Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 112026 จำนวนผู้เข้าชม |
ภาวะและกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนังชั้นนอกบนร่างกาย หรือเกิดแผลที่ผิวหนังรวมไปถึงอาการที่มีการกลัดหนองเกิดขึ้นที่ส่วนผิวของร่างกาย ในการรักษาทางการแพท์แผนจีนจะอยู่ในกลุ่มอาการที่รักษาทางอายุรกรรมภายนอก การรักษาอาการความผิดปกติที่เกิดขึ้นบนผิวหนังภายนอก รวมไปถึงภาวะการเชื่อมโยงการเกิดอาการที่เกิดจากระบบภายในร่างกาย ซึ่งสังกัดอวัยวะที่มีความสัมพันธ์กัน ซึ่งการรักษาของแพทย์จีนจะผสมผสานกันทั้งการใช้ตำรับอายุรกรรมยาจีน ยาชนิดทาน ยาทาภายนอก รวมไปถึงการรักษาเสริมโดยวิธีหัตถการ เช่น การฝังเข็ม รมยา ครอบแก้ว เป็นต้น
กลุ่มอาการและภาวะความผิดปกติของผิวหนังภายนอกและภาวะอื่นๆที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งสามารถรักษาด้วยวิธีแพทย์แผนจีนค่อนข้างได้ผลดี (Diseases in external medicine) ได้แก่
แผลบวม Swollen Sore 腫瘍 (肿疡) Zhǒng yang แพทย์จีนเรียกว่าเป็นโรคหนองระยะแรกทุกชนิด เกิดจากพิษภัยที่แข็งแกร่งสะสมจับตัวขึ้น การไหลเวียนของชี่และเลือดติดขัด ทำให้ที่ผิวหนังมีการบวมตัวเป็นก้อนขึ้น ส่วนใหญ่สังกัดภาวะหยาง ภาวะแกร่งเกิน หรือภาวะร้อน
ตุ่มอักเสบตามไรผม Hairline Sore 髮際瘡 (发际疮) Fà jì chuāng เป็นโรคผิวหนังอักเสบที่เกิดกับบริเวณตีนผม มีลักษณะเป็นตุ่มเล็กๆ แข็ง เจ็บและคันมาก เป็นตุ่มเรื้อรังรักษาให้หายสนิทค่อนข้างยาก สาเหตุเกิดจากมีความร้อนชื้นคั่งภายในร่างกาย หรือถูกภัยลมร้อนจากภายนอก
ตุ่มอักเสบที่ก้น Seat Sore 坐板瘡 (坐板疮) Zuò bǎn chuāng
เป็นโรคตุ่มอักเสบที่เกิดขึ้นบริเวณก้น เกิดจากพิษอากาศร้อนชื้นจับตัวที่ส่วนผิวบริเวณนั้น
แผลอักเสบเรื้อรังที่หน้าแข้ง Shank Sore 臁瘡 (臁疮) Lián chuāng
เกิดอยู่ระหว่างชั้นผิวหนังกับกล้ามเนื้อ เป็นแผลที่ไม่ยอมสมานแม้ว่าจะผ่านไปเป็นเวลานาน หรือหากสมานได้เพียงมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากระทบปากแผลก็จะเปิด หรือมีการกำเริบขึ้นอีกได้ง่าย สาเหตุเกิดจากจากผิวหนังที่บริเวณนั้นได้รับบาดเจ็บแล้วติดเชื้อ เกิดจากพิษร้อนชื้นลงไปที่ขา หรือมีการคั่งของเลือด ซึ่งเมื่อนานเข้าก็ทำให้เกิดการอักเสบ
แผลกดทับ Bed Sore 褥瘡 (褥疮) Rù chuāng
โรคผิวหนังอักเสบเป็นหนองที่มีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการเจ็บป่วยเป็นเวลานาน ทำให้ต้องนอนอยู่แต่บนเตียง ส่งผลให้การไหลเวียนของชี่และเลือดติดขัด หล่อเลี้ยงผิวหนังไม่ได้ตามปกติ หรือเกิดจากการเสียดสีเป็นเวลานาน ผิวหนังได้รับความเสียหาย มักเกิดกับบริเวณที่รับน้ำหนัก ได้แก่ กระเบนเหน็บ ข้อศอก ข้อเท้า กระดูกสันหลัง ทำให้เกิดเป็นแผลเรื้อรังไม่ค่อยสมานที่ส่วนผิวในบริเวณดังกล่าว
กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นในรูขุมขนซึ่งเกิดการอักเสบทำให้เป็นฝีหนอง
Furuncle, boil and pyogenic infections of the skin
ตุ่มฝีอักเสบ Furuncle 癤 (疖) Jiē
มีอาการปวดบวมแดงร้อน แต่เนื่องจากรากไม่ลึก เมื่อหนองแตกออกแล้วอาการอักเสบก็จะหายไป สาเหตุเกิดจากบริเวณส่วนผิวของร่างกายถูกพิษร้อนแทรกเข้า
ตุ่มหนองบริเวณหนังศีรษะ Mole cricket boil disease 螻蛄癤 (蝼蛄疖) Lóu gū jiē เป็นแผลหนองที่หนังศีรษะที่พบบ่อยของเด็กเล็ก ในระยะแรกจะเป็นก้อนบวมขนาดเม็ดถั่วเหลือง บริเวณขั้วแข็ง ต่อมาหนองจะแตกออกแต่ก้อนยังคงแข็งอยู่ ภายในมีเยื่อกั้นเป็นห้องๆ แผลมีลักษณะเป็นๆหายๆ อาจพบก้อนบวม 3-5 ก้อนในบริเวณใกล้กัน ที่ผิวปริออกมีหนองไหล ปากแผลไม่ยอมสมาน นานเข้าหนังศีรษะจะเป็นบุ๋มลง ในผู้ป่วยที่อาการรุนแรงการอักเสบอาจลามไปถึงกะโหลกศีรษะ
โรคตุ่มหนองกระจาย Furunculosis 癤病 (疖病) Jiē Bing
เป็นโรคผิวหนังอักเสบที่เกิดกับผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิว โดยที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งหรือหลายตำแหน่งเกิดการอักเสบขึ้นพร้อมๆ กัน หรือเป็นๆ หายๆ หรือเมื่อที่หนึ่งหายไปอีกที่หนึ่งก็เกิดการอักเสบขึ้นอีก ไม่หายเด็ดขา ในการรักษาด้วยแผนจีนทำได้โดยช่วยบรรเทาอาการและช่วยให้ตุ่มหนองไม่กระจายลุกลามมากขึ้น
ฝีหัวตะปู Deep-rooted boil 疔 (疔) Dīng
มีขนาดเล็กเหมือนเม็ดข้าวสาร หัวสีขาว รากลึกเป็นเส้นคล้ายตะปู พบร่วมกับอาการชาและคัน
โรคแอนแทร็กซ์ที่ผิวหนัง Cutaneous anthrax 疫疔 ( 疫疔) Yì ding เกิดจากได้รับพิษโดยสัมผัสสัตว์ที่ป่วยตาย พิษที่ติดต่อมาจะอุดกั้นที่บริเวณผิวหนังทำให้การไหลเวียนของชี่และเลือดติดขัด พิษภัยจับตัวเป็นก้อน มักเกิดขึ้นกับบริเวณที่ไม่มีเสื้อผ้าปกคลุม เช่น ศีรษะและใบหน้า คอบ่า แขนและมือ เป็นต้น อาการแสดงในระยะแรกจะพบตุ่มหรือผื่นแดงขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายตุ่มจากยุงหรือหมัดกัด แล้วกลายเป็นตุ่มพุพองอย่างรวดเร็ว จากนั้นจะมีเลือดออกและเนื้อตาย ผิวแห้ง ตกสะเก็ดสีดำและบุ๋มลง บริเวณรอบๆ มีการบวมแผ่ออกไป ร่วมกับอาการสะบัดร้อนสะบัดหนาว
ฝีที่ข้อพับเข่า Popliteal infection 委中毒 (委中毒) Wěi zhòng dú หมายถึงฝีที่เกิดตรงกลางข้อพับหลังหัวเข่า ซึ่งเป็นจุดเหว่ยจงในวิชาฝังเข็ม เกิดจากความร้อนคั่งในเส้นลมปราณถุงน้ำดีแล้วเข้าสู่เส้นกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดการอุดตันเป็นฝีขึ้นที่ตำแหน่งดังกล่าว
