ก้อนที่เต้านมสามารถบรรเทาได้ด้วยแพทย์แผนจีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  7389 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ก้อนที่เต้านมสามารถบรรเทาได้ด้วยแพทย์แผนจีน

ก้อนที่เต้านมเป็นอาการผิดปกติที่พบได้บ่อย ในทางแพทย์แผนจีนจัดอยู่ในขอบเขตโรค หรู่พี่(乳癖) การเกิดโรคเกี่ยวข้องกับพื้นฐานร่างกายไตพร่องเป็นหลัก ทำให้ชงม่าย เญิ่นม่ายขาดสมดุล ควบคู่ไปกับอารมณ์ที่แปรปรวน ครุ่นคิด กังวล หงุดหงิด โมโหส่งผลให้ชี่ตับติดขัด ตับม้ามและกระเพาะไม่สมดุล สะสมเป็นเวลานานทำให้ ชี่ติดขัด เลือดอุดกั้น เสมหะชื้น เกิดการอุดตันในเต้านม ก่อให้เกิดก้อนที่เต้านมในที่สุด

สิ่งผิดปกติที่ต้องรีบมาพบแพทย์

  • คลำเจอก้อนที่เต้านม
  • มีอาการเจ็บ ปวด เต้านม
  • หรือคลำเจอก้อนที่รักแร้
  • มีการเปลี่ยนแปลงขนาด หรือรูปร่างของเต้านม
  • ผิวหนังที่เต้านมเปลี่ยนแปลง รอยบุ๋ม ย่น หดตัวหรือหนาผิดปกติ
  • หัวนมมีการหดตัว คัน หรือมีผื่นแดงผิดปกติ
  • มีเลือดหรือของเหลวไหลออกจากหัวนม



ก้อนในเต้านม มีกี่ชนิด?

1. ก้อนในเต้านมชนิด ไฟโบรซีสติค (Fibrocystic changes) ก้อนชนิดนี้จะมีลักษณะขุขระ หยุ่นๆ ไม่แข็ง เคลื่อนที่ได้ และมักมาร่วมกับอาการเจ็บคัดเต้านมก่อนประจำเดือน และอาการเจ็บคัดจะหายไปหลังประจำเดือนหมด เป็นภาวะที่ต่อมและท่อน้ำนมมีปฏิกริยามากเกินไปต่อการกระตุ้นของฮอร์โมนระหว่างการตกไข่ ทำให้ฟังพังผืดเกาะตัวเป็นกลุ่มเป็นก้อน

2. ก้อนในเต้านมชนิด ไฟโบรอะดีโนมา (Fibroadenoma) ก้อนชนิดนี้มีลักษณะค่อนข้างกลม ผิวเรียบ เคลื่อนที่ได้ ไม่เจ็บ ไม่แข็งมาก มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เป็นเนื้องอกธรรมดาที่มีก้อนแข็งประกอบด้วยพังผืดและเนื้อเยื่อจากต่อมน้ำนม

3. ซีสต์ (Cyst) หรือถุงน้ำ ก้อนนี้จะพบได้มากในผู้หญิงที่มีประจำเดือน โดยลักษณะก้อนคือจะเป็นถุงน้ำซึ่งสามารถเคลื่อนที่ได้ จะเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้ ถุงน้ำนั้นจะมีได้หลายขนาดทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ยุบและหายเองได้ ภายหลังจากที่หมดประจำเดือน

4. มะเร็งเต้านม (Breast cancer) เกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม ทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้องอก โดยหากไม่ได้รับการรักษา มะเร็งจะโตขึ้นและกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ก่อนที่จะกระจายไปอวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก


ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเต้านม

สาเหตุของการเกิดก้อนที่เต้านมเชื่อว่ามาจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนจากร่างกายในแต่ละคน โดยเฉพาะผู้หญิงในช่วงที่มีฮอร์โมนเพศหญิงสูงก็ย่อมจะเสี่ยงที่จะทำให้เกิดก้อนขึ้นได้


สาเหตุการเกิดก้อนในเต้านม ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน

  • ก้อนในเต้านมทางแพทย์จีนกล่าวว่าสัมพันธ์กับอวัยวะตับ ม้าม ชงม่าย เญิ่นม่าย 
  • เกิดจากชี่ติดขัด เลือดอุดกั้น เสมหะความชื้น และร่างกายพร่อง
  • มีสาเหตุจากอารมณ์ที่แปรปรวน ครุ่นคิด กังวล หงุดหงิด โมโหส่งผลให้ชี่ตับติดขัด
  • การรับประทานอาหารหวานมันเป็นประจำทำให้เกิดเสมหะความชื้น
  • ได้รับปัจจัยเสียภายนอกจู่โจมเส้นลมปราณ 
  • อายุมากขึ้นร่างกายอ่อนแอพลังตับและไตอ่อน
  • การมีเพศสัมพันธ์มากเกินทำให้เลือดและชี่ไม่พอ
  • ชงเญิ่นขาดมดุล ชี่และเลือดติดขัดอุดกั้นเส้นลั่วม่ายที่เต้านมจนเกิดโรค

การรักษาตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน

ข้อดีของการรักษาตามศาสตร์แพทย์แผนจีนคือการควบคุมก้อนในเต้านมพร้อมกับสามารถปรับสมดุลร่างกาย ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกัน การรักษาก้อนในเต้านมด้วยยาจีนเป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไปและต้องทำอย่างต่อเนื่อง  ยาจีนมีบทบาทในการควบคุมการทำงานของร่างกายให้สมดุล แก้ปัญหาโรคโดยพื้นฐาน และหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่ไม่จำเป็น

