Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 9955 จำนวนผู้เข้าชม |
ต่อมลูกหมากอักเสบ เป็นโรคหนึ่งในระบบทางเดินปัสสาวะเพศชาย โดยมีกลุ่มอาการปวดแน่น ปวดหน่วง หรือปวดเล็กน้อยแบบน่ารำคาญบริเวณท้องน้อย หัวเหน่า บริเวณรอบๆหรือรวมทั้งอวัยวะเพศชาย ร่วมกับอาการปัสสาวะไม่สะดวก มีน้ำหล่อลื่นไหลมากกว่าปกติโดยไม่สามารถควบคุมตามปกติได้ แต่ไม่มีภาวะปัสสาวะขุ่น เป็นอาการหลัก สาเหตุการเกิดโรคทางการแพทย์แผนจีนเกิดจาก ความร้อนชื้นลงสู่เบื้องล่าง ภาวะอินพร่องจนไฟลุกโชน คลังเก็บอสุจิมีเลือดคั่งเป็นต้น
อาการต่อมลูกหมากอักเสบตามการแพทย์แผนจีน
สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ
1. ต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งอยู่ในกลุ่มโรค จิงจั๋ว (精浊) และหลินจั๋ว(淋浊)
2. ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง ซึ่งอยู่ในกลุ่มโรค หลินเจิ้ง(淋证)
สาเหตุการเกิดโรคตามการแพทย์แผนจีน
1. ร้อนชื้นลงสู่เบื้องล่าง (湿热下注)
มักพบในคนไข้ที่ชอบรับประทานอาหาร รสจัด เผ็ดร้อน มัน รสชาติเข้มข้น หรือชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้เกิดความร้อนชื้นสะสมในร่างกาย นานเข้าความร้อนชื้นเคลื่อนลงกระทบเบื้องล่างของลำตัว มีผลต่อชี่และเลือดบริเวณคลังเก็บอสุจิและท่อทางเดินอสุจิเกิดการติดขัด ไม่ไหลเวียน นำไปสู่การอักเสบของต่อมลูกหมาก
2. พิษร้อนรุกราน (热毒流注)
พิษร้อนซึ่งเป็นปัจจัยก่อโรคภายนอก รุกรานเข้าสู่ระดับอิ๋งและเลือด เคลื่อนเข้าทำลายบริเวณอวัยวะเพศและพื้นที่โดยรอบของคนไข้ หรือเกิด จื่อยง (子痈คือ อัณฑะและหลอดเก็บอสุจิอักเสบ) หลินเจิ้ง (淋证 คือ ปัสสาวะขัด การติดเชื้อหรือการอักเสบในระบบทางเดินปัสสาวะ) ที่มีสาเหตุจากความร้อนชื้นซึ่งเป็นปัจจัยก่อโรคภายนอก ไหลเข้าทำลายบริเวณอวัยวะเพศและพื้นที่โดยรอบอวัยวะเพศ เกิดเป็นพิษร้อน ความชื้นสะสมในบริเวณกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลต่อชี่ของกระเพาะปัสสาวะแปรสภาพไม่ปกติ นำไปสู่การอักเสบของต่อมลูกหมาก
3. ชี่ติดขัดเลือดคั่ง (气滞血瘀)
จุดหุ้ยอิน (会阴) บริเวณฝีเย็บเกิดการกดทับเป็นเวลานานจากการ การนั่งนาน ขับรถหรือโดยสารรถ เครื่องบิน เป็นต้น ทำให้ชี่และเลือดที่ไหลเวียนผ่านจุดหุ้ยอินเกิดการติดขัด ท่อและต่อมต่างๆ บริเวณหุ้ยอินเกิดการอุดตันเป็นเวลานานนำไปสู่การอักเสบของต่อมลูกหมาก
4. ชี่ไตไม่เก็บกัก (肾气不固)
การมีเพศสัมพันธ์ สำเร็จความใคร่มากเกินไป สารจิงของไตได้รับผลกระทบ การเปิดปิดของ คลั่งเก็บอสุจิเสียการควบคุม สารจิงไม่สามารถเก็บกักได้ นำไปสู่การอักเสบของต่อมลูกหมาก
หลักการวินิจฉัย