ฝี Abscess 癰 (痈) Yōng มีลักษณะสำคัญคือรอยโรคที่ผิวหนังจะมีอาการปวดบวมแดงร้อน แต่อ่อนไม่มีหัว ร่วมกับอาการไข้ หนาวสั่น กระหายน้ำ บวมง่าย กลัดหนองง่าย แต่ก็แตกเร็วและสมานได้เร็ว สาเหตุโดยเกิดจากพิษร้อนคั่ง ชี่และเลือดอุดตัน ฝีที่มีขนาดใหญ่เรียกว่า หนองซึมซ่าน (发)”
ฝีที่คอ Cervical abscess 頸癰 (颈痈) Jǐng yōng เป็นฝีที่บริเวณคอ ในระยะแรกสีผิวจะยังไม่เปลี่ยนแปลงแต่มีอาการแสบร้อน บวมเจ็บ ก้อนมีขอบชัด สาเหตุเกิดจากถูกพิษภัยจากลมร้อน ชี่และเลือดอุดตัน พิษกับเสลดจับกัน อยู่ระหว่างผิวหนังกับกล้ามเนื้อ
ฝีที่รักแร้ Axillary abscess 腋癰 (腋痈) Yè yōng
ฅมีอาการบวมแดง แสบร้อน ร่วมกับอาการไข้ กลัวหนาว สาเหตุเกิดจากตับและม้ามมีชี่คั่งและเกิดร้อนขึ้น หรือผิวหนังกล้ามเนื้อที่มือหรือแขนเกิดการติดเชื้อ แล้วเชื้อโรคเดินตามเส้นเข้าสู่บริเวณรักแร้
ฝีที่สะดือ Umbilical abscess 臍癰 (脐痈) Qí yōng
เป็นฝีที่บริเวณสะดือ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากระบบหัวใจและม้ามเกิดภาวะร้อนชื้น หรือพิษร้อนไปจับอยู่ที่สะดือ หรือเกิดจากการเกาจนทำให้เกิดแผลติดเชื้อขึ้น
ฝีที่สะโพก Gluteal abscess 臀癰 (臀痈) Tún yōng
เป็นฝีที่บริเวณก้นซึ่งมีกล้ามเนื้อหนา สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ หรือพิษร้อนชื้นจับที่บริเวณสะโพก
ฝีฝักบัว Carbuncle 有頭疽 (有头疽) Yǒu tóu jū
เป็นฝีหนองที่มีลักษณะสำคัญคือรอบรอยโรคมีอาการบวมแดงร้อนและเจ็บ มักจะขยายไปรอบๆ หรือลึกลงไป มีหัวหนองหลายหัวอยู่ด้วย หากแตกออกจะทำให้เป็นรูเหมือนรังผึ้ง เส้นผ่านศูนย์กลางของฝีอาจมากกว่า 9 ซม. ไปจนถึง 30 ซม. มักลุกลามทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ สาเหตุเกิดจากถูกลมร้อน ร้อนชื้น หรือพิษร้อนจากภายนอก ชี่และเลือดคั่งจับที่ระหว่างผิวหนังกับกล้ามเนื้อ
ฝีเซาะลง DeeMultipleAbscess 流注 (流注) Liú zhù
เป็นฝีที่เกิดจากพิษภัยของการอักเสบติดเชื้อกระจายตามหลอดเลือด ไปจับอยู่ในกล้ามเนื้อส่วนลึก อาการสำคัญคือฝีมีการบวมแผ่กระจายออก ผิวร้อนและเจ็บเล็กน้อย แต่สีผิวปกติ ภายในขังน้ำหนองไว้
ภาวะอักเสบบวม Effusion 發 (发) Fā
เกิดการบวมแดงแผ่ออกไปตามบริเวณที่เนื้อเยื่อหลวมจนกลายเป็นแผ่นอย่างรวดเร็ว เจ็บแสบและร้อน บวมแดงโดยเฉพาะที่ตรงกลาง รอบๆ มีสีจาง ขอบเขตไม่ชัดเจน ในผู้ป่วยบางรายหลังเกิดอาการ 3-5วัน ผิวจะเปื่อยแฉะและกลายเป็นแผลเปื่อยสีน้ำตาล หรือตรงกลางอ่อนนิ่ม แต่ไม่มีหนองซึมออก ในภาวะนี้จะมีความผิดปกติอื่นๆ แสดงออกอย่างเด่นชัดร่วมด้วย
