ชี่พร่อง气虚 ต้องบํารุงชี่补气 ชี่คืออะไรและต้องบำรุงอย่างไร?

Last updated: 10 ต.ค. 2566  |  13267 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ชี่พร่อง气虚 ต้องบํารุงชี่补气  ชี่คืออะไรและต้องบำรุงอย่างไร?

          ชี่พร่อง气虚  เกิดจากการทำงานของอวัยวะภายในน้อยลง ในชีวิตประจำวันเรามักพบอาการแบบนี้ค่อนข้างบ่อย พูดเสียงเบา ไม่อยากพูด เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ขาดชีวิตชีวา หายใจสั้น เหงื่อออกง่าย เวียนหัว สายตาพร่า หน้าซีด มักเป็นหวัดง่ายเมื่ออากาศเปลี่ยน อาการเหล่านี้จะเป็นมากขึ้นถ้ามีกิจกรรมการออกแรง

          พบได้ในกลุ่มคนเจ็บป่วยเรื้อรังทำให้ ร่างกายอ่อนแอ ผู้ป่วยสูงอายุรับประทานอาหารไม่เพียงพอ มีภาวะตึงเครียดหรือทำงานหนักเกินไป

          การที่ไม่อยากพูด อ่อนเพลียไม่มีแรง เกิดจากการขาดชี่ในการต้านทานโรค และการทำงานของอวัยวะภายในลดลง เวียนศีรษะและสายตาพร่า จากชี่พร่อง ทำให้ไม่มีแรงในการผลักดันเลือดตามปกติ เลือดและชี่ไม่สามารถขึ้นไปเลี้ยงสมองและตาได้ เหงื่อออกเองเกิดจากขาดชี่ในด้านการดูดรั้ง ทำให้ไม่สามารถควบคุมการเปิดและปิดของรูขุมขนได้

แพทย์จีนพูดถึงชี่ (气 พลังลมปราณ) คำถามคือ แล้วชี่คืออะไร?

          ชี่ (气พลังลมปราณ) เป็นสสารที่เล็กที่สุดในร่างกาย มีการเคลื่อนไหวขึ้นบนลงล่างตลอดเวลา ขับดันและควบคุมการทำงานของร่างกาย เมื่อการเคลื่อนไหวของที่สิ้นสุด ชีวิตก็สิ้นสุดด้วย

          อันที่จริง ชี่ มีความสำคัญมากจริงๆ เปี่ยนเชวี่ย 扁鹊 กล่าวไว้ใน คัมภีร์น่านจิงปาน่าน《难经•八难》ว่า  "ชี่คือรากเหง้าของคน ลำต้นและใบจะเหี่ยวแห้งถ้ารากถูกตัด"  气者,人之根本也,根绝则茎叶枯矣。แพทย์จีนเชื่อว่า ชี่ อยู่กับคนตลอดชีวิต การเจริญเติบโตของคน การพัฒนา การแก่ ความตาย โรคภัย ดีใจ โกรธ เศร้าโศก เสียใจ มองคราวๆเป็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ แต่แท้จริงแล้วคือพลังชี่ที่เปลี่ยนแปลงขับดัน

          มีคำกล่าวที่ว่า "คนเราอยู่ได้ด้วยลมหายใจเดียว"人活一口气 เราอาจนึกถึงคนเป็นหนึ่งลมหายใจก็ได้ ลมหายใจนี้เริ่มต้นจากทารกในครรภ์ เมื่อชี่แข็งแรง คนก็แข็งแรง เมื่อชี่เหี่ยวแห้ง ผู้คนก็เฉื่อยชา

ชี่ (气 พลังลมปราณ) ในร่างกายเรา มาจากที่ไหน?

