PCOS ถุงน้ำหลายใบในรังไข่ / พีซีโอเอส

Last updated: 10 ต.ค. 2566  |  41906 จำนวนผู้เข้าชม  | 

PCOS ถุงน้ำหลายใบในรังไข่ / พีซีโอเอส

กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง / พีซีโอเอส
(Polycystic ovary syndrome / PCOS)
กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง  ประกอบด้วยภาวะไม่มีไข่ตก (anovulation) ซึ่งทำให้ประจำเดือนขาดหรือไม่สม่ำเสมอ มีบุตรยาก ภาวะฮอร์โมนเพศชายในเลือดสูง (hyperandrogemenia) ซึ่งทำให้มีขนดก หนวดขึ้น สิวขึ้น หน้ามัน และภาวะรังไข่มีลักษณะเป็นถุงน้ำ (cyst) ขนาด 2-6 มม. จำนวนมากทั้ง 2 ข้าง

พบได้ประมาณร้อยละ 5-10 ของผู้หญิงโดยทั่วไป ผู้หญิงที่เป็นสิวพบโรคนี้ประมาณร้อยละ 50-90 และผู้หญิงที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่ามีประวัติเป็นโรคนี้ค่อนข้างมาก (ทางประเทศแถบตะวันตกมีรายงานว่าพบได้ประมาณร้อยละ 80) ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการตั้งแต่วัยรุ่น และอาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อเริ่มมีอายุ

สาเหตุ
ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน พบว่าผู้ป่วยจะมีการหลั่งฮอร์โมนแอลเอช (luteining hormone/LH) มากเกิน  และมีภาวะดื้ออินซูลิน (insulin resistance) ร่วมกับภาวะมีอินซูลินในเลือดสูง ส่งผลให้รังไข่สร้างฮอร์โมนต่างๆอย่างไม่ได้สมดุล เกิดภาวะฮอร์โมนเพศชายสูงและไม่มีการตกไข่ ความผิดปกติเหล่านี้ทำให้เกิดอาการแสดงและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ



อาการ
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (ประมาณร้อยละ 80-90) จะมีอาการหน้ามัน เป็นสิว ขนดก หนวดขึ้นผิดปกติ
ประมาณร้อยละ 60-70 มีอาการประจำเดือนผิดปกติ ประจำเดือนขาด หรือประจำเดือนมาห่าง เว้นห่างมากกว่า 30 วัน หรือมีประจำเดือนน้อยกว่า 8 ครั้ง/ปี บางรายมีเลือดออกผิดปกติ

สิ่งตรวจพบ
หน้ามัน เป็นสิว ขนดก มีหนวดขึ้น รูปร่างท้วม หรืออ้วน บวมน้ำ พบได้ประมาณร้อยละ 60 ผิวหนังมีปื้นหนาสีน้ำตาลคล้ายกำมะหยี่ พบได้ประมาณร้อยละ 40 พบบ่อยที่บริเวณหลังคอ รักแร้ ขาหนีบ ข้อนิ้วมือ ต้นขาด้านใน ใต้นม รอบช่องคลอด เป็นต้น ซึ่งมักเป็นพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง (แบบสมมาตร) บางครั้งอาจจะมีติ่งหนังอยู่ในรอบๆบริเวณที่เป็นปื้นหนา

ภาวะแทรกซ้อน
ส่วนใหญ่จะมีภาวะมีบุตรยากเนื่องจากไม่มีการตกไข่ บางรายอาจมีภาวะแท้งบุตรบ่อย ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มอาการเมตาบอลิก , โรคหัวใจและหลอดเลือด , เยื่อบุมดลูกหนาตัว เนื่องจากมีเอสโตรเจนสูงโดยไม่มีโพรเจสเทอโรน ทำให้เยื่อบุมดลูกถูกกระตุ้นให้หนาตัว , มะเร็งเยื่อบุมดลูก (ซึ่งมักจะพบในผู้หญิงอายุน้อยกว่า 40 ปี)


แพทย์แผนจีนกับการรักษา PCOS 

ด้วยปัจจัยของยุคสมัยที่เปลี่ยนไป โลกในปัจจุบันมีการพัฒนามากขึ้น ทั้งในบทบาทของเพศหญิงและเพศชายที่มีวิถีชีวิตต่างไปจากในยุคก่อน ปัจจุบันผู้หญิงมีบทบาททางสังคมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบทบาทของการทำงานที่ไม่แตกต่างจากเพศชาย 

จากสถิติพบว่าผู้ป่วยผู้หญิงในวัยทำงานหลายๆคน ส่วนใหญ่มีอาการเจ็บป่วยจากการทำงานเช่น เป็นโรคออฟฟิศซินโดรมกันมากขึ้น และหลังจากแพทย์จีนได้ตรวจวินิจฉัยแล้วพบว่าผู้หญิงส่วนใหญ่มีภาวะประจำเดือนมาน้อย มาช้า หรือ ประจำเดือนไม่มาเป็นเวลานาน เนื่องด้วย

