เตรียมตัวอย่างไรก่อนมาหาหมอจีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  46364 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เตรียมตัวอย่างไรก่อนมาหาหมอจีน

การเตรียมตัวก่อนฝังเข็ม / นวดทุยหนา จัดกระดูก / อายุรกรรมภายนอก (ผิวหนัง) 
1. ผู้ที่ยังไม่เคยรับการรักษาด้วยการฝังเข็มมาก่อน   ผู้ป่วยหลายๆท่านอาจจะมีความกังวล กลัวเข็ม โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์การรักษาด้วยวิธีการฝังเข็ม รวมไปถึงหัตถการหลายๆรูปแบบของวิธีการรักษาโดยแผนจีนมาก่อน  หัตถการฝังเข็ม คือ การใช้เข็มแทงลงไปตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย  อาจจะรู้สึกเจ็บคล้ายมดกัดเมื่อเข็มผ่านผิว  และรู้สึกตึง  แน่น  หน่วง  ชา  กระตุก  หรือไฟฟ้าวิ่งบริเวณที่ฝังเข็ม (เต๋อชี่)  ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการฝังเข็ม   ไม่ต้องวิตกกังวลหรือหวาดกลัวจนเกินไปนะคะ   

ความรู้สึก ตึง  แน่น  หน่วง  ชา  กระตุก  หรือ รู้สึกเหมือนมีกระแสไฟฟ้าวิ่งไปมาบริเวณที่ฝังเข็ม คืออะไร ? อันตรายหรือไม่ ?
อาการ เต๋อชี่ : การได้ชี่ (De Qi) คือ อาการ หรือ ความรู้สึกของผู้ป่วยที่เกิดจากการกระตุ้นชี่ในเส้นลมปราณด้วยการฝังเข็ม เช่น ปวด ชา พองตึง หนัก หรือ รู้สึกเหมือนถูกไฟฟ้าดูดบริเวณที่แพทย์ฝังเข็ม จะรู้สึกตึงแน่นรอบๆเข็ม


2. การแต่งกาย   ควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่หลวม ใส่สบาย เช่น กางเกงขาก๊วย โสร่ง ผ้าถุง กางเกงเอวยางยืดที่ขากางเกงกว้าง  ไม่ใส่กางเกงยีนส์ เพื่อสะดวกในการทำหัตถการ 

กรณีที่มารับการรักษาด้านผิวหนัง หรือปัญหาบริเวณใบหน้า ควรหลีกเลี่ยงการแต่งหน้า หรือเช็ดทำความสะอาดเครื่องสำอางมาให้เรียบร้อยก่อน
กรณีที่มารักษากลุ่มอาการโรคผิวหนังใต้ร่มผ้า ควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไป เพื่อสะดวกในการตรวจวินิจฉัย  


3. ไม่อิ่ม และ ไม่หิว จนเกินไป  ผู้เข้ารับการฝังเข็มควรรับประทานอาหารมาก่อนประมาณ 1-2 ชั่วโมง และไม่ควรรับประทานอาหารอิ่มแน่นจนเกินไป หากเพิ่งรับประทานอาหารอิ่มมาใหม่ ๆ ควรนั่งพักประมาณครึ่งชั่วโมงเพื่อให้ท้องไม่แน่น  แล้วจึงเริ่มรักษาด้วยการฝังเข็มได้  กรณีผู้ที่อดอาหารก่อนมาฝังเข็ม  อาจจะดื่มนมหรือน้ำไม่ให้ท้องว่างหรือขาดพลังงาน เพราะขณะฝังเข็มร่างกายต้องใช้พลังงานมากกว่าปกติ  หากผู้ป่วยไม่ได้รับประทานอาหารมา  อาจเกิดอาการหน้ามืดเวียนหัว  จะเป็นลม  หรือที่เรียกว่าอาการเมาเข็ม

4. ความสะอาดของร่างกาย   ก่อนมาฝังเข็มผู้ป่วยควรอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายมาให้เรียบร้อย  โดยเฉพาะบริเวณที่จะทำการฝังเข็ม  เช่น  มือ  เท้า  เพื่อลดความเสี่ยงที่เชื้อโรคจะเข้าไปในร่างกายผู้ป่วย  อย่างไรก็แล้วแต่ก่อนที่แพทย์จะฝังเข็ม แพทย์จะใช้สำลีแอลกอลฮอลล์เช็ดบนจุดฝังเข็มก่อนทุกครั้งเพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ

5. นอนให้พอ ไม่อดนอน หรือ นอนน้อย   ก่อนผู้ป่วยจะมาฝังเข็มควรพักผ่อนอย่างเพียงพอ  ทำจิตใจและร่างกายให้สงบก่อนเริ่มต้นรักษา โดยปกติก่อนการรักษาจะต้องตรวจชีพจร วัดความดัน ตรวจสอบความพร้อมของร่างกาย เช่น อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต (สัญญาณชีพต่าง ๆ ) เมื่อระบบของร่างกายเข้าสู่ภาวะปกติก่อนแล้วจึงเริ่มรักษาด้วยการฝังเข็มได้

6. เตรียมข้อมูลอื่นๆเพื่อประกอบการตรวจวินิจฉัย เช่น ไฟล์ภาพการตรวจ MRI , CT Scan , X-Ray ,  ผลตรวจทางแพทย์แผนปัจจุบันหรืออื่นๆ (ถ้ามี)  ในกรณีโรคผิวหนังที่แสดงภาพการเกิดโรค  อาจเป็นบริเวณใต้ร่มผ้า ดังนั้น ผู้ป่วยอาจถ่ายภาพบริเวณรอยโรคแล้วนำมาพบแพทย์เพื่อช่วยประกอบการวินิจฉัยได้อย่างละเอียดและประเมินการรักษาได้แม่นยำมากขึ้น


7. เตรียมประวัติการรักษา ผู้ป่วยที่เคยทำการรักษาโรคนั้นๆ ควรนำประวัติการรักษา ผลตรวจต่างๆ (ถ้ามี) และประวัติการใช้ยารับประทานและยาภายนอก ทั้งที่เคยใช้และยังใช้อยู่ รวมไปถึงยาที่รับประทานเป็นประจำมาด้วย ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องหยุดยาที่ใช้อยู่ก่อนมารักษา

8. หาหมอจีนจะมีการตรวจลิ้น ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร หรือ เครื่องดื่มที่มีสีเป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำเขียว น้ำแดง ชา กาแฟ ลูกอมมีสี รวมไปถึงงดการแปรงลิ้นในตอนเช้าก่อนมาพบแพทย์ เพราะการตรวจรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีนนั้นจำเป็นต้องตรวจดูลิ้นเพื่อประกอบการวินิจฉัย

9. การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ หากผู้ป่วยมีปัญหาในการสื่อสาร เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้มีปัญหาทางการได้ยิน ควรมีญาติ คนในครอบครัว หรือเพื่อนที่สามารถจัดการและสื่อสารข้อมูลกับผู้ป่วยและแพทย์จีนเพื่อให้เกิดความเข้าใจและไม่คลาดเคลื่อน 

10. เตรียมนัดหมายล่วงหน้าก่อนมาหาหมอจีน เพื่อเป็นการลดความหนาแน่นของผู้ป่วยและเพื่อความรวดเร็วในการรับการรักษา แนะนำให้ทำการนัดหมายล่วงหน้าก่อนมารักษาอย่างน้อยเป็นเวลา 1 วัน


ขณะฝังเข็ม
1. ไม่เกร็ง ควรผ่อนคลาย ทำใจสบายๆ หายใจเข้าออกช้าๆ  ไม่วิตกกังวลหรือหวาดกลัวจนเกินไป  ผ่อนคลายร่างกายไม่ให้กล้ามเนื้อไม่เกร็งตึง  ความรู้สึกเจ็บ ตึง หน่วง ชา  ไฟฟ้าวิ่ง (เต๋อชี่) เป็นเรื่องปกติระหว่างฝังเข็ม 

2. หากผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดมากเกินไป  หากรู้สึกเจ็บปวดบริเวณเข็มหรือมีความรู้สึกผิดปกติอย่างอื่นอย่างใด เช่น  เวียนศีรษะ  หน้ามืด  เหงื่อออกมากผิดปกติ  มือเท้าเย็น ให้รีบแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ เพื่อจะได้ทำการแก้ไขอย่างทันท่วงที

3. ขณะที่มีเข็มอยู่บนร่างกายไม่ควรขยับตัวมาก  เพราะอาจทำให้เข็มงอ  กล้ามเนื้อเกร็ง เคล็ดยอก  เข็มติดดึงออกยาก  

การปฏิบัติตัวหลังฝังเข็ม

1. ผู้ป่วยที่นอนคว่ำหน้าเป็นเวลานาน  เมื่อถอนเข็มหมดแล้ว  ควรนอนหงายพักผ่อนเป็นเวลา 5-10 นาที ก่อนลุกจากเตียง