ภาวะอักเสบบวมที่หลังมือ Effusion of the back of the hand 手發背 (手发背) Shǒu fā bèi
เป็นโรคที่มีอาการบวมทั้งหลังมือจากการติดเชื้อ ในทางแพทย์แผนจีนอธิบายว่าเกิดจากพิษภัยจากลม ไฟ และความชื้นจับกันขึ้นในเส้นลมปราณหยางทั้งสามที่หลังมือ ในระยะแรกจะเกิดเป็นตุ่มหนาม จากนั้นจะค่อยๆ รู้สึกเจ็บปวด หากบวมแดงและมีอาการแสบร้อนและมีหนองแตกออกอย่างรวดเร็วจัดเป็นฝี (痈) หากแผ่ออกเป็นก้อนแข็งแต่ไม่แดงไม่ร้อน ฝีแตกออกช้าจัดเป็น “จวี” (疽) ในรายที่หนองกัดเซาะถึงเส้นเอ็นและกระดูกจะรักษายาก
ภาวะอักเสบบวมที่หลังเท้า Effusion of the dorsum of the foot 足發背 (足发背) Zú fā bèi
เป็นโรคฝีหนองที่หลังเท้า ในระยะเริ่มแรกจะเป็นตุ่มคล้ายเมล็ดข้าวฟ่าง จากนั้นจะค่อยๆขยายใหญ่และนูนขึ้นลักษณะเป็นกระเปาะ ร้อนแดง ปวดเจ็บ กลัดหนอง และแตกง่าย หรือมีการบวมกระจายไปทั่วหลังเท้า สีผิวม่วงคล้ำ หายยากแต่ไม่เป็นหนอง
ฝีอักเสบที่จุดหวนเที่ยว (สะโพก) Suppurative coxitis 環跳疽 (环跳疽) Huán tiào jū
เป็นฝีชนิดไม่มีหัวที่เกิดขึ้นบริเวณสะโพกตรงตำแหน่งหวนเที่ยว เกิดจากพิษคงค้างอยู่หลังจากการเจ็บป่วยหรือพิษเข้าสู่เส้นเลือด มีอาการบวมกระจายออกร่วมกับอาการเจ็บปวดจนส่งผลกระทบต่อการทำงานของข้อต่อสะโพก มีอาการอื่นเกิดร่วมค่อนข้างหนัก แผลหนองสมานยาก และมักจะทำให้พิการได้
นิ้วตายเน่า Digital gangrene 脫疽 (脱疽) Tuō jū
เป็นโรคหลอดเลือดที่ในระยะแรกจะมีอาการขาเย็นไม่รู้สึก ในระยะท้ายข้อนิ้วจะเน่าตายหลุดออก ผิวมีสีดำเน่าเปื่อย แผลไม่สมานเป็นเวลานาน สาเหตุเกิดจากความร่างกายบกพร่องแต่กำเนิด เจิ้งชี่อ่อนแอ พิษภัยจากความเย็นและชื้นแทรกเข้า ลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือด การไหลเวียนของชี่และเลือดติดขัด จนทำให้หลอดเลือดที่มาเลี้ยงนิ้วอุดตัน ทำให้เนื้อเยื่อตาย
ฝีที่แก้ม Suppurative parotitis 發頤 (发颐) Fā yí
เป็นฝีที่บริเวณแก้ม ทำให้แก้มบวมเจ็บ อ้าปากไม่ได้ตามปกติ ร่วมกับมีไข้สูง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากได้รับพิษภัยจากภายนอก หรือติดเชื้อจากการผ่าตัด การขับเหงื่อไม่ดีทำให้พิษร้อนไม่สามารถขับออกสู่ภายนอกร่างกายและมาจับอยู่ที่บริเวณแก้ม
ไฟลามทุ่ง Erysipelas 丹毒 (丹毒) Dān dú; 火丹 (火丹) Huǒ dān
อาการแสดงที่สำคัญคือผิวหนังมีการอักเสบเป็นสีแดงสดเป็นวงกว้าง ร่วมกับอาการบวมและแสบร้อน การอักเสบจะขยายวงอย่างรวดเร็ว สาเหตุเริ่มมาจากผิวหนังหรือเนื้อเยื่อใต้ผิวถูกทำลาย แล้วถูกพิษภัยร้อนจากภายนอกรุกเข้าซ้ำเติม พิษร้อนกับเลือดผสมกันอุดตันที่ผิวหนังจนคั่งค้างอยู่จึงทำให้เกิดโรคขึ้น
