Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 2392 จำนวนผู้เข้าชม |
โดยทั่วไปเรามองอาการไอ ว่าเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ที่เข้ามารบกวนบริเวณลำคอ หรือทางเดินหายใจ เป็นลักษณะปกติเพื่อปกป้องปอด ถ้าหากมีอาการไอร่วมกับอาการอื่น ๆ หรือไอเรื้อรัง อาจจะเป็นลักษณะเฉพาะของโรคที่เราควรจะให้ความสนใจ และรีบพบแพทย์เพื่อรักษา ซึ่งแบ่งได้ 2 ประเภท อาการไอเฉียบพลัน มีอาการไอต่อเนื่องในช่วง 2-3 สัปดาห์ ถ้าหากเป็นอาการไอเรื้อรังอาจยาวนานต่อเนื่องถึง 8 สัปดาห์ หรือนานกว่า โดยส่วนมากอาการไอมักเป็นอาการอักเสบของระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หลอดลมอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น โรคอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการไอ ได้แก่ การอักเสบเรื้อรังในปอด เช่น วัณโรค หลอดลมอักเสบเป็นหนองเรื้อรัง ฝีในปอด และมะเร็งในปอด เป็นต้น รวมถึงภาวะลองโควิดที่พบได้มากขึ้นในปัจจุบัน
ในศาสตร์การแพทย์แผนจีนอาการไอ (咳嗽 เขอ โซ่ว) ถูกแยกออกมาจากโรคไข้หวัดต่าง ๆ โรคไข้หวัดอาจมีอาการเป็นไข้ กลัวลม น้ำมูกไหล อาจมีไอร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ อาการไออาจเป็นอาการต่อเนื่องหลังจากเป็นไข้หวัดหรือปัจจัยอื่น ๆ อาจมีไข้หรือไม่มีไข้ร่วมก็ได้ อาการ/โรคไอในมุมมองของการแพทย์แผนจีนมีสาเหตุเกิดจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ทำให้กลไกการทำหน้าที่ของปอดไม่สามารถควบคุมชี่ขึ้นลงเข้าออก ทำให้ชี่ปอดย้อนกลับ ตำแหน่งของโรคอยู่ที่ปอด อาการไอถือเป็นโรคที่พบได้บ่อยในอายุรกรรมแพทย์แผนจีน ในคัมภีร์เน่ยจิง ซู่เวิ่น กล่าวว่า “ชี่ทั้งห้าทำให้เกิดโรค.......เป็นที่ปอดทำให้เกิดอาการไอ” ซึ่งชี่ทั้งห้าหมายถึง ชี่ของอวัยวะตันทั้งห้า เมื่อเกิดความผิดปกติส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ ซึ่งมีสาเหตุจากสภาวะอากาศ ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไป หรือปัจจัยก่อโรคทั้งหก (ลม ความเย็น ความร้อนอบอ้าว ความชื้น ความแห้ง และไฟ ) มากระทบทำให้ชี่ปอด ขับเคลื่อนผิดปกติจึงเกิดอาการไอขึ้น นอกจากนี้อาการไออาจเกิดจากปัจจัยจากภายใน คือ ปัจจัยจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น การทานของทอดของมัน หรือของเย็นเป็นประจำ ส่งผลทำร้ายม้าม ก่อเกิดเป็นเสมหะอุดกั้นและเก็บสะสมไว้ที่ปอด ทางเดินหายใจอุดกั้น ชี่ปอดย้อนขึ้นและทำให้เกิดอาการไอ หรืออาจเกิดจากอารมณ์ก่อโรค เช่น อารมณ์โกรธโมโห หงุดหงิดง่าย มักทำให้ชี่ตับติดขัด ก่อเกิดไฟแล้วไปเผาผลาญเส้นลมปราณ ย้อนขึ้นกระทบปอด หรืออาจเกิดจากโรคของปอดเองหรือการเจ็บป่วยเรื้อรัง เมื่อเจ็บป่วยเป็นเวลานาน มักทำให้ทำลายชี่และสารอิน ปอดไม่สามารถควบคุมชี่ได้ ชี่ปอดขับเคลื่อนผิดปกติ หรือปอดแห้งไฟพร่องเผาผลาญสารน้ำกลายเป็นเสมหะอุดกั้นปอด ทำให้ชี่ปอดย้อนกลับจนทำให้เกิดอาการไอ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มอาการที่พบได้บ่อย มีดังนี้ คือ
