แนวทางการฟื้นฟูภาวะสมองพิการในเด็ก

Last updated: 11 ต.ค. 2566  |  1063 จำนวนผู้เข้าชม  | 

แนวทางการฟื้นฟูภาวะสมองพิการในเด็ก

ภาวะสมองพิการ Cerebral palsy : CP ภาษาจีนเรียก 小儿脑瘫 คือ ความผิดปกติของระบบประสาทและสมองในทารกแรกเกิดหรือเด็กเล็ก ซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดจากสมองที่กำลังพัฒนาดำเนินได้อย่างไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้สมองที่มีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกาย การควบคุมกล้ามเนื้อแขน ขา การทรงตัวผิดปกติ รวมถึงความรู้สึกนึกคิดและสมาธิสติปัญญาอีกด้วย

สาเหตุของภาวะสมองพิการ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม

  • ระยะก่อนคลอด (出生前 : Prenatal period) เป็นระยะที่สมองและอวัยวะต่าง ๆ ของทารกในครรภ์เจริญเติบโตผิดปกติ มารดาอาจขาดการบำรุงไม่เพียงพอ อุบัติเหตุ ภาวะติดเชื้อในครรภ์ ภาวะขาดออกซิเจน มีเลือดออก ความดันสูงหรือโรคเบาหวานในมารดา เป็นต้น
  • ระยะระหว่างคลอด (围生时 : Perinatal period) มักเกิดได้จากการคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักตอนคลอดน้อย รกสายสะดือพันคอระหว่างทำคลอด ภาวะคลอดยากต่าง ๆ เป็นต้น
  • ระยะหลังคลอด (出生后 : Postnatal period) ส่วนมากเกิดจากสมองขาดออกซิเจนหรือภาวะเลือดคั่ง เลือดออกกดทับสมอง ทำให้สมองได้รับความเสียหาย พบได้มากที่สุดคือ การควบคุมการเคลื่อนไหวเกิดความผิดปกติ

อาการแสดงทางคลินิก
ส่วนมากจะแสดงถึงพัฒนาการล่าช้า เช่น เด็กหลังคลอดไม่นานที่ยังไม่สามารถชันคอหรือนั่งได้ การขยับของแขน ขา ค่อนข้างน้อย บริเวณขาค่อนข้างชัดเจน เมื่อขยับเคลื่อนไหวความตึงตัวกล้ามเนื้อมากขึ้น ไม่เป็นธรรมชาติ และยังมีปัญหาด้านการสื่อสาร ความสามารถด้านความคิดสติปัญญา

ข้อสังเกตุ

  • แขน ขา กล้ามเนื้อตึงเกร็ง บริเวณขา ข้อเท้า ค่อนข้างชัดเจน
  • การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ มีภาวะสั่นกระตุกร่วมด้วย
  • ปัญหาการเดิน การทรงตัว
  • ปัญหาการพูดการสื่อสาร ความสามารถด้านความคิดสติปัญญา และควบคุมอารมณ์ตนเองได้ยาก สมาธิสั้น หงุดหงิดง่าย บางคนมีภาวะชักกระตุกลมบ้าหมู เป็นต้น

ประเภทความพิการสมอง

  1. Spasticity พบบ่อยที่สุดเกือบร้อยละ 80% ของเด็กที่มีภาวะนี้ทั้งหมด เกิดจากความตึงตัวของกล้ามเนื้อที่มากกว่าปกติ อาจมีการตอบสนองอัตโนมัติของร่างกาย ซึ่งเป็นผลให้มีการเคลื่อนไหวติดขัดไม่เป็นธรรมชาติ สามารถแบ่งย่อยได้ ดังนี้
    1.1  Diplegia ขาทั้ง 2 ข้างมีความผิดปกติมากกว่าแขน
    1.2  Hemiplegia มีลำตัว แขน และขา ผิดปกติครึ่งซีก โดยแขนมากกว่าขา
    1.3  Quadriplegia แขน ขา และลำตัวทั้งหมดมีความผิดปกติ
    1.4  Triplegia ขา 2 ข้างและแขน 1 ข้างเกร็ง
  2. Athetoid (Dyskinetic) เป็นความผิดปกติของสมองในส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวภายใต้อำนาจจิตใจและการเคลื่อนไหวที่ประสานกัน จะเริ่มเห็นชัดในช่วงอายุ 1-3 ปีแรก พบว่าแขนผิดปกติมากกว่าขา อาการจะเด่นเมื่อมีอารมณ์หงุดหงิด หรือมีความเครียด
  3. Mixed types เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถแยกปัญหาเข้าตามกลุ่มข้างต้นได้ หรืออาจมีอาการหลายอย่างเกิดร่วมในคนเดียวกัน

ภาวะสมองพิการหรือพัฒนาการล่าช้า แพทย์แผนจีน เรียกว่า 五迟 wuchi, 五软 wuruan หรือ 痿病 weibing โดยมีความเกี่ยวข้องกับอวัยวะไต ในคัมภีร์ซู่เวิ่น ซ่างกู่เทียนเจินลุ่น《素问:上古天真论》ได้กล่าวถึง สารจิง (精) ในไตว่ามีความสำคัญต่อการเกิดและเจริญเติบโตของกระดูก สมอง และการเจริญทางเพศ ซึ่งไตมีหน้าที่เก็บสะสมสารจำเป็นที่ได้รับจากพ่อแม่ก่อนกำเนิด และจากอาหารเป็นสารจำเป็นหลังกำเนิด หากการสร้างของสารจิงและเลือดไม่เพียงพอ การทำงานของอวัยวะภายใน กระดูกไขสันหลัง และสมองก็จะไม่สมบูรณ์เกิดความพิการได้ในที่สุด

การรักษาฟื้นฟูด้วยศาสตร์แพทย์แผนจีน

  1. การฝังเข็ม เพื่อกระตุ้นการทำงานสมองการหมุนเวียนเลือดภายในร่างกาย ช่วยควบคุมสมาธิ เสริมสร้างสติปัญญา ระบบภูมิคุ้มกัน ปรับสมดุลร่างกายแบบองค์รวม
  2. นวดทุยหนา เพื่อคลายกล้ามเนื้อ ลดอาการตึงเกร็ง ช่วยเพิ่มองศาการเคลื่อนไหวของเส้นเอ็นและข้อต่อ
  3. เต๋าอิ่น ช่วยฝึกและจดจำการเคลื่อนไหวของแขนขา เสริมสร้างสมาธิ สติปัญญา เรียนรู้ในการทำกิจกรรมหรือกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ

ปรึกษาสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่ทีมแพทย์จีน คลินิกฟื้นฟูอัมพฤกษ์อัมพาตและโรคทางระบบประสาท ชั้น 8 คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีน พัลลภ อ่อนแก้ว (จาง เหวิน จิ้ง)
张文静 中医师
TCM. Dr. Phanlob Onkaew

อ้างอิง
1. Basic Traditional Chinese Medicine ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเบื้องต้นกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข
2. 中医推拿学 : 普通高级等教育“十二五”国家级规划教材 P194-196
3. อ. พญ.ปรัชญพร คำเมืองลือ. การฟื้นฟูผู้ป่วยเด็กสมองพิการและโปลิโอ (Rehabilitation in Cerebral Palsy and Residual Poliomyelitis ). P34-36
4. https://www.rebrain-physio.com สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2566

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้