2. หากรู้สึกปวดขัดบริเวณจุดที่ฝังเข็ม สามารถบอกแพทย์ผู้รักษาให้ทำการแก้ไขได้

3. หลังจากฝังเข็มเสร็จ  สามารถขับรถ  อาบน้ำ (ควรเว้นระยะเวลาสองชั่วโมงจึงอาบน้ำได้)  ทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้ปกติ ในบางรายอาจรู้สึกอ่อนเพลีย  ปวดเมื่อยเนื้อตัวคล้ายจะเป็นไข้  สามารถรับประทานยาแก้ปวดลดไข้เองได้  ดื่มน้ำมากๆ  อาการดังกล่าวสามารถหายไปเองได้หลังจากนอนหลับพักผ่อน

4. หากทำการรักษาด้วยการครอบแก้ว  หลังจากครอบแก้ว ควรรักษาความอบอุ่นในร่างกาย ไม่ควรดื่มน้ำเย็นจัด  ไม่ควรโดนลม   และไม่ควรอาบน้ำทันที  หลัง 3 - 4ชั่วโมงจึงจะอาบน้ำได้ 

5. การรักษาด้วยการฝังเข็ม สามารถทำควบคู่กับการรักษาอย่างอื่นร่วมไปด้วยได้  เช่น  กายภาพบำบัด  การรับประทานยาแผนปัจจุบัน  โดยอยู่ในการดูแลของแพทย์ เพื่อความปลอดภัยในการรักษา

ข้อห้ามและข้อควรระวังในการฝังเข็ม
1. ผู้ที่ตื่นเต้นหวาดกลัวจนเกินเหตุ  ผู้ที่เหน็ดเหนื่อย มีอาการอ่อนเพลียมางดควรเว้นการฝังเข็ม

2. ผู้ที่เพิ่งรับประทานอาหารมาอิ่มเกินไป  ควรนั่งพักให้อาหารย่อยก่อนสักครู่  หรือผู้ที่หิวจนเกินไป  ควรหาอาหารรับประทานรองท้องก่อนจึงจะฝังเข็มได้   สตรีที่มีประจำเดือนมาในวันแรก  หรือ มีประจำเดือนมามาก ควรเว้นการฝังเข็มไปก่อนจนกว่าประจำเดือนจะน้อยลงหรือพ้นช่วงประจำเดือน

3. ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด  เช่น อยู่ในระหว่างการรับประทานยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด  ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน  เพื่อเพิ่มความระมัดระวังในการรักษาให้มากขึ้น

4. ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker)  ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน

ผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น หลังจากการรักษาด้วยวิธีนวดทุยหนา
1.  มีอาการปวดตึง  หรือ เมื่อสัมผัสที่บริเวณที่มีการนวดแล้วรู้สึกแสบผิวเล็กน้อย หลังการนวดทุยหนา  เกิดจากการบาดเจ็บกล้ามเนื้อเล็กน้อย  มักเป็นในผู้ที่ไม่ค่อยได้รับการนวดผ่อนคลายมาก่อน  ถ้าระบมผิวค่อนข้างมาก สามารถรับประทานยาแก้ปวด  ถ้าเป็นไม่มากดื่มน้ำมาก ๆ อาการจะค่อยๆ หายไปได้เอง  เมื่อรับการรักษาครั้งต่อไปจะไม่มีอาการแบบนี้อีก  

2. มีอาการหน้ามืด เวียนศีรษะ ใจสั่น เหงื่อออกตามตัว  มือเท้าเย็น  คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น  มักเป็นในผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ  นอนน้อย  เหน็ดเหนื่อยจากการออกกำลังกาย หรือการเดินทางไกล  อาจเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ หรือตื่นเกร็งในการรักษา  เพียงแค่รับประทานน้ำหวาน หรือนอนพักสักระยะหนึ่งอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง   

3. มีรอยเขียวเป็นจ้ำ ๆ ตามบริเวณที่นวด  เกิดจากการได้รับประทานยาละลายลิ่มเลือดเป็นเวลานาน ๆ จากการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ  หรือ เกิดจากภาวะโลหิตจาง  ถ้ามีอาการเหล่านี้สามารถหายไปได้เอง

4. มีไข้หรือ อ่อนเพลีย  มักเป็นในผู้ที่มีร่างกายไม่สมบูรณ์แข็งแรง  หรือ มีการกดนวดบริเวณต่อมน้ำเหลือง  ถ้ามีอาการเหล่านี้ สามารถทานยาลดไข้  หรือ ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ  ก็จะช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้  เมื่อเข้ารับการรักษาครั้งต่อไปต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้า