ผู้หญิงในวัยทำงานส่วนใหญ่จะมีภาวะทางอารมณ์ที่แปรปรวน จากภาวะความเครียดของการทำงาน ลูกค้า เพื่อนร่วมงาน และมักจะอยู่ในสภาวะแวดล้อมเดิมๆ นั่งจดจ่ออยู่ในที่เดิมหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ทานอาหารซ้ำๆ แบบเดิมๆ เช่นอาหารตามสั่ง ผัดๆทอด อาหารมีรสจัด เค็มจัด หวานจัด  โดยเฉพาะเครื่องดื่มหวานมัน เย็นๆ หรือ อาหารจานด่วน fast food junk food ซึ่งมีทั้งความเย็น ไขมัน และน้ำตาลสูง

ทุกวันนี้ผู้หญิงต้องทำงานนอกบ้านมากขึ้น เกิดความเครียดสะสม ทั้งงานนอกบ้านและงานในบ้าน ผู้หญิงที่มำงานออฟฟิศส่วนใหญ่ ก่อนทำงานมีรูปร่างสมส่วน พอทำงานไม่กี่ปี กลับกลายเป็นรูปร่างอ้วนใหญ่ มีขนดกหนาขึ้น หรือมีหนวด ผิวหน้ามัน มีสิวอักเสบขึ้นบริเวณหน้าหรือสิวเม็ดเล็กเม็ดใหญ่ผดผื่นขึ้นที่หลัง หงุดหงิดง่าย ผมแห้ง ผมร่วงมากผิดปกติ ใบหน้าหมองคล้ำ แววตาไม่มีความชุ่มชื้น  ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของ PCOS หรือโรคถุงน้ำหลายใบในรังไข่ 

สาเหตุและกลไกการเกิดโรคในแนวคิดของการแพทย์แผนจีน












ทฤษฎีทางการแพทย์แผนจีนได้กล่าวว่า
ผู้ป่วยโรค PCOS มีสาเหตุหลัก ที่สำคัญ 4 ประเภท
 


 1. การพร่องของไตหยาง มีสาเหตุจากผู้ป่วยตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ อิน-หยางไม่สมดุล ลมปราณ (Qi) ของไตไม่พอที่จะไปหล่อเลี้ยง สารก่อเกิด ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีประวัติเมื่อถึงวัยแล้วประจำเดือนยังไม่มี ประจำเดือนมาช้า เป็นประจำเดือนจะมีสีจางอ่อน ปริมาณน้อย อาจพบภาวะประจำเดือนกะปริบกะปรอยไม่หยุด สีหน้าซีด ไม่สดใส เวียนศีรษะ หูอื้อ ปวดเมื่อยบริเวณเอวและขา อ่อนเพลียและกลัวหนาว อุจจาระเหลว ตกขาวน้อย ช่องคลอดแห้ง

 2.เสมหะและความชื้นก่อตัว มีสาเหตุจากร่างกายอ่อนแอ ม้ามพร่อง พลังของการหมุนเวียนไม่ดี ทำให้เกิดน้ำและความชื้นสะสมเป็นเวลานาน อุดกั้นเส้นลมปราณชง ที่เป็นเส้นลมปราณที่สำคัญของการผลิตเลือดประจำเดือน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีลักษณะอ้วน มีภาวะประจำเดือนมาช้า ปริมาณน้อย จนถึงไม่มานานเป็นปี ขนดก เวียนศรีษะและแน่นหน้าอก ในลำคอมีเสมหะมาก แขนขาหนักไม่มีแรง และตกขาวมีปริมาณมาก

3.ชี่อุดกั้นและเลือดคั่ง มีสาเหตุมาจากอารมณ์ที่แปรปรวน ลมปราณตับอุดกั้นไม่ระบาย ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะประจำเดือนมาช้าปริมาณน้อย มีลิ่มเลือดปน อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล ขี้โมโห หงุดหงิดง่าย ปวดแน่นบริเวณท้องน้อยและกดเจ็บ แน่นหน้าอกและสีข้าง หรือ มีอาการคัดหน้าอก ร่วมด้วย

4.เส้นลมปราณตับมีความชื้นและความร้อนก่อโรค มีสาเหตุมาจากอารมณ์ขุ่นมัววิตกกังวล ลมตับอุดกั้นกระทบม้าม เมื่อม้ามพร่อง พลังหมุนเวียนไม่เพียงพอ จึงเกิดความชื้นสะสมภายใน เมื่อลมปราณตับอุดกั้นเป็นเวลานานจะเกิดความร้อนสะสมในร่างกาย ความร้อนและความชื้นก่อตัวขึ้น จะอุดกั้นเส้นลมปราณชง และเส้นลมปราณเหริน การไหลเวียนของลมปราณไม่ดี ผู้ป่วยจึงมีภาวะประจำเดือนมาช้าและปริมาณน้อย จนถึง ภาวะประจำเดือนไม่มา3 ปี ขึ้นไป หรือภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ  มักพบในผู้ป่วยที่อ้วน มีขนดกหนา สิวขึ้นที่ใบหน้า ก่อนมีประจำเดือน ผู้ป่วยมักมีอาการคัดและแน่นหน้าอก ตัวและแขนขาบวม ท้องผูก ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม ตกขาวมีปริมาณมาก

การรักษาในปัจจุบันนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักได้รับยาฮอร์โมน หรือรับประทานยาคุมกำเนิดเพื่อปรับประจำเดือน หรือฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตก เมื่อผู้ป่วยได้รับยาคุมกำเนิดระยะเวลานานๆ พบได้ว่า ผู้ป่วยมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อประจำเดือน เมื่อถึงกำหนดประจำเดือนไม่มา มาน้อยกว่าปกติ หรือสีจางกว่าปกติ ตามทฤษฎีการแพทย์แผนจีนได้กล่าวว่า ผู้หญิงที่ประจำเดือนไม่มาก่อนถึงวัยอันควร เลือดเสียก็ยังคั่งค้างอยู่ในร่างกาย รังไข่ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน หรือทำงานทดถอยลง เลือดลมอุดกั้น ไหลเวียนไม่ดี เกิดเลือดคั่งในร่างกาย ทำให้เกิด ฝ้า กระ สีหน้าคล้ำ มีอาการเหมือนคนวัยทอง ไม่สบายตัว เหงื่อออก ร้อนวูบวาบ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เป็นต้น

 

แนวทางการรักษา PCOS ด้วยวิธีแบบแพทย์แผนจีน
จะมุ่งเน้นที่ "conservative therapy"

1. การรักษาด้วยการใช้ยาสมุนไพรจีน ตำรับยาจีน
ในทางการแพทย์แผนจีน การรักษากลุ่มอาการนี้ จะใช้ยาสมุนไพรจีนเป็นหลัก ในการปรับสมดุลพื้นฐานของร่างกาย เช่น  ตำรับยาจีนที่ช่วยปรับสมดุลไตหยาง ขับเสมหะและความชื้นอุดกั้น ระบายหมุนเวียนชี่และเลือดอุดกั้น ขจัดความร้อนและความชื้นของเส้นลมปราณตับ เป็นต้น เมื่อร่างกายของผู้ป่วยสมดุล ประจำเดือนก็สามารถมาได้สม่ำเสมอเป็นปกติ

และเพื่อให้ผลการรักษาได้ผลดียิ่งขั้น การปรับพฤติกรรมชีวิตของผู้ป่วยก็สำคัญ โดยเฉพาะการควบคุมน้ำหนัก การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อาหารที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย ละเว้น  หรือ ลดอาหารประเภทฟาสฟู้ด  อาหารดัดแปลงทุกชนิด อาหารรสมันจัด หวานจัด เย็นจัด เช่นไอศครีม น้ำอัดลม ควรรักษาสมดุลของอารมณ์ให้เป็นปกติ ก็จะสามารถช่วยให้ผลการรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

2. การรักษาด้วยวิธีการฝังเข็ม
หลักการรักษาจะแบ่งตามภาวะของผู้ป่วย ได้แก่ กลุ่มอาการหยางของม้ามและไตพร่อง 肝肾阴虚型 กลุ่มอาการอินของตับและไตพร่อง 气滞血瘀型 กลุ่มอาการชี่ติดขัดมีเลือดคั่ง 痰瘀互结型 กลุ่มอาการเสมหะเลือดคั่งอุดกั้นภาวะ 

แนวทางการรักษาของการฝังเข็ม
แพทย์จีนจะใช้จุดฝังเข็มหลักและจุดเสริม ขจัดการอุดกั้น  ขับเคลื่อนชี่  กระตุ้นการไหลเวียนเลือด  สลายชื้น  สลายเลือดคั่ง 

ข้อแนะนำ
1. ผู้หญิงวัยรุ่นหรือวัยสูงอายุที่เป็นสิวซึ่งรักษายาก เป็นสิวแบบเรื้อรัง หรือมีอาการหน้ามัน ขนดก หนวดขึ้น ประจำมาผิดปกติ ไม่มา หรือมาห่าง มีบุตรยาก ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหากลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง

2. โรคนี้ส่วนใหญ่สามารถรักษาให้ร่างกายกลับคืนสู่สภาวะปกติได้ ช่วยให้มีบุตรได้และป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น เบาหวาน มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ได้


ข้อมูลอ้างอิง
1. ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2 / 350 โรคกับการดูแลรักษาและการป้องกัน
นายแพทย์สุรเกียรติ อาชานุภาพ
ISBN 978-974-9510-26-1

2. การฝังเข็มรักษาถุงน้ำในรังไข่ 卵巢囊肿的针灸治疗 
ศาสตราจารย์ แพทย์จีน Cai Ding Jun


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้