          ชี่ก่อนกำเนิด เริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ร่างกายสร้างชี่โดยอาศัยจิงก่อนกำเนิด (สารจำเป็นจิงก่อนกำเนิด 先天之精ได้รับการถ่ายทอดจากบิดามารดาเกิดพร้อมกับการกำเนิดชีวิตในครรภ์) กลายเป็นชี่ก่อนกำเนิด ซึ่งเป็นพื้นฐานของชี่ เรียก เจินชี่ 真气หรือ เหยียนชี่ 原气 หรือ เหยียนชี่ 元气

          ชี่หลังกำเนิด หลังคลอดร่างกายได้รับเพิ่มเติมจากม้ามและกระเพาะอาหารโดยการดูดซึมจากสารอาหารเปลี่ยนเป็นชี่ และจากปอดที่สูดอากาศที่บริสุทธิ์เข้าสู่ร่างกายเปลี่ยนเป็นชี่

ชี่ (气 ลมปราณ) สำคัญต่อร่างกายเราอย่างไรบ้าง?

          1. กระตุ้นและควบคุมการทำงานในร่างกาย (1) ให้ร่างกายเจริญเติบโตและระบบอวัยวะสืบพันธุ์สมบูรณ์ (2) กระตุ้นและขับดันการทำงานของระบบอวัยวะภายในและชี่ (3) กระตุ้นและขับดันการสร้างและการลำเลียง จิง เลือด และของเหลวในร่างกาย

          2. ควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกาย  ความร้อนและความเย็นในร่างกายต้องอาศัยชี่ ทำให้สภาพร่างกายอยู่ในระดับความร้อนและความเย็นที่พอเหมาะให้ชีวิตดำเนินไปอย่างปกติสุข

          3. ปกป้องรักษาร่างกาย ชี่ปกป้องรักษาร่างกายโดยป้องกันการรุกรานจากสาเหตุและโรคจากภายนอกร่างกายและต่อสู้ขับไล่สาเหตุของโรค ถ้าในร่างกายลดลงจะทำให้ภูมิต้านทานโรคลดลง ทำให้ป่วยง่าย

          4. เหนี่ยวรั้งและควบคุมการทำงานของร่างกาย (1) ชี่เหนี่ยวรั้งและควบคุมให้เลือดไหลเวียนอยู่ในหลอดเลือด ถ้าชี่พร่องจะมีอาการเลือดออกง่าย  (2) ชี่เหนี่ยวรั้งและควบคุมสารคัดหลั่งในร่างกาย เช่น เหงื่อ ปัสสาวะ น้ำลาย น้ำในกระเพาะอาหารและลำไส้ ในกรณีที่ชี่พร่อง อาจเกิดปัญหาเหงื่อออกมากกว่าปกติ ปัสสาวะบ่อยหรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ อาเจียนเป็นน้ำใส ท้องร่วงหรือกลั้นอุจจาระไม่ได้ เป็นต้น  (3) ชี่ควบคุมการหลั่งอสุจิ หากชี่พร่องอาจเกิดปัญหาการหลั่งเร็ว ฝันเปียก หลั่งอสุจิโดยไม่รู้ตัว  (4) ชี่เหนี่ยวรั้งและควบคุมตำแหน่งอวัยวะภายในไม่ให้หย่อน ถ้าชี่พร่องอาจเกิดปัญหารูทวารหย่อน ไตหย่อน กระเพาะอาหารหย่อน มดลูกหย่อน เป็นต้น

          5. ประสานการทํางานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย อวัยวะภายในร่างกายแต่ละอวัยวะมีหน้าที่รับผิดชอบอย่างชัดเจนการจะทำงานประสานกันระหว่างอวัยวะ และการรับรู้ข่าวสารระหว่างอวัยวะต้องอาศัยชี่ที่มีการเคลื่อนไหวขึ้นลง และเข้าออกตลอดเวลาเป็นตัวนําสาร

          6. ควมคุมการสร้างและการเปลี่ยนแปลงของวัตถุพื้นฐานในร่างกาย  ชี่ควบคุมการย่อยอาหาร ดูดซึมเพื่อนำสารอาหารไปสร้างเป็นวัตถุพื้นฐานของร่างกาย ได้แก่ จิง ชี่ เลือด และของเหลวในร่างกาย เพื่อหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย หากเกิดความผิดปกติจะทำให้กระบวนการสร้างและการเปลี่ยนแปลงของวัตถุพื้นฐานในร่างกายหยุดชะงัก

          การบํารุงชี่补气 เป็นหนึ่งในวิธีที่เร็วที่สุดในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน  เพียงแค่ยาจีนก็สามารถบํารุงปอด บํารุงหัวใจ บำรุงม้าม และบํารุงไต !

