รักษาอาการปวดพังผืดกล้ามเนื้อ ด้วยวิธีทุยหนาแพทย์แผนจีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  183680 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รักษาอาการปวดพังผืดกล้ามเนื้อ ด้วยวิธีทุยหนาแพทย์แผนจีน

กลุ่มอาการปวดจากพังผืดกล้ามเนื้อ เป็นกลุ่มอาการที่มีลักษณะปวดอันเนื่องจากมี “จุดกดเจ็บเฉพาะ” (Trigger point ; TrP) ในกล้ามเนื้อ


Cr.Photo : www.sportaid.com


ลักษณะของโรค

1. อาการและอาการแสดงทางคลินิก
- มีจุดกดเจ็บเฉพาะ
- ลักษณะปวด เป็นแบบหนักตื้อ (dull pain) ปวดล้า (soreness) และตำแหน่งอยู่ลึก
- ความรุนแรงของการปวด มีตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงปวดมาก หรือปวดมากจนมีปัญหาในชีวิตประจำวัน
- อาการปวดขณะพักหรือออกกำลังกาย
- ตำแหน่งที่ปวด ไม่จำเป็นต้องพบทั้งสองข้างของร่างกาย (non symmetry)

2. การตรวจร่างกาย
- ด้านกำลังของกล้ามเนื้อ (motor) อาจพบมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อหดสั้น  แข็ง เกร็ง ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้น้อยลง

- ด้านความรู้สึก (sensory) อาจพบชาตามบริเวณที่เกิดโรค  ด้านประสาทอัตโนมัติ (ANS) เช่น มีเหงื่อออกผิดปกติ น้ำตาไหล น้ำมูกไหล น้ำลายไหลมากผิดปกติ  มึนงง  เสียงดังในหู เป็นต้น

- จากความปวดทำให้ผู้ป่วยเกิดปัญหาการนอนหลับตามมาได้

สาเหตุของโรค
แบ่งเป็น 3 ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค  ดังนี้
1. ปัจจัยจากกลไกทางกระดูก กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น (mechanical factors) จากการที่ร่างกายไม่สมดุลแต่กำเนิด  การได้รับการบาดเจ็บ หรือ อิริยาบถในชีวิตประจำวัน เช่น ท่านั่ง ท่ายืน ท่าของการทำงานที่ไม่ถูกต้อง เป็นต้น  ทำให้กล้ามเนื้อใช้งานในท่าไม่ถูกต้อง ใช้งานไม่สมดุล หรือ ใช้งานมากเกินไป ขาดการพักผ่อน (bone length, muscle tension, posture, overuse)

2. ปัจจัยทั่วไปทางร่างกาย (systemic factors) จากการได้รับสารอาหาร การทำงานของต่อมไร้ต่อมและเมตาบอลิสมของร่างกายที่ไม่สมดุล หรือใช้งานนานเกินไปขาดการพักผ่อน (nutrition, neuroendocrine, metabolism)

3. ปัจจัยทางจิตใจ (psychological factors) จากภาวะซึมเศร้าวิตกกังวล การใช้ชีวิต ที่เร่งรีบ

 จุดเด่นของโรคนี้
1. คลำพบ จุดกดเจ็บเฉพาะ
2. ปวดร้าวไปบริเวณอื่น (referred pain) ซึ่งมีบริเวณที่ร้าวกระจายโดยเฉพาะ คลำตามเส้นใยกล้ามเนื้ออาจพบ “แถบกล้ามเนื้อ”  (taut band)
3. เมื่อออกแรงกด (snapping palpation) ที่จุดเจ็บเฉพาะ อาจพบการกระตุกของ กล้ามเนื้อเฉพาะที่ (local twitch response ; LTR)
4. เมื่อกดถูกจุดเจ็บเฉพาะ ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดมากจนทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนหนี (jump sign)

การแยกระหว่าง จุดกดเจ็บเฉพาะ (trigger point) และ จุดกดเจ็บ (tender point) คือ จุดกดเจ็บเฉพาะ มีลักษณะ เมื่อกดถูกจุดที่เจ็บผู้ป่วยจะรู้สึกอาการเจ็บนั้นร้าวกระจายไปที่อื่น อาจมีการกระตุกของกล้ามเนื้อเฉพาะที่ ขณะที่จุดกดเจ็บ ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บบริเวณที่ถูกกด แต่ไม่ร้าวกระจายไปที่อื่น

จุดกดเจ็บเฉพาะ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1. จุดกดเจ็บเฉพาะ ที่มีอาการ (activc TrP) ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วย อาการปวดตั้งแต่เล็กน้อยจดถึงปวดอย่างรุนแรง

