน

กลไกของการเกิดโรคปวดศีรษะจากความเครียดตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน



ตามหลักตารางปัญจธาตุ อารมณ์ของดินคือ ความกังวล ครุ่นคิด ผู้ป่วยที่มีความเครียดจะส่งผลให้ดินอ่อนแอลง เมื่อดินอ่อนแอลง แต่การเล่นเกมส์ที่ต้องใช้สายตามาก ทำให้ไม้ที่มีอวัยวะรับสัมผัสคือตา อาจทำลายการทำงานของดินได้ ซึ่งเนื้อเยื่อของดินคือกล้ามเนื้อ หากดินอ่อนแอลงก็เสมือนกับกล้ามเนื้อที่ไม่แข็งแรง ส่งผลให้มีอาการปวดเรื้อรัง ขาดการหล่อเลี้ยง เลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อเกร็งตึง

หลักการรักษา
กระตุ้นการไหลเวียนเลือดระงับปวด คลายเส้นเอ็นทะลวงเส้นลมปราณ (活血止痛,舒筋通络)

การนวดทุยหนา
ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้ออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อได้มากขึ้น คลายความอ่อนล้า คลายความหนาแน่นของพังผืด ลดโอกาสเสี่ยงของอาการปวดแน่นตึง

1. กระตุ้นการไหลเวียนเลือดระงับปวด
ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่ง ผู้ทำหัตถการยืนด้านหลัง ใช้ท่ากลิ้ง (กุ๋นฝ่า㨰法) บริเวณกล้ามเนื้อ trapezius

2. คลายเส้นเอ็นทะลวงเส้นลมปราณ
ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่ง ผู้ทำหัตถการยืนด้านหลัง ใช้ท่ากด(อั้นฝ่า按法)บริเวณศีรษะตามแนวเส้นตู (督脉 GV), เส้นกระเพาะปัสสาวะ (膀胱经 BL),เส้นซานเจียว (三焦经 TE)

3. อบอุ่นเส้นลมปราณปรับโครงสร้าง
ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่ง ผู้ทำหัตถการยืนด้านข้างใช้ท่าดึงยืด(ปาเชินฝ่า拔伸法)บริเวณต้นคอขึ้นทางด้านบนช้าๆ ค้างไว้ 5–10 วินาที จากนั้นปล่อยลงช้าๆ ทำซ้ำ 3–5 รอบ

การฝังเข็ม
จุดกดเจ็บ (阿是穴)
ตำแหน่ง : บริเวณศีรษะ หากกดแล้วเจ็บแสดงว่าเป็นจุดกดเจ็บ (阿是穴)
ข้อบ่งใช้ : คลายกล้ามเนื้อ ทะลวงเส้นลมปราณ

จุดเหอกู่ (LI4合谷)
จุดเฟิงฉือ(GB20风池)
จุดไป่หุ้ย (GV20 百会)
จุดไท่หยาง (EX-HN5 太阳)

"การรักษาโดยใช้ยาจีน"
ตำรับเก๋อเกินซื่อชงซ่าน (葛根四虫散) 
หลักการรักษา
กระตุ้นการไหลเวียนเลือดสลายคั่งบำรุงเลือดทะลวงเส้นลั่ว,บำรุงอินตับไตเสริมกระดูก (活血化瘀养血通络,大补肝肾养阴壮骨)
เหมาะสำหรับ กลุ่มอาการปวดคอบ่า ปวดตึงศีรษะ
วิธีใช้ กินวันละ 2 มื้อ หลังอาหาร 30 นาที
ข้อควรระวัง หากมีอาการแพ้ควรหยุดกินทันทีและปรึกษาแพทย์

"การพอกยา" (ยาใช้ภายนอก)
ยาพอกตำรับเซียวจ่งซ่าน (消肿散加减) 
หลักการรักษา ลดบวมระงับปวด (消肿止痛)
เหมาะสำหรับ กล้ามเนื้ออักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน
วิธีใช้ บดเป็นผงผสมกับน้ำ ใช้พอกบริเวณที่มีอาการปวด หรือจุดต้าจุย (GV14 大椎)  วันละ 1 ครั้ง 4-6 ชั่วโมง
ข้อควรระวัง หากมีอาการแพ้ คัน ผื่นแดง ควรรีบหยุดใช้และปรึกษาแพทย์

ยาพอกตำรับฮั่วเซฺวี่ยซ่าน  (活血散加减)
หลักการรักษา คลายเส้นเอ็นกระตุ้นการไหลเวียนเลือด สลายคั่งลดปวด (舒筋活血,散瘀止痛)
เหมาะสำหรับ ปวดตึงกล้ามเนื้อ
วิธีใช้ บดเป็นผง ผสมกับน้ำอุ่นใช้พอกบริเวณที่มีอาการปวด หรือจุดต้าจุย (GV14 大椎)  วันละ 1 ครั้ง ประมาน 4-6 ชั่วโมง
ข้อควรระวัง หากมีอาการแพ้ คัน ผื่นแดง ควรรีบหยุดใช้และปรึกษาแพทย์