          สภาพใดๆในคนเรามีความเกี่ยวข้องกับชี่ทั้งสิ้น ภูมิคุ้มกันก็เช่นเดียวกัน หลายคนที่ต้องการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน สามารถทำได้โดยการบำรุงชี่ และแพทย์จีนเชื่อว่าการบำรุงชี่ เป็นหนึ่งในวิธีที่เร็วที่สุดในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

ดังนั้นเราจะบำรุงชี่ได้อย่างไร? เราต้องบำรุงอะไรบ้าง?

          การบำรุงชี่แบ่งออกเป็น บำรุงเหยียนชี่补元气 บํารุงปอด补肺气 บํารุงหัวใจ补心气 บำรุงม้าม补脾气และบํารุงไต补肾气

          1. บำรุงเหยียนชี่补元气:ตั่งเซิน党参、เหรินเซิน(โสมคน)人参、หวงฉี黄芪、ซันเย่า山药、ไป๋จู๋白术

          คนที่มีไข้สูง ผ่าตัด คลอดบุตร ใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน  ผู้ป่วยล้วนสูญเสียเหยียนชี่ สามารถทานโสมช่วยบำรุงกำลัง จะทำให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว เมื่อทานโสม ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อทำให้ดูดซึมได้ดีและไม่ร้อนในง่าย

          โดยปกติเมื่อเราทานโสม แล้วอาจมีแผลในปาก อุจจาระแห้ง ปัสสาวะแสบร้อน หรือต่อมทอนซิลอักเสบ หรือเลือดกำเดาไหล เป็นการบำรุงที่มากเกินไป ควรหยุดทานโสมทันที

          แนะนำตำรับ: เปาหยวนทัง保元汤

          ตัวยาในตํารับ: หวงฉี黄芪เหรินเซิน人参  กันเฉ่า甘草โร่วกุ้ย肉桂

          สรรพคุณ : บํารุงชี่ม้าม บํารุงชี่ปอด และบํารุงชี่ไต บำรุงสามอวัยวะในตำรับเดี่ยว เนื่องจากโสมเป็นยาบำรุงชี่ที่มากเกิน จึงมักใช้ตั่งเซิน党参แทน

          ยาจีนที่มีสรรพคุณบำรุงชี่สมบูรณ์ที่สุด คือ ซันเย่า 山药

          ซันเย่า 山药หรือในอีกชื่อหนึ่งว่า ห่วยซัว ใช้เป็นได้ทั้งยาและอาหาร มักถูกนํามาใช้ปรุงเป็นอาหาร โดย ซันเย่า มีสรรพคุณในการบํารุงชี่ม้าม บํารุงชี่ปอด และบํารุงชี่ไต ทั้งสามอวัยวะ จึงมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก

          2. บํารุงชี่ปอด补肺气 :กันเฉ่า甘草

          ชี่ของปอดพร่อง肺气虚อาการไอไม่ค่อยมีแรงหรือหอบ หายใจสั้นไม่เต็มอิ่มเคลื่อนไหวจะเป็นมากขึ้น ไอเสมหะมักจะดูใส พูดจาเสียงเบา หรือมีเหงื่อออกง่าย เป็นหวัดง่าย อ่อนเพลียไม่มีแรง สีหน้าขาวซีด

          กันเฉ่า หรือ ชะเอม甘草สามารถบรรเทาอาการไอและบรรเทาอาการหอบได้ และยังบำรุงปอดได้ดี ชะเอมสามารถชงเป็นชาดื่มได้

