ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคผิวหนังที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย

Last updated: 10 ต.ค. 2566  |  34176 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคผิวหนังที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย

ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง Atopic Dermatitis 四弯风∕特应性皮炎
เป็นโรคผิวหนังที่มีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีค่าโปรตีน IgE สูงผิดปกติ  และคนในครอบครัวมักมีประวัติกลุ่มโรคภูมิแพ้ เช่น หอบหืด ลมพิษ เป็นต้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเป็นผื่นผิวหนังอักเสบตั้งแต่ทารกและไม่หายขาด โดยปกติแล้วในทางคลินิกจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ วัยทารก วัยเด็ก วัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่

ช่วงวัยทารก มักแสดงอาการหลังอายุ 2 เดือนเป็นต้นไป ผื่นส่วนใหญ่เกิดบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะแก้มทั้งสองข้าง บางรายที่เป็นหนักอาจมีผื่นที่หนังศีรษะและลำตัว ทารก บางส่วนอาการอาจดีขึ้นได้เองภายในอายุ 2 ขวบ แต่บางส่วนอาจมีอาการเป็นๆหายๆไปจนถึงวัยผู้ใหญ่

ช่วงวัยเด็ก ส่วนใหญ่มักเกิดในผู้ที่อาการดีขึ้นจากช่วงวัยทารกได้ 1-2 ปี จะกลับเป็นซ้ำอีกครั้ง ส่วนน้อยที่จะเป็นจากช่วงวัยทารกต่อเนื่องมาจนถึงวัยเด็ก และบางส่วนอาจพึ่งปรากฏอาการในวัยนี้ โดยจะมีลักษณะผื่นแบบระยะกึ่งเฉียบพลันหรือระยะเรื้อรัง ตำแหน่งผื่นมักเกิดบริเวณข้อพับแขนขาทั้งสองข้าง ลักษณะผื่นแห้ง พบรอยเกา ผิวแห้งลอก อาจมีสะเก็ดแผล การดำเนินโรคเป็นไปอย่างช้าๆ

ช่วงวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่มักเกิดจากการเป็นๆหายๆในช่วงทารกต่อเนื่องมา ส่วนน้อยที่จะปรากฏอาการในช่วงวัยผู้ใหญ่  โดยผื่นมักขึ้นบริเวณลำคอ แขนขา รอบดวงตา มีขอบเขตบริเวณกว้าง ผิวหยาบแห้ง หนาสาก อาจมีผิวลอก และอาการคันรุนแรง
ในมุมมองแพทย์แผนจีน นอกจากจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรมแล้ว ยังมองถึงทุนต้นกำเนิดที่พร่องไป และอาจมีความเกี่ยวข้องขณะมารดาตั้งครรภ์ที่มีสภาวะร้อน หรือเกิดจากอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ จึงส่งผลให้ม้ามพร่องและเกิดเป็นความชื้นสะสมในร่างกาย หรืออาจเกิดจากอาหารที่คั่งค้างจนเกิดความร้อนสะสมทำให้ร่างกายมีสภาวะม้ามกระเพาะร้อนชื้น หรืออาจเกิดจากปัจจัยภายนอกเช่น ลม ความร้อน ความชื้น และก่อให้เกิดโรค
 
การแยกแยะภาวะกลุ่มอาการและโรค                                                       1. ผื่นผิวหนังอักเสบ Eczema
พบได้ทุกเพศทุกวัย ลักษณะและตำแหน่งของรอยโรคไม่มีความสัมพันธ์กับช่วงอายุที่ชัดเจน ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้ของคนในครอบครัว ต่อมไขมันอักเสบในเด็กทารก

2. Seborrheic dermatitis
ไม่พบประวัติคนในครอบครัวมีโรคภูมิแพ้ มักแสดงอาการ ลังกำเนิดในสัปดาห์ที่ 3-4 รอยโรค พบบริเวณหนังศีรษะ ระหว่างคิ้ว แก้ม ร่องจมูกเป็นต้น พบสะเก็ดลักษณะมันสีเทาเหลืองหรือสีน้ำตาล อาการคันไม่รุนแรงหรืออาจไม่คัน หลังจากหายแล้วมักไม่กลับเป็นซ้ำ      

3. Neurodermatitis
ส่วนใหญ่จะพบในวัยผู้ใหญ่ รอยโรคมักพบบริเวณลำคอ ข้อศอก หนังตาบน กระเบนเหน็บ ลักษณะผิวหนาหยาบ (lichenification) ชัดเจน ไม่พบประวัติภูมิแพ้ของคนในครอบครัว