1. สาเหตุจากปัจจัยภายนอก
2. สาเหตุจากปัจจัยภายใน
จากกลุ่มอาการข้างต้นจะเห็นได้ว่าอาการไอ อาจไม่ได้มาจากปอดอย่างเดียว อาจมีสาเหตุมาจากอวัยวะอื่นได้เช่นกัน ในคัมภีร์ซู่เวิ่น ยังมีกล่าวว่า “อวัยวะตันทั้งห้าและอวัยวะกลวงทั้งหกล้วนแล้วแต่ทำให้ไอได้เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องเกิดจากปอดเพียงอย่างเดียว” ซึ่งหมายความถึงหากอวัยวะอื่น ๆ ทำงานผิดปกติไปอาจส่งผลกระทบต่อปอดแล้วทำให้เกิดอาการไอได้ นอกจากนี้หากอาการไอเรื้องรังไม่หายจะส่งผลต่ออวัยวะกลวงที่เป็นคู่เปี่ยวหลี่อินหยางกันด้วย
เกิดจากปอด ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากปัจจัยก่อโรคจากภายนอกกระทบปอดโดยตรง เช่น จากไข้หวัดจากลม ความเย็น ความร้อน มักมีอาการไอร่วมกับอาการเปี่ยวคือ กลัวลม กลัวหนาว มีไข้ น้ำมูกไหล ปวดเมื่อยเนื้อตัว เป็นต้น นอกจากนี้อาจมาจากโรคของปอดต่างๆ เช่น หลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็งปอด วัณโรคปอด เป็นต้น ซึ่งอาจพบอาการหอบหืด เป็นมากอาจมีไอเป็นเลือดปนกับเสมหะ หากเป็นนานไม่หายจะกระทบลำไส้ใหญ่ จะมีไอร่วมกับอุจจาระกลั้นไม่อยู่
เกิดจากตับ ซึ่งมักเกิดจากอารมณ์โกรธโมโหก่อเกิดไฟตับทำร้ายปอด ไฟทำร้ายสารจิน(สารน้ำ) และหล่อหลอมสารจินหรือสารน้ำของเหลวจนกลายเป็นเสมหะ ทำให้เกิดอาการไอ ซึ่งเส้นลมปราณตับวิ่งผ่านบริเวณสีข้าง ดังนั้นหากไอจากตับ มักมีอาการไอร่วมกับเจ็บเสียดสีหน้าอกและสีข้างร่วมด้วย หากเป็นนานไม่หายจะกระทบถุงน้ำดี จะมีไอร่วมกับอาเจียนน้ำดี
เกิดจากม้าม เมื่อรับประทานอาหารไม่เหมาะสม ชอบทานของทอดของมัน มักทำให้ม้ามสูญเสียการย่อย ดูดซึมสารอาหารและการขับแยกของเสีย ทำให้ก่อตัวเป็นเสมหะอุดกั้นสะสมที่ปอด ทำให้เกิดอาการไอ มักมีอาการปวดท้องด้านขวา และอาจปวดร้าวไปที่ช่วงไหล่และหลัง ขยับตัวแล้วเป็นมากขึ้น หากเป็นนานไม่หายจะกระทบกระเพาะอาหาร จะมีไอร่วมกับอาเจียน
เกิดจากหัวใจ ซึ่งส่วนใหญ่มักพบว่ามีภาวะชี่ของหัวใจพร่อง ทำให้เลือดที่หัวใจติดขัดอุดกั้น ซึ่งหัวใจอาศัยปอดในการลำเลียงเลือดส่งไปทั่วร่างกาย เมื่อเลือดคั่งทำให้สารจินหยุดนิ่งก่อตัวเป็นอิ่นหรือของเหลวที่หนืด เป็นผลให้ชี่ปอดติดขัดย้อนขึ้นและเกิดอาการไอได้ มักมีอาการไอร่วมกับเจ็บหน้าอก หรือจุกแน่นในลำคอ ในทางการแพทย์แผนปัจจุบันอาจตรวจพบว่าเป็นโรคของหัวใจ เช่น โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ โรคหัวใจล้มเหลว หากเป็นนานไม่หายจะกระทบลำไส้เล็ก จะมีไอร่วมกับผายลม
เกิดจากไต ส่วนใหญ่มักเกิดจากการเจ็บป่วยเรื้อรัง ทำให้ไตพร่อง ชี่ไตไม่สามารถเหนี่ยวรั้งกักเก็บชี่ได้ ส่งผลให้ปอดไม่สามารถควบคุมชี่ได้ปกติ ทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง มักไอแล้วทำให้มีอาการปวดร้าวบริเวณเอวและหลัง เสมหะมาก หากเป็นนานไม่หายจะกระทบกระเพาะปัสสาวะ จะมีไอร่วมกับปัสสาวะเล็ด