โรคผิวหนังในเด็กเล็ก Wandering erysipelas 赤遊丹 (赤游丹) Chì yóu dān ชื่อโหยวตัน เป็นโรคผิวหนังในเด็กเล็กที่เกิดจากถูกพิษลมจากภายนอก หรือภายในเกิดความร้อนคุคั่งแล้วประทุออกมาที่ผิวหนัง มีอาการสำคัญคือผิวหนังบวมแดงเป็นกลุ่มมีสีแดงจัด และตุ่มสามารถย้ายที่ไปมาได้
เริม Herpes simplex 熱瘡 (热疮) Rè chuāng
ผิวหนังที่เกิดโรคจะเกิดตุ่มน้ำใสขนาดเล็กรวมกันเป็นกลุ่ม มีรูปร่างคล้ายเมล็ดข้าวสารหรือเมล็ดถั่วข้างในเป็นน้ำใส จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นขุ่น มีอาการคันแสบร้อน เมื่อหายแล้วจะกลับเป็นอีก สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพิษภัยลมร้อนจากภายนอก ความร้อนที่สะสมอยู่ในปอดและกระเพาะอาหารเผาขึ้นส่วนบนของร่างกาย
งูสวัด HerpesZoster
เป็นโรคผิวหนังชนิดตุ่มน้ำที่เกิดกับร่างกายซีกหนึ่ง โดยร่างกายซีกนั้นเกิดเป็นตุ่มน้ำเรียงเป็นเส้นตะหวัดเป็นแนวไปและมีอาการเจ็บปวดรุนแรง สาเหตุของโรคเกิดจากความร้อนชื้นจากตับและม้ามเข้าไปยังเส้นลมปราณที่ผิวประกอบกับถูกพิษภัยเข้าแทรก
หูด Verruca 疣 (疣) Yóu
เป็นโรคผิวหนังที่เป็นตุ่มเนื้อที่ไม่ใช่เนื้อร้ายงอกขึ้นที่ผิวหนังชั้นตื้น เกิดจากพิษภัยจากลมร้อนและความชื้นจับเป็นก้อนประกอบกับถูกพิษภัยจากภายนอกแทรกเข้า
ตาปลา Corn เป็นโรคผิวหนังที่เกิดกับเท้า (บางรายอาจเกิดที่มือ) จากการที่ถูกกดทับหรือเสียดสีเป็นเวลานาน ผิวหนังบริเวณนั้นจะหนาขึ้นและมีรากลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อ ผิวบนจะหนาและแข็ง ทำให้รูปลักษณะเหมือนกับตาของปลา เวลาเดินจะเจ็บ
เชื้อราที่ศีรษะ Fat sore (Tinea capitis) 肥瘡 (肥疮) Féi chuāng
ระยะแรกเป็นตุ่มสีแดง จากนั้นจะแตกมีน้ำซึมออกและตกสะเก็ดเป็นสีเหลือง ตรงกลางยังมีผมงอกผ่านได้ เมื่อผมหลุดร่วงไปบริเวณนั้นจะล้าน สาเหตุเกิดจากติดเชื้อจากอุปกรณ์ตัดผม และพิษร้อนชื้น
เชื้อรามือและเท้า Tinea manuum 鵝掌風 (鹅掌风) É zhǎng fēng
เป็นตุ่มน้ำที่ผิวเป็นขุย มีลักษณะหยาบหนาหรือแห้งแตก จะมีอาการเจ็บและคันมาก สาเหตุเกิดจากพิษลมชื้นแทรกเข้าที่ผิวหนัง หรือเลือดมีภาวะแห้งทำให้เกิดลมขึ้น
เกลื้อน Tinea versicolor 紫白癜風 (紫白癜风) Zǐ bái diàn fēng
มักเกิดกับทรวงอก แผ่นหลัง ลำคอ สะบัก หรือรักแร้ ในระยะแรกจะเป็นวงม่วงหรือขาวเทาขนาดต่างๆ วงอาจขยายและเชื่อมเป็นผืน ผิวเกลี้ยงวาว มีขอบเขตที่ชัดเจน หากเกาจะมีเศษขุยหลุดออก บางครั้งอาจมีอาการคันเล็กน้อย อาการเป็นมากในฤดูร้อนและบรรเทาในฤดูหนาว สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากมีภาวะร้อนสะสมใน อวัยวะภายใน ถูกพิษภัยจากความร้อนและชื้นจากภายนอก ทำให้ชี่และเลือดคั่งค้าง
แผลชอนทะลุ MammaryFistula 漏 (漏) Lòu