2. จุดกดเจ็บเฉพาะแฝง (latent TrP) ผู้ป่วยไม่มีอาการปวดชัดเจน แต่รู้สึกฝืดขัดเมื่อเคลื่อนไหวร่างกาย กำลังกล้ามเนื้อลดลง เมื่อกดถูกจุดผู้ป่วยจะรู้สึกปวดร้าวกระจายไปบริเวณ  อื่น ดังนั้นจุดกดเจ็บเฉพาะแฝงจึงพบได้ในคนทั่วไป  จุดเหล่านี้จะเปลี่ยนเป็นจุดกดเจ็บเฉพาะที่มีอาการ ในภาวะที่มีปัจจัยกระตุ้น  เช่น
- ได้รับแรงกดกระแทกอย่างฉับพลัน (acute stress)
- ใช้งานมากเกินไป (overuse)
- ร่างกายอ่อนเพลีย (fatigue)
- ได้รับความเย็นจากภายนอก (cold)
- จิตใจได้รับความกดดัน (emotional stress)

การตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจภาพรังสี
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือภาพรังสี ไม่พบลักษณะเฉพาะในการวินิจฉัยโรค ปัจจัยเสริมที่อาจตรวจพบร่วมด้วย ได้แก่ ภาวะต่อมไธรอยด์ทำงานน้อย (hypothyroidism) น้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) และการขาดวิตามิน



การวินิจฉัย
การวินิจฉัย อาศัยอาการทางคลินิก ซึ่งประกอบด้วยเกณฑ์หลัก 5 ข้อ (major criteria) และเกณฑ์ย่อย (minor criteria) อย่างน้อย 1 ใน 3 ดังนี้

เกณฑ์หลัก 5 ข้อ  ได้แก่
1. มีอาการปวดเฉพาะบริเวณ (Regional pain complaint)

2. มีอาการปวดหรืออาการอื่นที่ร้าวกระจายมาจากจุดกดเจ็บเฉพาะ (pain complaint or altered sensation in the expected distribution of referred pain from a myofascial TrP)


3. คลำพบลำกล้ามเนื้อ ในกล้ามเนื้อที่เป็นต้นเหตุ (Taut band palpable in an accessible muscle)

4. ตรวจพบจุดกดเจ็บชัดเจนสุด 1 จุด ในลำกล้ามเนื้อ (Exquisite spot tenderness at 1 point along the length of the taut band)

5. ตรวจพบการจำกัดพิสัยของการเคลื่อนไหว (Some degree of restricted range of motion, when measureable)

เกณฑ์ย่อย 3 ข้อ ได้แก่
1. เกิดอาการปวด เมื่อกดถูกจุดกดเจ็บ (Pain complaint reproduced by pressure on the tender spot)

2. มีการกระตุกของกล้ามเนื้อเฉพาะที่ เมื่อถูกกระตุ้น (A local twitch response)

3. อาการปวดลดลงเมื่อยืดกล้ามเนื้อหรือฉีดยาเข้าจุด (Relief of the pain by stretching or injecting)

นอกจากนี้การวัดความไวของการเจ็บปวดต่อแรงกด (pressure pain sensitivity)โดยใช้เครื่องวัดระดับความปวด (Dolorimeter) เป็นวิธีหนึ่ง ซึ่งยืนยันจุดกดเจ็บที่ผิดปกติ รวม ทั้งที่ใช้เปรียบเทียบผล ก่อนและหลังรักษา ซึ่งถ้าการรักษาได้ผล ความทนทานต่อแรงกด (pressure threshold) จะเพิ่มขึ้น 3 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร การวัดโดยวิธีนี้ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ทางเวชปฏิบัติ

การรักษา
1. การรักษาแบบการแพทย์แผนปัจจุบัน
- การฉีดยาจุดกดเจ็บเฉพาะ (TrP injections) ยาที่ใช้ เช่น Bupivacaine,
Etidocaine, Lidocaine, Saline, Sterile water, Steroids, Botulinum toxin เป็นต้น
- การแทงเข็ม (dry needling)
- การรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู โดยกายภาพบำบัด เช่น ใช้คลื่นเสียงความถี่สูงรักษาที่จุด ตามด้วยการยืดกล้ามเนื้อ เป็นต้น