จะเห็นได้ว่าอาการไอ มีหลากหลายสาเหตุ หากเราดูแลด้วยตัวเองแล้ว ยังมีอาการอยู่ไม่ควรปล่อยทิ้งไวให้เรื้อรังเพราะอาจจะยิ่งทำให้อาการเป็นมากขึ้นไป ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการ ยิ่งรู้สาเหตุเร็วรักษาเร็วก็ไม่เรื้อรัง
ตัวอย่างกรณีการรักษา
ข้อมูลผู้ป่วยรายที่ 1 XXX เพศหญิง อายุ 65 ปี
เข้ารับการรักษาครั้งแรก วันที่ 25 มิถุนายน 2566
อาการที่มารักษา ไอเรื้อรังร่วมกับอาการอ่อนแรงมากกว่า 2 ปี
ประวัติอาการ
เมื่อ 2 ปีก่อนผู้ป่วยเริ่มมีอาการไอเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด และระหว่างช่วง 2 ปีที่ผ่านมานั้นผู้ป่วยก็ได้รับการยืนยันการติดเชื้อ covid-19 เมื่อวันที่ 14 มิถนายน 2565 อาการไอจึงยังคงเรื้อรังต่อเนื่องเรื่อยมา เคยพบแพทย์แผนปัจจุบันตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติ รับประทานยาตามอาการ อาการไอยังไม่บรรเทา นอกจากนี้ยังมีอาการเหนื่อยอ่อนแรงร่วมด้วย
อาการปัจจุบัน
ผู้ป่วยมีอาการไอถี่ มีเสมหะขาวใส คันคอ ปากแห้ง คอแห้ง หากคอแห้งมากขึ้นจะยิ่งไอกำเริบ กระหายน้ำ มีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลียไม่มีแรง แขนขาอ่อนแรง การเดินทรงตัวได้ไม่ดี มือเท้าชา ไม่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เจริญอาหารปกติ การนอนหลับปกติ ไม่มีอาการปวดศรีษะหรือเวียนหัว การขับถ่ายปกติ
การตรวจลิ้นและชีพจร ลิ้นสีซีดคล้ำ ปลายลิ้นแดง ไม่มีฝ้าตัวลิ้นแห้ง ชีพจรจม (脉沉弦)
ประวัติโรคในอดีต เคยผ่าตัดกระดูกคอเสื่อมเมื่อธันวาคมปี 2564
การวินิจฉัย ไอ (咳嗽 (U78.080)) / กลุ่มอาการ ชี่และอินพร่อง (气阴两虚证 (U79.218))
การรักษาด้วยแพทย์แผนจีน
ใช้ตำรับยาซางซิ่งทัง (桑杏汤) ร่วมกับ ไป๋เหอทัง (百合汤) เพิ่มลดตัวยา ใช้ยาที่มีสรรพคุณเสริมชี่บำรุงอิน ระบายร้อนขจัดแห้ง เพื่อช่วยบำรุงปอดเสริมความชุ่มชื้น รับประทานยาเช้า-เย็นหลังอาหาร
ประเมินผลการรักษา
ครั้งที่ 1 (2/7/66) ผู้ป่วยอาการไอลดลง ส่วนอาการอ่อนเพลียอื่นๆ ยังคงเดิม ตำรับยาเดิมเพิ่มลดตัวยา ที่เสริมบำรุงชี่และระบายร้อนเพิ่มเติม
ครั้งที่ 2 (9/7/66) อาการไอมีความถี่ห่างขึ้นอย่างชัดเจน มีแรงกำลังมากขึ้น การเดินทรงตัวได้ดีขึ้น ยังมีเสมหะเหนียวคอ สีลิ้นแดงอ่อนดีขึ้น ฝ้าที่ลิ้นน้อยและยังแห้งอยู่ ชีพจรมีแรงดีขึ้นไม่จมแต่ยังตึงลื่น (脉弦滑)
ครั้งที่ 3 (16/7/66) อาการไอน้อยลงมาก มีแรงกำลังดีขึ้นตามลำดับ คันคอคอแห้งน้อยลง เสมหะเล็กน้อย ลิ้นแดงอ่อน ฝ้าบางขาว ชีพจรลื่น (脉滑)
ข้อมูลผู้ป่วยรายที่ 2 XXX เพศชาย อายุ 68 ปี
เข้ารับการรักษาครั้งแรก วันที่ 25 มีนาคม 2565
อาการที่มารักษา ไอร่วมกับเจ็บเสียดสีข้างมากกว่า 3 อาทิตย์
ประวัติอาการ