เป็นแผลที่กินลึกปากแคบ (瘘管) หรือแผลที่ทะลุถึงกัน (漏通瘘) เกิดจากปากแผลไม่สมานเป็นเวลานานแล้วกลายเป็นท่อมีน้ำหนองไหลออกมา มักพบร่วมกับต่อมน้ำเหลืองที่คอโตแล้วแตกออก และทวารหนักที่มีอาการบวมหนองอยู่รอบๆ สาเหตุส่วนมากเกิดจากพิษร้อนคั่งค้าง ชี่และเลือดพร่องส่วนอิ๋งและส่วนเว่ยเสียการควบคุมต่อการไหลเวียน
ด่างขาว Vilitigo 白癜風 (白癜风) Bái diàn fēng; 白駁風 (白驳风) Bái bó fēng ผิวหนังเกิดเป็นรอยด่างขนาดต่างๆ ที่ขอบอาจมีสารสีจับทำให้มีสีคล้ำ แต่ไม่มีอาการคันหรือเจ็บ สาเหตุเกิดจากชี่และเลือดไม่ผสานกลมกลืนกัน หรือถูกพิษภัยลมจากภายนอก
หิด Scabies 疥瘡 (疥疮) Jiè chuāng; 疥癩 (疥癞) Jiè lài
เป็นโรคผิวหนังอักเสบที่เกิดจากตัวหิด เกิดที่ผิวหนังตามง่ามนิ้ว ข้อมือ แอ่งข้อศอก ขาหนีบ รอบอวัยวะสืบพันธุ์ พบผื่นนูน คันมากในเวลากลางคืน อาจพบตัวหิด ตามอาการแสดงออกสามารถแบ่งได้เป็นหิดแบบแห้ง หิดแบบชื้น หิดแบบเม็ดทราย หิดเป็นหนอง
ลมพิษ Urticaria 癮疹 (瘾疹) Yǐn zhěn 風癮疹 (风瘾疹) Fēng yǐn zhěn
อาการสำคัญคือคันที่ผิวหนัง เมื่อเกาจะเกิดผื่นนูนขึ้นหรือเป็นปื้น เปลี่ยนที่เป็นๆหายๆ สาเหตุเกิดจากพิษลม
ผื่นผิวหนังติดเชื้อราอักเสบเรื้อรัง Dry ringworm 乾癬 (干癣) Gàn xuǎn
เป็นโรคคันตามผิวหนัง เรื้อรังและรักษายาก สาเหตุเกิดจากพิษภัยลมและความชื้นแทรกเข้าชั้นระหว่างผิวหนังกับกล้ามเนื้อ แล้วถูกพิษภัยจากความเย็นชื้นซ้ำ และกระทบกับชี่และเลือด รอยโรคที่ผิวหนังมีขอบเขตชัดเจน ผิวหนานูนขึ้นและแห้งแตก คัน ตรงที่คันจะเป็นขุยจากการเกา
โรคสะเก็ดเงิน Psoriasis 白疕 (白疕) De bái bǐ; 松皮癬 (松皮癣) Sōng pí xuǎn
เป็นโรคผิวหนังที่เป็นปื้นสีแดงรูปร่างต่างๆ ที่ผิวมีสะเก็ดสีเงิน ถ้าขูดสะเก็ดออกจะพบว่ามีจุดเลือดออก เป็นโรคที่มีสาเหตุจากธาตุร่างกายแต่กำเนิด หรือร่างกายมีภาวะเลือดพร่องทำให้เกิดพิษลมและแห้งขึ้น หรือเกิดจากพิษภัยจากความชื้นและเลือดคั่งอุดกั้น
ต่อมไขมันอักเสบ Seborrheic dermatitis 面遊風 (面游风) Miàn yóu fēng
เป็นโรคผิวหนังที่เกิดบริเวณใบหน้าซึ่งมีต่อมไขมันอยู่มาก มีอาการแสดงที่สำคัญคือใบหน้าจะเกิดปื้นสีแดง ผิวเป็นขุย คัน ในบางรายที่มีอาการหนักจะมีการบวมตึงหรือเป็นแผล สาเหตุเกิดจากม้ามและปอดมีภาวะร้อนชื้น หรือถูกพิษภัยจากลม
สิว Acne 粉刺 (粉刺) Fěncì; 酒刺 (酒刺) Jiǔ cì
เป็นโรคผิวหนังตามใบหน้าและหลัง เกิดตุ่มสิวที่มีหัวดำหรือหัวขาว มีหนองหรือจับเป็นก้อน บวมเป็นถุง และมีรอย.แผลเป็น สาเหตุเกิดจากถูกพิษลมแทรกเข้าเส้นปอด ในกระเพาะอาหารมีภาวะร้อน หรือเกิดภาวะเลือดคั่งในตับ
ผมร่วงเป็นหย่อม Alopecia areata 油風 (油风) Yóu fēng