1. ต่อมลูกหมากอักเสบมีความสัมพันธ์กับอวัยวะตับ ม้าม กระเพาะปัสสาวะเป็นที่สุด มีความสัมพันธ์กับเส้นลมปราณ 4 เส้นคือ เส้นลมปราณเส้าหยาง เญิ่นม่าย ตูม่าย ชงม่าย และเส้นลมปราณเจวี๋ยอิน
2. ต่อมลูกหมากอักเสบ มีสาเหตุจาก ความร้อนชื้นซึ่งเป็นปัจจัยก่อโรคภายนอก การดื่มเหล้า สุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น ๆ การมีเพศสัมพันธ์ หรือสำเร็จความใคร่มากเกินไปซึ่งเป็นปัจจัยก่อโรคภายใน โดยกลไกการดำเนินโรคคือภาวะร้อนชื้น ภาวะติดขัด ภาวะไตพร่อง
แนวทางการวินิจฉัย
1. พบมากในเพศชายวัยรุ่น วัยทำงาน วัยกลางคน
2. อาการทางคลินิกหลากหลาย
อาการอักเสบ
ปวดแสบปวดร้อนในทางเดินปัสสาวะ อาการปวดแน่น ปวดหน่วง หรือปวดเล็กน้อยแบบน่ารำคาญบริเวณท้องน้อย หัวเหน่า บริเวณรอบๆหรือรวมทั้งอวัยวะเพศชาย
อาการไม่สบายบริเวณอวัยวะเพศและพื้นที่ใกล้เคียง
เช่นรู้สึกผิดปกติ แน่น หน่วง ไม่สบายตัว บริเวณหัวเหน่า ฝีเย็บ
การขับปัสสาวะมีปัญหา
ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะบ่อยในเวลากลางคืน
เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
อารมณ์ทางเพศลดลง การแข็งตัวขององคชาติมีปัญหา
มีความผิดปกติบริเวณรอบทวารหนัก
แสบร้อน ปวดแน่น ปวดหน่วง
อาการทั้งร่างกาย
เหนื่อยอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ปวดหัว เป็นต้น
การตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก
พบขนาดต่อมลูกหมากปกติ หรือขยายใหญ่ขึ้น หรือเล็กลง สองซีกของต่อมลูกหมากอาจมีขนาดไม่เท่ากัน เนื้อเยื่อมีความแข็งมากขึ้น พื้นผิวไม่เรียบ อาจสัมผัสพบมีก้อนลักษณะตะปุ่มตะป่ำหรืออ่อนนุ่มเป็นบางบริเวณ และมีจุดกดเจ็บ
ตรวจน้ำต่อมลูกหมาก
พบเม็ดเลือดขาวเป็นจำนวนมาก
เพาะเชื้อจากน้ำต่อมลูกหมาก
เพื่อแยกแยะต่อมลูกหมากอักเสบแบบติดเชื้อ กับต่อมลูกหมากอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ ในทางคลินิกประมาณ85% คือต่อมลูกหมากอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ และ 15% คือต่อมลูกหมากอักเสบแบบติดเชื้อ
การตรวจแยกแยะโรค
ตารางแสดงการตรวจแยกแยะโรคระหว่าง โรคต่อมลูกหมากอักเสบ โรคต่อมลูกหมากโต และการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
วิธีการรักษาตามกลุ่มอาการ
กลุ่มอาการแกร่ง
1. กลุ่มอาการพิษร้อนรุกราน (热毒流注)
อาการแสดง
ตัวร้อน กลัวหนาว ปัสสาวะบ่อย เจ็บขณะปัสสาวะ ปวดเจ็บ ปวดหน่วง ปวดแน่นบริเวณหัวเหน่า บริเวณท้องน้อย กระเพาะปัสสาวะ ขับปัสสาวะรู้สึกไม่สะดวก รู้สึกติดขัด คอแห้งกระหายน้ำ ลิ้นสีแดง ฝ่าบนลิ้นสีเหลือง ชีพจรลื่นเร็ว
วิธีการรักษา
ดับร้อนถอนพิษ ระบายไฟขับความชื้น
ตำรับยา
เพิ่มลดตำรับปาเจิ้งส่าน
2. กลุ่มอาการเซี่ยเจียวเลือดคั่ง (下焦血瘀)
อาการแสดง