"การอบยา"
ตำรับไห่ทงผีทัง  (海桐皮汤加减)
หลักการรักษา  ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนสลายคั่ง ทะลวงเส้นลมปราณระงับปวด (活血散瘀,通络止痛)
เหมาะสำหรับ คลายกล้ามเนื้อ ระงับปวด
วิธีใช้ อบบริเวณคอบ่า วันละ 1 ครั้ง ประมาน 15-20 นาที

ข้อควรระวัง
ไม่แนะนำให้อบบริเวณคอบ่า ในกรณีผู้ป่วยความดันสูง หากมีอาการแพ้ คัน ผื่นแดง ควรรีบหยุดใช้และปรึกษาแพทย์

การดูแลตัวเอง
1. ก่อนเล่นกีฬาควรยืดกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอบ่า เพิ่มความยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ ประมาณ 10-15 นาที
2. ระหว่างเล่นกีฬาควรจัดท่านั่งตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomics) คือ การจัดหรือปรับสภาพแวดล้อมของสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ของเครื่องมือการทำงานให้เข้ากับผู้ปฏิบัติงานได้ รวมไปถึงการปรับสรีระของร่างกายเพื่อให้การทำงานสะดวกสบายขึ้น 
3. หลีกเลี่ยงการก้มศีรษะเป็นระยะเวลานานกว่า 30 นาทีขึ้นไป
4.  ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร
5. หลับตาผ่อนคลายกล้ามเนื้อรอบดวงตา หรือมองต้นไม้สีเขียว เพื่อคลายความอ่อนล้า
6. ฝึกหายใจเข้าออก โดยเวลาหายใจเข้าให้ท้องพอง หายใจออกให้ท้องแบน ทำอย่างช้าๆเป็นประจำ เพื่อเพิ่มออกซิเจนในเลือด
7. ควรทำกิจกรรมอย่างอื่น ออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลายอย่างสม่ำเสมอ
8. พักผ่อนให้เพียงพอ ควรเข้านอนประมาน 22.00 - 22.30 น.

ข้อมูลเพิ่มเติม
จุดเหอกู่ (LI4合谷)



ตำแหน่ง อยู่หลังมือระหว่างกระดูก metacarpal ที่ 1 และ 2 ระดับกึ่งกลางกระดูก metacarpal ที่ 2
ข้อบ่งใช้ โรคตามเส้นลมปราณ โรคจากความร้อน

จุดเฟิงฉือ(GB20 风池)


ตำแหน่ง : อยู่เหนือชายผมด้านหลัง 1 ชุ่น ตรงรอยบุ๋มระหว่างส่วนบนของกล้ามเนื้อ sterno cleidomastoid กับกล้ามเนื้อ trapezius (อยู่กึ่งกลางระหว่างจุดเฟิงฝู่ กับจุดอี้เฟิง)

ข้อบ่งใช้
ปวดศีรษะ วิงเวียน ตาแดง ไข้หวัด ไซนัสอักเสบ เลือดกําเดาไหล หูมีเสียงดัง โรคจิต อาละวาด ลมชักมาลาเรียปวดเกร็งท้ายทอย โรคเส้นเลือดสมอง โรคจากความร้อน คอพอก

จุดไป่หุ้ย (GV20 百会)
ตำแหน่ง : อยู่เหนือชายผมด้านหน้าขึ้นไป 5 ชุ่น กึ่งกลางระหว่างเส้นต่อระหว่างยอดใบหูสองข้าง เป็นจุดฝังเข็มที่อยู่สูงสุด




"โรคของศีรษะและความรู้สึก"
จุดไท่หยาง (EX-HN5 太阳)
ตำแหน่ง : ตรงรอยบุ่มขมับ โดยวัดจากจุดกึ่งกลางระหว่างหางคิ้วและหางตามาด้านข้างประมาณ 1 ความกว้างนิ้วมือ
* ข้อบ่งใช้
เป็นจุดที่ช่วยลดอาการปวดศีรษะ ไมเกรน โรคตา ตาเข ปากเบี้ยว



บทความโดย
แพทย์จีน ธนภรณ์ ธนศรีวนิชชัย  
刘财蓬 中医师
TCM. Dr. Tanaporn  Tanasrivanichchai (Liu Cai Peng)
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.993 
คลินิกทุยหนาและกระดูก


เอกสารอ้างอิง
1.โรคปวดศีรษะจากความเครียด
https://www.mukinter.com/en/standard-program/item/477-%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%9B%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%A8%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94.html

2. GET RELIEF FROM TENSION HEADACHES

https://thearmouryclinic.ca/get-relief-from-tension-headaches/

3. Tension-type headache

https://www.physio-pedia.com/Tension-type_headache

4. การฝังเข็ม - รมยา เล่ม 1
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2551

5. ตำรับยาจีนที่ใช้บ่อยในประเทศไทยฉบับสมบูรณ์ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2554
 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้