5. มีอาการคัน หรือ มีผื่นแพ้  อาจเป็นผลจากยาที่ใช้ภายนอก  อาจเกิดจากการแพ้ยา หรือ ผิวแห้ง / บางจนเกินไป จนทำให้ระคายเคืองได้ง่าย  ควรงดการใช้ยา  เพื่อหลีกเลี่ยงการแพ้ยา ควรงดการพอกยานานเกิน 4 ชั่วโมง  หรือพอกยาทิ้งไว้ข้ามคืน

6. มีอาการมึนศีรษะ ตาลาย หลังจากนอนคว่ำนานๆ อาการนี่จะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง  เมื่อผ่านไปสัก 10 - 15 นาที


ข้อควรปฏิบัติในการรักษาด้วยการครอบแก้ว (Cupping Therapy)
การครอบแก้วมีสรรพคุณเพื่อสร้างความอุ่น กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและลมปราณ ขจัดความเย็นชื้น บรรเทาอาการปวดบวม ในทางคลินิกจะใช้หัตถการนี้รักษากลุ่มปี้เจิ้งที่เกิดจากลมชื้น เช่น ปวดเอว ปวดไหล่ ปวดขา ปวดกล้ามเนื้อ ฯลฯ นอกจากนี้ยังใช้ในกลุ่มโรคทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ปวดเอว และถ่ายเหลว รวมถึงโรคของปอด เช่น หอบหืด เป็นต้น

1. สภาพร่างกายของผู้ที่จะครอบแก้ว ถ้าสภาพร่างกายอ่อนแอเกินไปไม่เหมาะจะครอบแก้วเพราะในการครอบแก้วเป็นวิธีการระบาย จะทําให้คนที่ร่างกายพร่อง ยิ่ง พร่องมากขึ้น

2. สตรีมีครรภ์ คนชรา คนป่วยโรคหัวใจ ควรต้องระมัดระวังอย่างมาก ส่วน เอวและท้องของสตรีมีครรภ์ห้ามครอบแก้ว จะทําให้แท้งได้ง่าย เนื่อจากวงที่ครอบกระปุกที่ผิวหนังได้รับแรงดูดขึ้น ทําให้ร่างกายบริเวณนั้นบวมและปวด ซึ่งคนที่ร่างกายปกติทนรับได้ แต่คนชราและ ผู้ป่วยโรคหัวใจได้รับการกระตุ้นแบบนี้อาจทําให้โรคหัวใจกําเริบได้ ดังนั้น สําหรับคนกลุ่มนี้ต้อง ระมัดระวังในการครอบแก้ว

3. คนไข้ที่บริเวณผิวหนังมีแผลเปิดและโรคผิวหนัง ไม่ควรครอบแก้ว

4. ระยะเวลาในการครอบแก้ว ไม่ควรครอบไว้นานเกินไป ปกติเวลาที่เหมาะสมอยู่ในช่วงเวลา 8 นาที เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดตุ่มน้ํา โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ควรพยายามหลีกเลี่ยง การเกิดตุ่มน้ํา เพราะอาจจะทําให้ติดเชื้อได้

5. ควรรับการรักษาโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ ถ้าครอบแก้วโดยไม่ระวังอาจเกิดตุ่มน้ำ ปกติเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 mm. กระจายอยู่ ภายใน แต่ละกระปุกน้อยกว่า 3 อัน ตุ่มน้ำจะยุบไปเอง แต่ถ้าเส้นผ่านศูนย์กลางเกิน 1 มม. แต่ละ กระปุกมากกว่า 3 อัน หรือ มีโรคเบาหวานและภูมิคุ้มกันต่ำ ควรพบแพทย์

6. ความสะอาดของกระปุกแก้ว  ในการรักษาที่คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน คนไข้ 1 คนต่ออุปกรณ์ 1 ชุด ปกติทุกการใช้ หลังจากครบ 5 ครั้ง จะนําอุปกรณ์ไปทําความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อทันที  เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

7. ในเด็กเหมาะสมหรือไม่ที่จะครอบแก้ว ?  ปัจจุบันไม่ได้มีการวิจัย เพราะเด็กผิวหนังยังอ่อน การเจริญเติบโตยังไม่สมบูรณ์ ก่อนการครอบประปุก จะต้องสอบถามผู้ชํานาญ อยู่ในการดูแลของแพทย์ เพื่อความปลอดภัย


1. ฝังเข็มเจ็บไหม อันตรายหรือไม่

2. ฝังเข็มรักษาโรคได้อย่างไร ?
3. การฝังเข็มร่วมกับกระตุ้นเข็มด้วยไฟฟ้า Electro-Acupuncture

4. การรมยาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้