2. การรักษาแบบการแพทย์แผนจีน โดยการฝังเข็ม
ในทางทฤษฎี เปรียบเทียบการรักษาโดยการแทงเข็มแบบการแพทย์แผนปัจจุบันและการฝังเข็ม จะเห็นว่า หลักการของการแทงเข็ม คือ ใช้ปลายเข็มไปทำลายหรือกระตุ้นจุดกดเจ็บ ทำให้เกิดปฏิกิริยาเปลี่ยนแปลงจากระบบประสาทส่วนกลาง จากนั้นกล้ามเนื้อจะเกิดการผ่อนคลาย สุดท้ายผู้ป่วยจะรู้สึกปวดลดลง



จากทฤษฎีการแพทย์แผนจีน อาศัยหลักว่า “ไม่โล่งจะปวด โล่งจะไม่ปวด” ดังนั้นการใช้เข็มกระตุ้นที่จุดกดเจ็บ หรือจีนเรียกว่า จุดอาซื่อ ทำให้เลือดและชี่ไหลเวียนได้คล่อง ผู้ป่วยก็จะรู้สึกปวดลดลง ในตำราหลิงซู : กวนเจิน (灵枢:官针) ได้กล่าวถึงการฝังเข็ม 2 แบบ คือ

แบบที่ 1 การฝังเข็มบริเวณที่มีการอุดตันของชี่หรือเลือด จะเป็นการรักษาโรคของเส้นลมปราณ

แบบที่ 2 การฝังเข็มบริเวณกล้ามเนื้อ จะเป็นการรักษากล้ามเนื้อที่ลีบ หรือ ได้รับบาดเจ็บเรื้อรัง



ดังนั้น จึงใช้เทียบเคียงกับกลุ่มอาการปวดจากพังผืดกล้ามเนื้อได้  นอกจากนี้ ในการฝังเข็ม นอกจากการกระตุ้นจุดอาซื่อแล้ว ยังอาศัยการรักษาโดยใช้หลักการของจุดใกล้ (จุดที่อยู่รอบบริเวณรอยโรค) และจุดไกล (จุดที่อยู่ในแนวเส้นลมปราณที่ไหลเวียนผ่านรอยโรค) รวมทั้งใช้จุดฝังเข็มเพื่อรักษาสาเหตุตามหลักทฤษฎีการแพทย์จีน ที่ทำให้เลือดและลมปราณไหลเวียนไม่คล่องจนเกิดอาการปวดและกล้ามเนื้อหดเกร็ง เนื่องจากอาการปวดจากพังฝืดกล้ามเนื้อเป็นเพียงอาการแสดงส่วนหนึ่งของความผิดปกติที่มีสาเหตุต่าง ๆ กัน การฝังเข็มจึงไม่เพียงมุ่งเน้นการบรรเทาปวดเฉพาะที่เท่านั้น แต่ยังมุ่งหวังถึงการรักษาสาเหตุด้วย



ตัวอย่างผู้ป่วย
ผู้ป่วยรายที่ 1   ผู้ป่วยหญิงไทยโสดอายุ 33 ปี ทำงานเป็นลูกจ้างมีอาการปวดสะบักซ้ายหลายเดือน ใช้คอมพิวเตอร์ตั้งแต่ 9.00 น.-18.00 น. สะพายกระเป๋าหนักไปและกลับ จากที่ทำงานเป็นประจำ ตรวจร่างกายพบจุดกดเจ็บเฉพาะและคลำพบลำกล้ามเนื้อที่กล้ามเนื้อ Upper และ Lower Trapezius มีจุดกดเจ็บที่กล้ามเนื้อ Supraspinatus และ Infraspinatus ข้างซ้าย เมื่อใช้เข็มปักกระตุ้นตรงจุดที่กดเจ็บเฉพาะ พบการกระตุกของกล้ามเนื้อดังกล่าว และร้าวลงแขนซ้าย ซึ่งเป็นไปตามบริเวณที่ร้าวกระจายโดยเฉพาะ

ผู้ป่วยรายนี้เป็นกลุ่มอาการที่พบบ่อยในโรคเขตเมืองที่เรียกกันว่า “ออฟฟิซ ซินโดรม” (Office Syndrome) การรักษาสามารถใช้หลักของการแทงเข็มแบบการแพทย์แผนปัจจุบัน หรือการฝังเข็มแบบการแพทย์แผนจีน การนวดทุยหนา หัตถการเสริม เช่น ครอบแก้ว ก็ได้ผลดียิ่งขึ้น ร่วมกับการปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานที่เหมาะสม