เป็นโรคผิวหนังที่จู่ๆ ก็เกิดอาการผมร่วงเป็นหย่อมๆ ทำให้เห็นหนังศีรษะล้านเลี่ยน แต่ไม่มีอาการไม่สบายอย่างอื่น สาเหตุเกิดจากร่างกายมีภาวะลมกำเริบและเลือดมีภาวะแห้งทำให้หนังศีรษะขาดการหล่อเลี้ยง หรือเกิดจากอารมณ์ไม่แจ่มใสทำให้ชี่และเลือดไม่ผสานกัน
ผื่นตาแมว Erythema multiforme 貓眼瘡 (猫眼疮) Māo yǎn chuāng
ผื่นแพ้หลากรูปแบบ (Erythema multiforme, EM) เป็นโรคผิวหนังลักษณะเป็นปื้นสีแดงแผ่ขยายเป็นวงไปรอบๆ ตรงกลางเป็นตุ่มน้ำทำให้มีประกายเหมือนตาของแมว (จึงเรียกว่า “ผื่นตาแมว”) มักเกิดกับผิวหนังบริเวณมือและเท้า และยังพบได้ที่บริเวณปากและตารวมทั้งบริเวณรอบอวัยวะสืบพันธุ์ สาเหตุเกิดจากพิษภัยจากลมความเย็นความชื้นและความร้อนรุกเข้าสู่ส่วนอิ๋งและเลือด
ตุ่มแดงที่ขาจากหลอดเลือดผิวหนังอักเสบ Erythema nodosum 瓜藤纏 (瓜藤缠) Guā téng chán
เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากพิษภัยจากร้อนชื้นไหลลงขา หรือเกิดจากเลือดคั่งเป็นเวลานานแล้วทำให้เกิดพิษร้อนขึ้น มีอาการแสดงที่สำคัญคือที่ขาเกิดเป็นปุ่มนูนสีแดงขนาดโตพอควร กระจายเป็นเส้นคล้ายเถาวัลย์พันรอบขา
โรคหนังแข็ง Skin impediment 皮痹 (皮痹) Pí bì
สาเหตุเกิดจากส่วนอิ๋งและเว่ยของร่างกายทำงานไม่ประสานกัน พิษภัยจากลม ความเย็น ความชื้นหรือความร้อนจึงสามารถฉวยโอกาสเข้าจับที่ผิวหนัง อุดกั้นเส้นลมปราณและรุกเข้าถึงอวัยวะภายใน ทำให้ผิวหนังบางส่วนหรือผิวหนังทั้งตัวเกิดการบวมและแข็งขึ้นตามลำดับ ผิวหนังเหี่ยวย่น ในรายที่มีอาการรุนแรงโรคจะรุกเข้าสู่อวัยวะภายในได้
คันตามผิวหนัง Generalized itching 身癢 (身痒) Shēn yǎng
เป็นความรู้สึกคันตามผิวหนัง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพิษลมรุกเข้าที่ส่วนผิวของร่างกาย หรือเกิดจากภาวะร้อนในเลือดรบกวนมาจากภายใน หรือเกิดจากภาวะเลือดพร่องทำให้ไม่สามารถหล่อเลี้ยงผิวหนังได้ตาม ปกติ เป็นอาการที่พบในโรคผิวหนังหลายชนิด รวมทั้งอาการคันจากการแพ้อาหาร แพ้ยา อาการคันก่อนมีประจำเดือน อาการคันขณะตั้งครรภ์ และอาการคันตามซอกในที่ลับ
ชาตามผิวหนัง Numbness of the skin 肌膚麻木 (肌肤麻木) Jī fū má mù
เป็นอาการที่ไม่ใช่เจ็บหรือคัน แต่รู้สึกเหมือนมีตัวอะไรไต่อยู่ซึ่งยิ่งเกาจะยิ่งรู้สึก ไม่ว่าจะกดหรือหนีบก็ไม่รู้สึก สาเหตุส่วนมากเกิดจากชี่และเลือดพร่อง เส้นลมปราณขาดการบำรุงหล่อเลี้ยง หรือชี่และเลือติดขัด หรือพิษภัยจากความเย็น ความชื้น เสมหะ เลือดคั่งค้างอยู่ในเส้นลมปราณ
ริดสีดวงทวาร Hemorrhoid 痔 (痔) Zhì
(1) โดยทั่วไปหมายถึงโรคที่เกิดบริเวณทวารหนักหลายชนิด