สามารถแบ่งกลุ่มอาการได้ดังนี้

1. กลุ่มอาการชี่ตับติดขัด肝郁气滞证

อาการ : มีก้อนที่เต้านม อาจเจ็บคัดเป็นบางครั้ง  อารมณ์เก็บกดหงุดหงิด ใจร้อน ขี้โมโหง่าย ลิ้นมีฝ้าขาวบางหรือเหลืองบาง ชีพจรตึงลื่น

กลไกการเกิดโรค : อารมณ์แปรปรวน ชี่ตับไหลเวียนติดขัดอุดกั้นเส้นลมปราณที่ไหลผ่านเต้านม

วิธีรักษา : ใช้ยาในกลุ่มปรับชี่ตับ สลายเสมหะ สลายก้อน疏肝理气,化痰散结

2. กลุ่มอาการพิษร้อนสะสมอุดกั้น热毒蕴结证

อาการ : มีก้อนที่เต้านม โตเร็ว มีอาการปวดบางครั้งบวมแดง ใจร้อนหงุดหงิด ปากคอแห้ง ท้องผูก ปัสสาวะสั้นสีเข้ม ลิ้นสีแดงคล้ำ มีจุดเลือดคั่ง มีฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรตึงเร็ว

กลไกการเกิดโรค : เส้นลมปราณกระเพาะอาหารมีความชื้นร้อนสะสม แปรเปลี่ยนเป็นพิษร้อน ทำให้เลือดคั่งอุดกั้น

วิธีรักษา : ใช้ยาในกลุ่มระบายร้อนขับพิษ กระตุ้นการไหลเวียนเลือดสลายเลือดคั่ง清热解毒,活血化

3. กลุ่มอาการชงเญิ่นขาดสมดุล冲任失调证

อาการ : มีก้อนที่เต้านม ลักษณะก้อนแข็ง มีอาการเจ็บคัดเต้านมก่อนประจำเดือนมา หรือประจำเดือนมาไม่ปกติ กลัดกลุ้มเมื่อยล้า  ปวดเมื่อเอวขา  อาการร้อนทั้งห้า ปากคอแห้ง  ลิ้นซีดฝ้าน้อย ชีพจรเล็กไม่แรง

กลไกการเกิดโรค : ตับและไตอินพร่อง ชงเริ่นขาดการหล่อเลี้ยงบำรุง เลือดไหลเวียนติดขัด

วิธีรักษา : ใช้ยาในกลุ่มปรับสมดุลชงเญิ่น เสริมบำรุงตับและไต调理冲任,补益肝肾

4. กลุ่มอาการชี่และเลือดพร่อง气血两虚证

อาการ : มีก้อนที่เต้านม ประจำเดือนมาน้อย เวียนหัว หน้ามืดตาลาย หายใจสั้น ไม่มีแรง ใบหน้าซีดขาว ผอม เบื่ออาหาร ลิ้นซีด ชีพจรจมเล็กและไม่มีแรง

กลไกการเกิดโรค : เจิ้งชี่ถูกทำลาย ชี่และเลือดไม่เพียงพอ

วิธีรักษา : ใช้ยาในกลุ่มเสริมชี่บำรุงเลือด ขับพิษสลายก้อน益气养血,解毒散结

5. กลุ่มอาการม้ามและกระเพาะอาหารพร่อง脾胃虚弱证

 อาการ : มีก้อนที่เต้านม เบื่ออาหาร แน่นท้อง ถ่ายเหลวหรือท้องผูก ลิ้นซีดมีฝ้าขาวเหนียว ชีพจรเล็กอ่อนแรง

กลไกการเกิดโรค : เจิ้งชี่พร่อง การทำงานม้ามและกระเพาะอ่อนแรง

วิธีรักษา : เสริมม้าม ปรับการทำงานกระเพาะอาหาร และปรับการไหลเวียนชี่ 健脾和胃理气
การดูแลและป้องกัน

เส้นลมปราณที่ส่งผลต่อเต้านมมากที่สุดคือ "เส้นลมปราณกระเพาะอาหาร" และ "เส้นลมปราณตับ" หากเส้นลมปราณถูกปิดกั้นจะทำให้เป็นโรคทางเต้านมได้ เส้นลมปราณตับเกี่ยวข้องกับอารมณ์ และเส้นลมปราณกระเพาะอาหารต้องการการดูแลการบริโภคอาหารเป็นพิเศษ

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง เช่น นมผึ้ง น้ำเต้าหู้
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสหวานและไขมันสูง แคลอรีสูง เช่น ช็อกโกแลต
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ อาหารรสจัด
  • หลีกเลี่ยงการทานของเย็น
  • อย่ากินอาหารที่อุ่นร้อนมากเกินไป เช่น เนื้อแกะ
  • หลีกเลี่ยงการกินของที่มี "ไขมัน" เช่น เนื้อแกะ เครื่องในสัตว์ หนังหมู อาหารทะเล
  • หลีกเลี่ยงอาหารเสริมที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง เช่น รังนก
  • หลีกเลี่ยงการโกรธและหดหู่ ความเครียด "อารมณ์" เป็นตัวการใหญ่ของโรคทางเต้านม

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง

  • ตรวจเต้านมด้วยตนเอง อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง 
  • ตรวจเป็นประจำทุกเดือน
  • ตรวจหลังประจำเดือนมา 7 – 10 วัน นับจากวันแรกของการมีประจำเดือน
  • ตรวจวันเดียวกันของทุกเดือน ถ้าไม่มีประจำเดือนแล้ว

------------------------

เขียนบทความโดย

แพทย์จีน ศศินิภา กายเจริญ (หมอจีน เฝิง เจี๋ย อวี่)
冯解语 中医师
TCM. Dr. Sasinipa Kaicharoen (Feng Jie Yu)

แผนกอายุรกรรม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้