 
การวินิจฉัยแบ่งกลุ่มอาการในมุมมองแพทย์จีน
1. ภาวะ / กลุ่มอาการลมร้อนชื้นสะสม(风湿热蕴证)
พบกลุ่มอาการนี้ในช่วงวัยทารก มักเกิดในทารกช่วงอายุต่ำกว่า 1 ขวบ และเกิดอาการหลังจากคลอดได้ไม่กี่เดือน ผื่นมักเริ่มขึ้นที่บริเวณใบหน้า หน้าผาก ผื่นจะมีสีแดง บนผื่นมีผดสีแดงขนาดเล็กใหญ่ อาจมีตุ่มน้ำขนาดเล็กเกาะกลุ่ม เมื่อแตกจะมีน้ำใส-น้ำเหลืองไหลซึม ทารกมักท้องผูก เบื่ออาหาร ร้องไห้งอแง นอนหลับยาก
หลักการรักษา : ระบายลมและความร้อน บำรุงม้ามขับความชื้น

2. ภาวะ / กลุ่มอาการกลุ่มม้ามพร่อง ความชื้นแกร่ง(脾虚湿困证)
พบในช่วงวัยเด็ก โดยมากในเด็กอายุ 2-10 ขวบ อาการทางคลินิกส่วนใหญ่จะพบผื่นแดง ตุ่มน้ำขนาดเล็ก บริเวณข้อพับ อาจมีน้ำซึมและมีสะเก็ด หรือมีลักษณะเป็นผื่นปื้นหนาสีเข้ม อุจจาระตอนต้นแห้ง ตอนท้ายนิ่ม หรืออุจจาระเหลว ทานอาหารไม่เป็นเวลา ชอบรับประทานขนมขบเคี้ยว เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ลิ้นซีดบวม ฝ้าขาวเหนียว
หลักการรักษา : บำรุงม้ามขับความชื้น ระงับอาการคัน

3. ภาวะ/กลุ่มอาการกลุ่มเลือดพร่องร่วมกับลมแห้ง(血虚风燥证)
พบมากในช่วงวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ เนื่องจากเป็นเรื้อรังมานาน ผิวหนังขาดการหล่อเลี้ยง บริเวณศีรษะ ใบหน้า แขนขา ลำตัวจะมีผิวหนังที่แห้งลอกเป็นบริเวณกว้าง สีผิวเข้มโดยเฉพาะบริเวณข้อพับแขนขาและลำคอจะมีผิวหนังที่หนา อาจพบรอยเกาและสะเก็ดแผล มีอาการคันเป็นระยะ เมื่อเจอความร้อนหรือหลังอาบน้ำจะมีอาการคันมากยิ่งขึ้น กลางคืนอาการคันมากขึ้น อาจมีอาการท้องอืดร่วมด้วย ลิ้นซีด
หลักการรักษา :  บำรุงม้ามบำรุงเลือด ให้ความชุ่มชื้นผิว ระบายลม ระงับอาการคัน   
                                                                                                                  

ตัวอย่างกรณีศึกษา (Case Study) การรักษาผู้ป่วย
ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis- 特应性皮炎)

ผู้ป่วย : เพศหญิง ชาวไต้หวัน อายุ 2 ปี 5 เดือน
วันที่เข้ารับการรักษา :  17 ตุลาคม 2561
HN : ***                                                                                                 
การตรวจร่างกายเบื้องต้น : อุณหภูมิร่างกายปกติ (37.3℃) น้ำหนัก 10 kg

ผู้ป่วยมาด้วยอาการมีผื่นแดงคันตามตัว โดยเฉพาะบริเวณข้อพับแขน-ขา อาการเป็นๆหายๆเป็นระยะเวลา 1 ปี และมีอาการรุนแรงมากขึ้นประมาณ 3 สัปดาห์ อาการคันมักเป็นมากขึ้นในเวลากลางคืน มารดาจึงพามาปรึกษาแพทย์แผนจีนเพื่อทำการรักษา ผู้ป่วยเคยรักษาด้วยการทายาปฏิชีวนะชนิดใช้เฉพาะที่ Mupirocin 0.2% บริเวณผื่นเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ผู้ป่วยมีอาการเบื่ออาหารและเลือกบริโภค โดยปกติรับประทานผักผลไม้น้อย ร่วมกับมีอาการท้องผูกขับถ่าย 3-4 วันต่อครั้ง ลักษณะอุจจาระค่อนข้างแห้งแข็ง นอนหลับไม่สนิท