          3. บํารุงชี่หัวใจ补心气: โสมอเมริกัน西洋参、โสมแดง红参

          ชี่ของหัวใจพร่อง心气虚อาการใจเต้นผิดปกติ หายใจสั้น ดูอ่อนเพลีย เป็นมากขึ้นหากเคลื่อนไหวทำงาน สีหน้าขาวซีดหรือมีเหงื่อออกง่าย
         

          การทำงานหนัก เมื่อยล้า รู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม นี่คืออาการระยะเริ่มต้นของโรคหัวใจ เมื่อมีอาการเหล่านี้สามารถเลือกใช้โสมอเมริกัน และโสมแดงเป็นตัวเลือกแรกๆ การทานโสมที่บำรุงชี่หัวใจล่วงหน้าสามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคหัวใจก่อนเวลาอันควรได้

          4. บำรุงชี่ม้าม补脾气:ไป๋จู๋白术、ซันเย่า山药、ไป๋เปี่ยนโต้ว白扁豆

          ชี่ของม้ามพร่อง脾气虚อาการรับประทานน้อยท้องอืด โดยเฉพาะรับประทานแล้วจะแน่นมากขึ้น ถ่ายเหลว อ่อนล้าไม่มีแรง ท่าทางเหนื่อย ไม่มีแรงพูด ร่างกายผอม สีหน้าอมเหลืองหรือดูอ้วนแต่เป็นแบบดูบวมฉุ คนเหล่านี้มักมีโรคกระเพาะร่วมด้วย

          ยาจีนที่ช่วยบำรุงม้าม ได้แก่ ไป๋จู๋白术、ซันเย่า山药หากลิ้นฝ้าหนา ก็สามารถเพิ่มไป๋เปี่ยนโต้ว白扁豆เพื่อบำรุงม้ามและขจัดความชื้นได้

          5. บํารุงชี่ไต补肾气:โก่วฉีจื่อ枸杞子、ทู่ซือจื่อ菟丝子、อู่เว่ย์จื่อ五味子、จิ่วไฉ่จื่อ韭菜子

          ชี่ของไตไม่มีเสถียรภาพมั่นคง肾气不固อาการมักมีอาการเมื่อยเอวเข่าอ่อนไม่มีแรง หูอื้อ ปัสสาวะบ่อยหรือปัสสาวะกะปริบกะปรอยไม่หมด หรือปัสสาวะไม่รู้ตัวกลางคืนยังต้องตื่นเข้าห้องน้ำบ่อย หรือไม่อาจควบคุมปัสสาวะได้ ในชายมักมีอสุจิเคลื่อนโดยที่ยังรู้สึกตัว หลั่งเร็ว สตรีประจำเดือนกะปริบกะปรอยไม่หมด หรือตกขาวใสปริมาณมาก หรือตั้งครรภ์แล้วจะแท้งง่าย

          ชี่ของไตพร่องส่วนใหญ่จะปรากฏอาการใน 8 ข้อ ดังต่อไปนี้ (มีอาการใดอาการหนึ่งก็คือมีชี่ไตพร่อง) (1)ชอบกินอาหารที่มีรสจัด (2)ผู้สูงอายุปัสสาวะจะขนลุก (3)มีไข้ต่ำๆ ระหว่าง 17 ถึง 19 นาฬิกา (4)ผู้ใหญ่ไม่มีความทะเยอทะยานและเป็นไปตามสภาพ (5)เวลานั่งมักจะเขย่าขาโดยไม่รู้ตัว (6)ผมขาวขึ้นมากก่อนวัย (7)มือและเท้าเย็น (8)เหงื่อออกตอนกลางคืน

          โก่วฉีจื่อ枸杞子、ทู่ซือจื่อ菟丝子、อู่เว่ย์จื่อ五味子、จิ่วไฉ่จื่อ韭菜子ใช้เป็นได้ทั้งยาและอาหารบำรุงไตและหยางได้ดี

          การบำรุงชี่ ไม่ได้หมายความว่าสามารถใช้ได้ไม่ว่าในกรณีใด ก่อนการใช้ควรปรึกษาแพทย์จีนก่อนเสมอ

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้