ปวดประสาทใบหน้า Trigeminal Neuralgia 面痛

Last updated: 10 ต.ค. 2566  |  18409 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปวดประสาทใบหน้า Trigeminal Neuralgia  面痛

อาการปวดประสาทสมองเส้นที่ 5 (Trigeminal nerve) มีลักษณะการปวดที่รุนแรงคล้ายเข็มแทงเป็นพักๆ (paroxysmal attack of severe, short, sharp, stabbing pain) อาการปวด เกิดไปตามส่วนของใบหน้าบริเวณที่แขนงของเส้นประสาท Trigeminal มาเลี้ยงอาจจะเป็นแขนงที่ 1, 2 หรือ 3 (V1 V2 V3) หรือเป็นมากกว่าหนึ่งแขนงก็ได้ โดยสถิติแขนงที่ 2 และ 3 มีโอกาสเกิดอาการปวดมากกว่าแขนงที่ 1 อาการปวดอาจกำเริบรุนแรงเป็นพัก ๆ วันละหลาย ๆ ครั้ง ครั้งละหลายวันถึงหลายเดือนหรือเป็นตลอดไปก็ได้

การเคี้ยวอาหาร การพูด การล้างหน้า การแปรงฟัน การกระทบลมเย็นหรือการแตะสัมผัสบริเวณเฉพาะ (trigger spot) โดยเฉพาะบริเวณริมฝีปากบนและเหงือก อาจจะกระตุ้นให้อาการปวดรุนแรงขึ้นมาทันที


สาเหตุและพยาธิสภาพของโรค

1. การกดทับรากประสาท (root or root entry zone compression) เกิดจากการมีวงของหลอดเลือดที่ผิดปกติวางพาดหรืออยู่ชิดกระทบรากประสาท Trigeminal ตรงบริเวณที่รากประสาทเพิ่งออกจากก้านสมองส่วน pons

2. การติดเชื้อไวรัสบางชนิดที่เส้นประสาท Trigeminal โดยตรง เช่น เชื้อไวรัสเริม 
เชื้อไวรัสงูสวัด

3. การอักเสบของอวัยวะข้างเคียงที่เส้นประสาท Trigeminal พาดผ่าน เช่น หูหรือ
โพรงจมูกเป็นหนองอักเสบ

4. การเสื่อมของเยื่อหุ้มประสาท (demyelination) บริเวณ pons มักเกิดในคนอายุน้อย กลุ่มนี้จะไม่มี trigger spot และไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษา

5. กลุ่มไม่ทราบสาเหตุมีอีกเป็นจำนวนมาก และมักจะเป็นยาวนานต่อเนื่อง

การรักษา
รักษาด้วยยาต้องใช้กลุ่มยากันชัก เช่น Carbamazepine, Gabapentin, Pregabalin, Phenytoin, Lamotrigine  นอกจากนี้บางรายอาจตอบสนองต่อยา Baclofen

การรักษาด้วยยาดังกล่าว มักได้ผลไม่ดี เนื่องจากเป็นการรักษาอาการปวดเท่านั้น ยาเหล่านี้มีราคาแพง และมักมีอาการแทรกซ้อนจากยาในระหว่างการรักษา เช่น อาการง่วงซึม วิงเวียนศีรษะ เดินเซ หรือการกดไขกระดูกทำให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดไม่ได้ (aplastic anemia) หรือแพ้ยา จนเกิดอาการทางผิวหนังอย่างรุนแรง (Steven Johnson’s syndrome)

การรักษาโรคนี้ด้วยการฝังเข็ม เป็นที่ยอมรับจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าได้ผลดี และจากประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยพบว่า เมื่อรักษาด้วยการฝังเข็ม ผู้ป่วยส่วนใหญ่ความรุนแรงของอาการปวดจะลดลง จำนวนครั้งที่ปวดต่อวันจะลดลง และระยะเวลาในการปวดแต่ละครั้งจะสั้นลง อาการจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ในระหว่างที่ทำการรักษา ทำให้สามารถลดขนาดยาที่ใช้ให้น้อยลง เป็นการลดอาการแทรกซ้อนจากยาได้อย่างมาก ในที่สุดผู้ป่วยจำนวนหนึ่งสามารถหยุดยาต่าง ๆ ได้หมด  ผู้ป่วยส่วนใหญ่เมื่ออาการทุเลามากแล้ว จำเป็นต้องให้การฝังเข็มต่อเนื่องเป็นระยะ ประมาณ 3 - 4 สัปดาห์ต่อครั้ง เพื่อรักษาสภาพอาการที่ดีไว้ โดยให้ยาในขนาดต่ำ ๆ ซึ่งช่วยลดอาการอันไม่พึงประสงค์จากยาลงได้ 

แนวทางการรักษาด้วยวิธีฝังเข็ม 
ฝังเข็มข้างเดียวกับอาการปวด  โดยแพทย์จีนที่ทำการรักษาเลือกใช้จุดที่อยู่ในบริเวณที่ปวดตามแขนงของเส้นประสาทที่มีปัญหา 



ข้อสังเกตจากประสบการณ์ มีประเด็นสำคัญ 2 ประการ ได้แก่

1) แพทย์จีนใช้เทคนิคการหาและปักจุด Ashi ซึ่งมักซ่อนอยู่ใต้โหนกแก้ม ในกรณีที่เป็นจากแขนง V2 และซ่อนอยู่บริเวณปลายคางหรือใต้คาง ในกรณีที่เป็นจากแขนง V3 ซึ่งหากจุด Ashi ถูกฝังเข็มด้วย ประสิทธิผลของการรักษาจะดีขึ้นมาก 

2) การรักษาร่วมด้วยกระตุ้นเข็มด้วยไฟฟ้า โดยใช้ความถี่ที่เหมาะสม กระตุ้นนาน 30 นาที เปิดไฟกระตุ้นเบา ๆ ไม่ต้องรู้สึกหรือแค่เกือบรู้สึก พบว่าสามารถลดความเจ็บปวดได้ดีที่สุด

การฝังเข็ม 10 ครั้งนับเป็น 1 รอบการรักษา (course) รอบการรักษาที่ 1 ฝังเข็มสัปดาห์ละ 3 ครั้ง, รอบการรักษาที่ 2 ฝังเข็มสัปดาห์ละ 2 ครั้ง, รอบการรักษาที่ 3 ฝังเข็มสัปดาห์ละ 1ครั้ง, บางรายอาจเสริมรอบการรักษาที่ 4 ฝังเข็มเดือนละ 2 ครั้ง จากนั้นฝังเข็มต่อเนื่อง ทุก 3 - 4 สัปดาห์ เพื่อรักษาสภาพที่ดีที่สุดไว้ โดยทำไปเรื่อย ๆ หรืออย่างน้อยประมาณ 10 เดือน

 
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม


ฝังเข็มเจ็บไหม อันตรายหรือไม่

การรมยาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน

ฝังเข็มรักษาโรคได้อย่างไร ?


ข้อมูลประกอบบทความ  : การฝังเข็มรมยา เล่ม 3
การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้