ประวัติการเจ็บป่วยครอบครัว : บิดามีประวัติโรคภูมิแพ้ผิวหนัง
ตรวจลิ้นพบลิ้นสีชมพูระเรื่อ ฝ้าขาว บาง ตรวจชีพจรพบชีพจรซ้ายและขวาค่อนข้างเร็ว          
วินิจฉัย : ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง(四弯风  ∕  特应性皮炎)
กลุ่มอาการ : ลมร้อนชื้นสะสม(风湿热蕴证)
การรักษา : ใช้ยาสมุนไพรจีนที่มีฤทธิ์ขับลมระบายร้อน ขับความชื้น
ปริมาณยาที่ใช้ : 4 วัน รับประทานวันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้า-เย็น ร่วมกับยาสมุนไพรจีนใช้ภายนอก ในการต้มอาบและครีมสมุนไพรจีนทาบริเวณรอยผื่น
คำแนะนำ : หลีกเลี่ยงการเกา งดอาหารแสลง อาหารทะเล หรืออาหารที่ทานแล้วผื่นมีอาการเห่อคันมากยิ่งขึ้น รับประทานผักผลไม้ให้มาก ควรขับถ่ายให้ได้ทุกวัน



ประเมินผลหลังการรักษาครั้งที่ 1 :  วันที่ 20 ตุลาคม 2561
มารดาผู้ป่วยเล่าว่า หลังรับประทานยาจีนไป ผื่นผิวหนังตามบริเวณต่างๆจางลง แต่ยังคงแห้งและมีอาการคันอยู่ ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้ปกติ อาการเบื่ออาหารน้อยลง ยังคงมีอาการท้องผูกขับถ่าย 3 วันต่อครั้งและถ่ายแข็งแห้ง การนอนหลับยังคงหลับได้ไม่สนิท ตรวจลิ้นพบลิ้นสีชมพูระเรื่อฝ้าขาวบาง ตรวจชีพจรพบชีพจรซ้ายและขวาค่อนข้างเร็ว   

การรักษา : ใช้ยาสมุนไพรจีนที่มีฤทธิ์ บำรุงม้ามกระเพาะอาหารขับชื้น
ปริมาณยาที่ใช้ : 6 วัน รับประทานวันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้า-เย็น ร่วมกับยาสมุนไพรจีนในการต้มอาบและครีมสมุนไพรจีนทาบริเวณรอยผื่น



ประเมินผลหลังการรักษาครั้งที่ 2 :  วันที่ 26 ตุลาคม 2561
มารดาผู้ป่วยเล่าว่า หลังรับประทานยาจีนไปรอบที่ผ่านมา ผื่นตามตัวหายเกือบเป็นผิวปกติ และไม่มีอาการคันแต่เนื่องจาก 2 วันก่อนมาพบ ผู้ป่วยรับประทานอาหารไม่ระวังทำให้ผื่นตามบริเวณเดิมนั้นมีอาการกำเริบเห่อแดงและมีอาการคันมากขึ้น ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้ปกติ อาการเบื่ออาหารน้อยลงกว่าเดิม การนอนหลับยังคงหลับได้ไม่สนิท ขับถ่าย 1-3 วันต่อครั้ง

ตรวจลิ้นพบลิ้นสีชมพูระเรื่อ ฝ้าขาวบาง ตรวจชีพจรพบชีพจร ปกติ                  
การรักษา : ใช้ยาสมุนไพรจีนที่มีฤทธิ์ บำรุงม้ามกระเพาะอาหารและบำรุงเลือด
ปริมาณยาที่ใช้ : 6 วัน รับประทานวันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้า-เย็น ร่วมกับยาสมุนไพรจีนในการต้มอาบและครีมสมุนไพรจีนทาบริเวณรอยผื่นตามอาการ



สรุปผลการรักษา จากกรณีตัวอย่างนี้ การรักษาด้วยยาสมุนไพรจีนทั้งภายในและภายนอก สามารถลดผื่นและอาการคันได้ นอกจากนี้ยังกระตุ้นระบบย่อยช่วยในการเจริญอาหารขึ้น