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2565 ผู้ป่วยเคยได้รับการผ่าตัดมะเร็งที่ปอดข้างซ้ายกลีบล่าง ระยะที่ 1 ผู้ป่วยปฏิเสธการรักษาต่อ และหลังจากผ่าตัดแล้วพบว่ามีอาการไอถี่รุนแรงจนกระทบการนอนหลับ ร่วมกับมีอาการเจ็บสีข้างด้านซ้าย
อาการปัจจุบัน
ผู้ป่วยมีอาการไอถี่รุนแรงจนกระทบการนอนหลับเสมหะขาวยากที่จะขากออกได้ คันคอ คอแห้งระคายอยากไอ ร่วมกับมีอาการเจ็บสีข้างด้านซ้าย มีเรอเปรี้ยวเล็กน้อย ท้องอืดง่าย ความเจริญอาหารปกติ การนอนหลับไม่ดี ขับถ่ายปกติ
การตรวจลิ้นและชีพจร ลิ้นสีซีดคล้ำ ฝ้าเหลืองเหนียวเล็กน้อย ชีพจรลื่นและเร็ว (脉滑数)
ประวัติโรคในอดีต ภูมิแพ้จมูกอักเสบ/ โรคเบาหวาน/ ต่อมลูกหมากโต
การวินิจฉัย 1.ไอ (咳嗽 (U78.080)) / กลุ่มอาการ อินของปอดพร่อง (肺阴亏虚 (U79.41) ร่วมกับเสมหะร้อนอุดกั้นปอด 痰热郁肺 (ZYTRA0))
2.มะเร็งปอด (肺癌 (C34.9))
การรักษาด้วยการแพทย์แผนจีน
พื้นฐานของผู้ป่วยมะเร็งเป็นลักษณะเปิ่นพร่อง เปียวแกร่ง ใช้ตำรับยาซาเซินม่ายตงทัง (沙参麦冬汤) ร่วมกับ เหว่ยจิงทัง (苇茎汤) เพิ่มลดตัวยา ใช้ยาที่มีสรรพคุณเสริมชี่บำรุงอินของปอดเพื่อรักษาอาการเปิ่นหรือพื้นฐานร่างกายพร่อง ร่วมกับการระบายร้อนสลายเสมหะขับพิษ เพื่อรักษาอาการเปียวแกร่งหรือภาวะแทรกซ้อนจากปัจจัยก่อโรคต่างๆ รับประทานยาเช้า-เย็นหลังอาหาร
ประเมินผลการรักษา
ครั้งที่ 1 (8/4/65) ยังมีอาการไอกระทบการนอน ไอแล้วยังเสียดสีข้างอยู่ แต่เสมหะขับออกได้ง่ายขึ้น หายใจคล่องขึ้น จึงปรับจากยาตำรับเดิมเพิ่มตัวยาที่ช่วยปรับชี่ สลายเลือดคั่งติดขัดและสลายเสมหะเพิ่มเติม
ครั้งที่ 2 (22/4/65) ผู้ป่วยมีอาการไอลดลงอย่างชัดเจน อาการเจ็บเสียดสีข้างหายไป นอนหลับได้ปกติ
วิเคราะห์ผลการรักษา
จากเคสกรณีศึกษาข้างต้น เห็นได้ว่าการรักษาด้วยยาสมุนไพรจีนตำรับ สามารถช่วยรักษาอาการไอของผู้ป่วยที่มีอาการไอแบบเฉียบพลันและเรื้อรังได้ อีกทั้งยังช่วยฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาทำงานได้อย่างปกติอีกด้วย
ในผู้ป่วยรายแรกนั้นไอเรื้อรังมานาน นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากการเจ็บป่วยและผ่าตัดซ้ำซ้อน จึงทำให้สภาพร่างกายอ่อนแอ จัดอยู่ในภาวะพร่อง ส่วนผู้ป่วยรายที่สองพื้นฐานเป็นผู้ป่วยมะเร็งปอด โดยพื้นฐานของผู้ป่วยมะเร็งเป็นลักษณะเปิ่นพร่อง เปียวแกร่ง หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดแล้วกระตุ้นทำให้เกิดอาการไอขึ้นมา ในทางการแพทย์แผนจีนมองว่ามักจะทำให้ชี่และเลือดติดขัดอุดกั้นได้ง่าย ทำให้เสมหะก่อตัวสะสมอยู่ภายในและก่อเกิดความร้อนเผาผลาญภายในปอด จึงทำให้เกิดอาการไอขึ้นมาร่วมกับเจ็บเสียดสีข้าง
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีนอรกช มหาดิลกรัตน์ (หมอจีนไช่ เพ่ย หลิง)
蔡佩玲 中医师
TCM. Dr. Orakoch Mahadilokrat (Cai Pei Ling)
แผนกอายุรกรรมโรคมะเร็ง
30 ส.ค. 2567
15 ก.ค. 2567