“ออฟฟิศซินโดรม” ห่างไกลได้ไม่ยาก

Last updated: 10 ต.ค. 2566  |  14434 จำนวนผู้เข้าชม  | 

“ออฟฟิศซินโดรม”  ห่างไกลได้ไม่ยาก

กลุ่มอาการเจ็บปวดจากโรคออฟฟิศซินโดรมเป็นปัญหาที่สร้างความรำคาญ และปัญหาในการทำงานของคนสมัยนี้ไม่ใช่น้อย คนที่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ นั่งก้มๆเงยๆติดต่อกันวันละหลายๆชั่วโมงโดยไม่รู้ตัว คนไข้ที่มาหาหมอที่คลินิกทุยหนาส่วนใหญ่ก็มาด้วยอาการสะสมจากการทำพฤติกรรมซ้ำๆ ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยเรื้อรังแบบ “ออฟฟิศซินโดรม” หรือ “ภาวะหลังค่อม” ซึ่งไม่เป็นผลดี ปล่อยเอาไว้นานๆไม่รักษาและไม่ปรับพฤติกรรมก็อาจจะเป็นผลเสียต่อสุขภาพ



 “ภาวะหลังค่อม” ในคนทำงานออฟฟิศส่วนใหญ่อาจเกิดจากการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อจากการทำงาน อีกส่วนก็มาจากพฤติกรรมส่วนตัวที่ทำจนเป็นนิสัยเคยชิน รวมไปถึงการวางตำแหน่งของหน้าจอที่ต่ำจนเกินไป หรือต้องใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คในการทำงาน ซึ่งมีหน้าจอที่ต่ำกว่าระดับสายตา ทำให้ต้องยื่นหน้าเข้าไปจ้องหน้าจอ

เมื่อเราอยู่ในท่าทางหลังค่อมนี้เป็นเวลานาน ก็จะทำให้กล้ามเนื้อคอต้องทำงานมากขึ้นเพื่อดึงคอให้ตั้งตรง อีกทั้งยังต้องอยู่ในท่าทางแบบนี้เป็นเวลานาน ไม่แปลกเลยที่จะมีอาการปวดเมื่อยคอบ่าไหล่



อีกสาเหตุหนึ่งก็มาจากผู้ที่ชอบนอนหมอนสูงดูทีวี หรือนอนเล่นโทรศัพท์เป็นประจำ จะทำให้ข้อต่อ เอ็นและกล้ามเนื้อเกิดการผิดรูป กล้ามเนื้อหดเกร็งตัวได้ง่าย

ภาวะหลังค่อมแก้ไขได้ด้วยตนเองไม่ยาก ขอแนะนำท่าการยืดเหยียดง่ายๆโดยพยายามเก็บคาง ให้ดึงคางเข้ามาให้ได้มากที่สุด โดยที่ศีรษะต้องตั้งฉากกับพื้น ถ้ายังทำไม่ได้ ให้ลองก้มหน้ากดคางติดคอ แล้วพยายามเงยหน้าไปให้ได้มากที่สุดโดยคางยังกดเข้าหาคออยู่ ถ้าทำได้ถูกต้องจะรู้สึกยืดบริเวณกล้ามเนื้อคอด้านหลัง และรู้สึกเกร็งบริเวณหลังส่วนบน โดยท่านี้จะทำให้ศีรษะกลับไปอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง กระดูกคอและกระดูกสันหลังช่วงบนเรียงเป็นแนวเดียวกันท่านี้ควรทำเป็นประจำในชีวิตประจำวัน


  
นอกจากนี้เมื่อเราต้องอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานก็ควรปรับหน้าจอให้อยู่ระดับสาย วางแขนและข้อศอกให้อยู่แนบลำตัว แอ่นอกเล็กน้อย เวลานั่งก็ต้องให้หลังตรงพิงพนักเก้าอี้ ควรฝึกท่านี้จนเกิดความเคยชิน เมื่อทำจนเป็นนิสัยแล้ว ก็จะห่างไกลจากภาวะออฟฟิศซินโดรมได้ และช่วยลดอาการปวดตึงกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ อย่านั่งทำงานติดโต๊ะนานเกินไป แบ่งเวลาสำหรับการยืดเหยียด ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมของอาการ หากเป็นมากขึ้นจะรักษาให้หายได้ยากและใช้เวลาในการรักษานาน




แพทย์จีน บดินทร์ ก่อกวิน (กวน จิน ซุ่น)
คลินิกทุยหนา 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้