หมายเหตุ :
การรักษาด้วยยาจีน คือ การนำสมุนไพรซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรจีนจากประเทศจีนมาปรุงเป็นยารักษาโรค โดยสกัดเอาส่วนผสมที่มีสรรพคุณในการบำบัดอาการที่ต้องการรักษาออกมาจากสมุนไพรชนิดต่างๆที่มีอยู่ตามธรรมชาติ แล้วนำมาผสมกัน ใช้ชงดื่มเป็นยาต้ม หรือ ยาผง ยาเม็ด ยาจีนบางตำรับประกอบด้วยสมุนไพรกว่า 10 ชนิด

จุดเด่นของยาจีนคือผู้ที่ป่วยโรคเดียวกัน หรือ มีอาการเหมือนกัน อาจได้รับการจ่ายยาต่างตำรับกัน ทั้งนี้ เพราะแพทย์จีนผู้ทำการรักษาจะวิเคราะห์สภาพร่างกายและอาการของผู้ป่วยอย่างละเอียด เพื่อระบุกลุ่มอาการของโรคตามสภาพร่างกายและอาการของผู้ป่วยก่อน จากนั้นจะเลือกวิธีบำบัดรักษาที่เหมาะสม และเมื่อติดตามอาการดูแล้วเห็นว่าดีขึ้น หรือ ไม่ดีขึ้น แพทย์จีนที่ทำการรักษาจะปรับเปลี่ยนยาตำรับใหม่ให้ตามความเหมาะสมกับอาการในช่วงเวลานั้นๆด้วย 

ในการทานยาทุกชนิด ทุกประเภท ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรที่ได้มาตรฐานและตรวจสอบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรับประทานยาจีนนั้น การตรวจวินิจฉัยร่างกาย เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพื่อที่แพทย์จีนจะวิเคราะห์หาสาเหตุ และประเมินผู้ป่วยในการจัดตำรับยาที่ตรงกับพยาธิสภาพของผู้ป่วย เพื่อผลสัมฤทธิ์ทางการรักษา

ยาจีนเป็นวิธีบำบัดโรควิธีหลักสำคัญของการแพทย์แผนจีน การที่จะใช้ยาจีนบำบัดรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิผลนั้น แพทย์จีนจะต้องรู้ลักษณะโครงสร้างของโรคอย่างถ่องแท้ จึงจะจัดตำรับยาจีนที่เหมาะสมกับอาการของโรคและภาวะร่างกายของผู้ป่วยเป็นคนๆไป แม้ว่าคนป่วยจะมีอาการเหมือนกัน แต่ยาจีนจะแสดงผลต่างกันไปในแต่ละคน

หลักสำคัญในการเลือกตำรับยาจีนให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน คือการวินิจฉัย วิเคราะห์ว่าอาการป่วยนั้นเกิดจากสาเหตุพยาธิสภาพภายนอกของโรคที่แสดงปฏิกิริยารุนแรง หรือ เกิดจากประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งพร่อง ถดถอย 

สมุนไพรจีนแต่ละชนิดที่ผสมอยู่ในยาจีนนั้นมีบทบาทแตกต่างกันออกไป ในยา 1 ตำรับจะประกอบด้วย

- สมุนไพรที่ทำหน้าที่เป็นตัวหลัก
- สมุนไพรที่เป็นตัวประกอบ
- สมุนไพรที่เป็นตัวควบคุมการทำงานของระบบในร่างกาย
- สมุนไพรที่เป็นตัวยาเสริม ทำหน้าที่ปรับสมดุล

แพทย์จีนผู้ทำการรักษาและบันทึกผล
แพทย์จีน มนัญญา อนุรักษ์ธนากร (หวง เหม่ย ชิง)
คลินิกอายุรกรรมผิวหนัง

สอบถามข้อมูลการรักษาเพิ่มเติม 
LINE@ : @huachiewtcm


เอกสารนี้เป็นลิขสิทธิ์และทรัพท์สินทางปัญญาของคลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีนใช้เผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานความรู้แก่ประชาชน ห้ามมิให้คัดลอกในเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตทุกกรณี
注意 :这份文件的版权和知识产权属于华侨中医院,仅对外宣传和传播科普知识所用。禁止擅自用于任何形式的商业谋利。
Attention : The copyright and intellectual assets are belonged to the Hua Chiew (TCM) Clinic for public knowledge only. It is prohibit to copy for commercial purposes in all cases without permission.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้