เจ็บขัดขณะปัสสาวะ มีอาการปวดเหมือนเข็มทิ่มร่วมกับรู้สึกไม่สบายที่บริเวณจุดหุ้ยอิน (ฝีเย็บ) อาจพบปัสสาวะหรือน้ำอสุจิเป็นเลือดหรือมีเลือดปน ปวดเมื่อยเอว ลิ้นสีม่วงคล้ำ มีลอยช้ำบนลิ้น ชีพจรตึงและฝืด
วิธีการรักษา
เพิ่มการไหลเวียนเลือด สลายเลือดคั่ง ปรับการไหลเวียนชี่ สลายการติดขัด
ตำรับยา
เพิ่มลดตำรับเฉียนเรี่ยเสี่ยนฟาง
3. กลุ่มอาการร้อนชื้นสะสมเบื้องล่าง (湿热下注)
อาการแสดง
ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่ได้ แสบร้อนในท่อทางเดินปัสสาวะ ปวดแน่นบริเวณจุดหุ้ยอิน (ฝีเย็บ) ปัสสาวะสีเข้ม ปริมาณน้อย อุจจาระแห้งแข็ง ถ่ายลำบาก ลิ้นสีแดง ฝ่าบนลิ้นสีเหลืองเหนียว ชีพจรลื่นเร็ว
วิธีการรักษา
ดับร้อนถอนพิษ ขับไล่ความชื้น
ตำรับยา
เพิ่มลดตำรับเฉิงฉื้อปี้เซี่ยเฟินชิงอิน
กลุ่มอาการพร่อง
1. กลุ่มอาการชี่ไตไม่เก็บกัก (肾气不固)
อาการแสดง
ปวดเมื่อยเอวเข่า เวียนศีรษะ ไม่มีเรี่ยวแรง นอนไม่หลับ ขี้หลงขี้ลืม มีอาการผิดปกติบริเวณจุดหุ้ยอิน (ฝีเย็บ) และท้องน้อย น้ำกามเคลื่อน หลั่งเร็ว มีน้ำต่อมลูกหมากไหลออกมา ลิ้นบวมใหญ่สีแดงอ่อน ฝ่าบนลิ้นบาง ชีพจรเล็กไม่มีแรง
วิธีการรักษา
บำรุงไต เก็บกักสารจิง
ตำรับยา
เพิ่มลดตำรับทู่ซือจื่อหวาน
2. กลุ่มอาการอินพร่องไฟลุกโชน (阴虚火旺)
อาการแสดง
เวียนศีรษะ มีเสียงในหู ปวดเล็กน้อยหรือปวดหน่วงน่ารำคาญบริเวณจุดหุ้ยอิน (ฝีเย็บ) น้ำต่อมลูกหมากไหล รู้สึกร้อนวูบวาบ มีเหงื่อออกขณะนอนหลับ ฝ่ามือฝ่าเท้ากลางหน้าอกร้อน ลิ้นสีแดง ฝ่าบนลิ้นน้อย ชีพจรเล็กเร็ว
วิธีการรักษา
บำรุงอิน ลดความไฟ ระบายความร้อน
ตำรับยา
เพิ่มลดจือป๋อตี้หวงหวาน หรือ จั่วกุยหวาน
แนวความคิดและจุดโดดเด่นของการแพทย์แผนจีนและการแพทย์แผนตะวันตก ต่อการรักษาต่อมลูกหมากอักเสบ
- ต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลัน เมื่อรักษาด้วยการแพทย์แผนจีนร่วมกับการแพทย์แผนตะวันตกสามารถเสริมประสิทธิภาพการรักษา เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาด้วยการแพทย์แผนจีนหรือการแพทย์ตะวันตกอย่างให้อย่างหนึ่ง
- ต่อมลูกหมากติดเชื้ออักเสบเรื้อรัง มีการดำเนินโรคที่ยาวนาน การใช้การแพทย์แผนจีนในการรักษา สามารถปรับการหลั่งของต่อมต่าง ๆ ในต่อมลูกหมากให้ทำงานดีขึ้น ปรับและกระตุ้นการทำงานของการหลั่งสารคัดหลั่งให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยาจีนสามารถกระตุ้น และเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไปจนถึงบริเวณต่อมลูกหมากให้ทำงานดีขึ้น สามารถลดและบรรเทาอาการแสดงต่าง ๆ จากการอักเสบ ลดระยะเวลาในการรักษาให้สั้นลง เพิ่มประสิทธิภาพของการรักษา และเพิ่มประสิทธิผลของการรักษา
- ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังในระยะเริ่มแรกหรือระยะอาการกำเริบในช่วงแรก มักมีสาเหตุหลักมากจาก “ความร้อนชื้น” เข้ารุกรานทางเดินปัสสาวะทำให้เกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือเจ็บขณะปัสสาวะที่อาการค่อนข้างรุนแรง การรักษาด้วยยาจีน เลือกใช้วิธีการดับร้อน ระบายไฟ ขับความชื้นเป็นหลัก
สำหรับคนไข้ที่อาการเรื้อรัง หายยาก มักมีสาเหตุมาจาก “ม้ามและไตพร่อง ร่วมกับความร้อนชื้นคั่งค้าง” กล่าวคือ คนไข้มีภาวะเจิ้งชี่พร่อง (正气虚) และความร้อนชื้นซึ่งเป็นปัจจัยก่อโรคภายนอกตกค้างในร่างกาย เกิดเป็นกลุ่มอาการพร่องแกร่งระคน มีอาการแสดงคือปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะไม่มีแรง ปัสสาวะไม่หมด สมรรถภาพทางเพศลดลง
คนไข้บางส่วนมีอาการปวดเจ็บร่วม ซึ่งเป็นอาการร่วมกับกลุ่มอาการโรคชี่ติดขัดและเลือดคั่ง หนักขึ้นมีอาการอารมณ์กระสับกระส่าย ซึมเศร้า ท้อแท้เป็นต้น ในระยะนี้การรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีนต้องบำรุงม้ามไตทีละน้อย ร่วมกับเพิ่มการรักษาการดับร้อน ระบายไฟ ขับความชื้น ไล่ปัสสาวะขุ่น ทะลวงอาการหลินเจิ้ง เพิ่มการไหลเวียนเลือด สลายเลือดคั่ง ปรับการไหลของชี่ ระงับอาการปวด กระจายชี่ของตับ ลดภาวะซึมเศร้า ตามอาการแสดงของคนไข้
เมื่อการตั้งตำรับยา แพทย์จีนจะคำนึงถึงการรักษาตามอาการแสดงหลักและรักษาที่สาเหตุอาการ (标本兼治) ฟื้นฟูเจิ้งชี่กำจัดเสียชี่ (สาเหตุจากปัจจัยภายนอก) (扶正祛邪) ร่วมกันแล้วผลการรักษาก็จะยิ่งเห็นผลได้เป็นประจักแจ้ง แต่ในกรณีที่คนไข้ใช้ยาจีนแล้วผลการรักษาไม่ชัดเจน สามารถเพิ่มการใช้ยากลุ่มปิดกั้นแอลฟา และยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดอาการทางคลินิก
- ต่อมลูกหมากสามารถคัดหลั่งและเก็บสะสมน้ำต่อมลูกหมาก ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนกล่าวถึงต่อมลูกหมากตามอวัยวะตัน(脏) ไว้ว่า “เก็บกักแต่ไม่ระบายออก” “เต็มได้แต่ห้ามแกร่ง” อวัยวะกลวง (腑) ไว้ว่า “ระบายโดยไม่เก็บกัก” “แกร่งแต่ไม่เต็ม” ซึ่งเป็นสรีระวิทยาพิเศษของต่อมลูกหมาก ที่สามารถเก็บกักอสุจิและน้ำต่อมลูกหมาก และยังคัดหลั่งน้ำต่อมลูกหมากและหลั่งอสุจิ ทำงานได้ทั้งการเก็บและการปล่อย ส่งเสริมการทำงานซึ่งกับและกัน จึงจัดเป็นอวัยวะพิเศษ (奇恒之腑) พยาธิสภาพคือเกิดภาวะพร่อง คั่ง ติดขัดได้ง่าย จึงต้องทำให้มีการไหลเวียนระบายภายในต่อมลูกหมากอยู่เสมอ การรักษาจึงควรคำนึงถึงการระบาย ทะลวงต่อม ทำให้ท่อต่าง ๆ ในต่อมไหลเวียนได้ดี
ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดที่สาม อาการแสดงทางคลินิก อาทิ การไหลของปัสสาวะมีการเปลี่ยนแปลง มีการไหลย้อนกลับของปัสสาวะ การเกร็กกระตุกของกล้ามเนื้อในช่องเชิงกราน คิดวิตกกังวล ซึมเศร้า เป็นต้น
ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนสามารถอธิบายโดย ตับควบคุมการกระจายการระบายออก ชี่ตับที่กระจายออกทำให้เลือดและสารน้ำต่างๆ มีการไหลเวียนที่เป็นปกติ ตับยังสามารถควบคุมอารมณ์ เมื่อชี่ตับทำงานตามปกติ สภาพจิตใจ อารมณ์ก็เป็นปกติ เมื่อชี่ตับเกิดติดขับ อารมณ์ก็จะติดขัด กดดัน ทำให้อาการของโรคเป็นหนักมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น การรักษาต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดที่สาม สามารถเพิ่มวิธีการ กระจายชี่ตับ ปรับการไหลเวียนของชี่ตับ ร่วมกับดับร้อนถอนพิษ ระบายไฟขับความชื้น เพิ่มการไหลเวียนเลือด สลายเลือดคั่ง และในกรณีที่คนไข้ใช้ยาจีนแล้วผลการรักษาไม่ชัดเจน สามารถเพิ่มการใช้ยากลุ่มปิดกั้นแอลฟา และยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดอาการทางคลินิกได้ด้วยเช่นกัน
คำแนะนำเพิ่มเติมและข้อควรระวัง
โรคต่อมลูกหมากอักเสบเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ อาการแสดงเป็นๆ หายๆ น่ารำคาญใจ โอกาสในการเป็นโรคซ้ำสูงมาก เพราะฉะนั้นต้องตั้งใจในการรักษาอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการปรับพฤติกรรมที่ส่งผลต่อการเกิดโรคต่อมลูกหมากอักเสบ เช่น การรับประทานอาหารเผ็ดร้อน รสจัด อาการทอด ปิ้ง ย่าง อาหารที่มีความมันมากเกินไป นั่งเป็นเวลานาน ความเครียด วิตกกังวล โมโห การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ถูกต้องเป็นต้น พึ่งต้องระวังต่อการกระตุ้นการเกิดโรคต่อมลูกหมากอักเสบ
บทความโดย
แพทย์จีน จิตติกร พิมลเศรษฐพันธ์ (พาน จ้าย ติง)
潘在丁 中医师 TCM. Dr. Jittikorn Pimolsettapun (Pan Zai Ding)
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.735
แพทย์จีนเฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินปัสสาวะและโรคระบบสืบพันธุ์เพศชาย
โรคระบบทางเดินปัสสาวะ (กรวยไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมาก ท่อปัสสาวะ) ทางเดินปัสสาวะอักเสบ, นิ่วในทางเดินปัสสาวะ , ผลข้างเคียงจากโรคมะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะ
เอกสารอ้างอิง
[1] Hanjun Tang, sheng Liu, Lei Chen. Dialectical thinking and methods of common diseases in traditional Chinese medicine surgery[M], Peking : People's Health Publishing House, 2020, 460.
[2] Zhiqiang Chen. Specialized diseases in andrology - clinical diagnosis and treatment of traditional Chinese Medicine[M], Pekjing : People's Health Publishing House, 2013,1.
[3] Minjian Zhang. Andrology of integrated traditional Chinese and Western Medicine[M], Pekjing : Science Press, 2017,178.
24 ก.ย. 2567
30 ส.ค. 2567