ผู้ป่วยรายที่ 2   ผู้ป่วยชายไทยคู่ อายุ 43 ปี นักธุรกิจ ปวดสะโพกขวาร้าวลงขาขวาถึงเข่า เป็นเวลาหลายปี ขับรถ และนั่งทำงานวันละหลายชั่วโมง ได้รับการรักษามาหลายแห่งโดยการรับประทานยา ฉีดยา กายภาพบำบัด และนวดแผนโบราณ แต่อาการไม่ดีขึ้น ตรวจร่างกาย พบจุดกดเจ็บเฉพาะลึก บริเวณสะโพก สามารถจับยกขาขวาในท่านอนได้สูง 70 องศา (negative stright leg raising test) เมื่อใช้เข็มปักกระตุ้นที่จุดกดเจ็บ พบการกระตุกของกล้ามเนื้อเฉพาะที่ และร้าวลงขาขวา ตามบริเวณที่ร้าวกระจายโดยเฉพาะผู้ป่วยรายนี้เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากกล้ามเนื้อ Pyriformis (Pyriformis syndrome)  ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่อยู่ลึกและติดกับเส้นประสาทไซแอติก ทำให้มีอาการคล้ายโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท  การใช้ฝังเข็มเป็นวิธีที่ได้ผลดีมาก แต่ต้องระวังอันตรายต่อเส้นประสาทไซแอติก
- อ่านข้อมูล - ปวดเส้นประสาทไซแอทติก Sciatica



















ข้อสังเกตและคำแนะนำ
1. สามารถใช้การฝังเข็มเพียงอย่างเดียว หรือผสมผสานการรักษาร่วมกับการรักษาอื่น ๆ เช่น ทุยหนา แช่ยา  หัตถการเสริม ครอบแก้ว รมยา เข็มอุ่น รับประทานยา และการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น กายภาพบำบัด เป็นต้น







2. ในการรักษา แพทย์จีนที่ทำการรักษาจะไม่กระตุ้นเข็มรุนแรงหรือหลายครั้งเกินไป เพราะอาจทำให้มีอาการปวดระบมหลังจากการรักษาได้



3. การรักษาที่ต้นเหตุ ควรหลีกเลี่ยงการทำงานในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ เช่น นั่งทำคอม พิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน ๆ โดยไม่พัก  การขับรถนาน ๆ หรือหลีกเลี่ยงการใช้อิริยาบถที่ไม่เหมาะสม เช่น การเอี้ยวคอ หรือหนุนหมอนท่ากึ่งนั่งกึ่งนอนดูโทรทัศน์เป็นระยะเวลานาน ๆ เป็นต้น ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงอิริยาบถที่ไม่เหมาะสมร่วมกับการออกกำลังแบบยืดกล้ามเนื้อ (Stretching exercise) ของกล้ามเนื้อมัดนั้นจะป้องกันการเกิดซ้ำได้

4. การค้นหาสาเหตุและการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญในการรักษากลุ่มอาการปวดจากพังผืดกล้ามเนื้อ


อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
1. ฝังเข็มเจ็บไหม อันตรายหรือไม่
2. ฝังเข็มรักษาโรคได้อย่างไร ?
3. การฝังเข็มร่วมกับกระตุ้นเข็มด้วยไฟฟ้า Electro-Acupuncture
4. การรมยาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน
5. การนวดทุยหนารักษาโรค (Tuina)
6. การเตรียมตัว / ก่อน / ขณะ / หลัง การฝังเข็ม

พังผืดกล้ามเนื้อ ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อบาดเจ็บ ปวดสะโพกขวา จุดกดเจ็บ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ฝังเข็ม รมยา ทุยหนา นวด นวดแผนจีน Acupuncture Tuina Trigger point ปวด กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อหดสั้น ชา กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น จุดกดเจ็บเฉพาะ tender point ภาวะต่อมไธรอยด์ทำงานน้อย กล้ามเนื้อกระตุก ยืดกล้ามเนื้อ ยาจีน หาหมอจีน หมอจีนโคราช หมอจีนศรีราชา ปวดสะบัก ปวด ปวดกล้ามเนื้อ triggerpoints จุดกดเจ็บในกล้ามเนื้อ ปวดพังผืดกล้ามเนื้อ ปวดร่างกาย กล้ามเนื้อบาดเจ็บ ปวดจากการออกกำลังกาย กล้ามเนื้ออ่อนแรง เสียงดังในหู เส้นเอ็นอักเสบ บาดเจ็บจากกีฬา ซึมเศร้า ปวดร้าว ชา tenderpoint นวดทุยหนา Tuina กล้ามเนื้อกระตุก ฝังเข็ม
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้