(2) หมายถึงการที่ช่องเปิดต่างๆ ของร่างกาย (ทวารทั้ง 9) เกิดก้อนเนื้อเล็กนูนขึ้น การแพทย์แผนปัจจุบันได้แบ่งริดสีดวงทวารออกเป็นริดสีดวงภายนอก ริดสีดวงภายใน และริดสีดวงที่เป็นทั้งภายนอกและภายใน สาเหตุส่วนมากเกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น เป็นผู้ที่ธาตุร่างกายมีภาวะร้อนชื้นสะสม การรับประทานอาหารเผ็ดจัด การออกแรงเบ่งขณะคลอดลูก ท้องผูก หรือท้องเสียเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้ภายในร่างกายเกิดลมทำให้แห้ง ความร้อนชื้นติดค้าง ชี่ที่ขุ่นและเลือดคั่งไหลลงสู่ทวารหนัก
ริดสีดวงทวารภายใน Internal hemorrhoid 內痔 (内痔) Nèi zhì
เกิดจากลมชื้นจากภายนอก พิษร้อนที่คั่งขึ้นภายใน และพิษร้อนชื้นลงสู่บริเวณทวารหนักหรือมีภาวะม้ามพร่องชี่ทรุดลง การนั่งติดต่อกันเป็นเวลานานๆ การแบกของหนัก ท้องผูก สาเหตุเหล่านี้ทำให้ชี่และเลือดติดค้างที่บริเวณทวารหนัก เส้นเลือดที่ผนังด้านในเหนือแนวหยักของทวารหนักขอดและมีเยื่อบุคลุม ทำให้ เกิดอาการถ่ายปนเลือด มีหัวริดสีดวงปูดออกเวลาถ่าย ท้องผูก
ริดสีดวงทวารภายนอก External hemorrhoid 外痔 (外痔) Wài zhì
เกิดจากผิวทวารหนักถูกเสียดสีหรืออักเสบติดเชื้อ ทำให้ใต้รอยหยักทวารหนักลงมามีเนื้อเยื่อบวมขึ้น มีผิวเป็นเนื้อเยื่อผิวหนัง ไม่สามารถดันกลับเข้าไปในทวารหนักได้
ฝีคัณฑสูตร Anal fistula 肛漏 (肛漏) Gāng lòu; 肛瘻 (肛瘘) Gāng lòu
เกิดจากฝีรอบทวารหนักแตกออกแล้วแผลไม่สมาน หรือเมื่อผ่ากรีดหนองแล้วเหลือช่องว่างไว้ ทำให้เกิดฝีคัณฑสูตรที่มีปากนอกและปากใน หรือมีปากนอกหลายจุดซึ่งจะมีน้ำหนองหรือน้ำอุจจาระไหลออกมา หรือมีวัตถุเป็นเส้นออกมาด้วย ส่วนปากในจะอยู่ที่บริเวณรอยหยักของทวารหนัก
ทวารหย่อน Prolapse of the rectum 脫肛 (脱肛) Tuō gang
มีสาเหตุจากชี่ของม้ามและไตอ่อนแอ ชี่ในช่องท้องทรุดลง ไม่สามารถดึงรั้งอวัยวะภายในไว้ได้ ทำให้ทวารหย่อนออกมาในเวลาที่ขับถ่ายอุจจาระหรือออกแรง เมื่อคู้เข่าจะมีเยื่อบุลำไส้หรือลำไส้ตรงทั้งท่อนหลุดออกมาภายนอก มีน้อยรายเท่านั้นที่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายจะหลุดออกมาได้ ในรายที่มีอาการรุนแรงจะไม่สามารถดันลำไส้ที่หย่อนออกมาให้กลับคืนเข้าไปดังเดิม
ติ่งเนื้อในลำไส้ Polyp of rectum 息肉痔 (息肉痔) Xí ròu zhì
เกิดจากพิษร้อนชื้นไหลลงล่างทำให้การไหลเวียนของชี่ติดขัด ก้อนเลือดและชี่ที่ไม่บริสุทธิ์จับตัวกัน หรือพิษลมเข้าสู่ลำไส้ ทำให้ชี่และเลือดตีกันจับเป็นก้อน ทำให้ในเยื่อบุลำไส้เกิดเนื้องอกที่อาจมีขั้วหรือไม่มีขั้ว และอาจหลุดออกมาภายนอกเป็นริดสีดวงทวารที่มีลักษณะเป็นก้อนเนื้อ
สอบถามข้อมูลการรักษา
LINE OA : @huachiewTCM
25 ก.ย. 2567