Last updated: 27 ส.ค. 2567 | 3999 จำนวนผู้เข้าชม |
อาการปวดศีรษะเป็นอาการที่ใครหลาย ๆ คนล้วนมีประสบการณ์ แต่หากมีอาการปวดขมับ ปวดกระบอกตา คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าเป็นปวดศีรษะไมเกรน จริง ๆ แล้วเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าวเกิดได้จาก 2 เหตุปัจจัยโดยจะขอเรียกให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าไมเกรนแท้และไมเกรนเทียม
อาการปวดหัวไมเกรนแท้ มักมีอาการปวดหัวข้างเดียว ปวดแบบตุ๊บ ๆ เป็นจังหวะ มีอาการปวดค่อนข้างมากมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียรร่วมด้วย มักมีอาการนำมาก่อน เช่นกันเห็นแสงไฟระยิบระยับ เห็นภาพเบลอ ก่อนมีอาการปวดหัวประมาณ 10-30 นาที อาจมีสาเหตุจากความเครียด แพ้แสง แพ้กลิ่น เครื่องดื่มบางประเภท พักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัว ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด คาดว่าจะเกิดจากสารสื่อประสาทให้สมอง
อาการปวดศีรษะไมเกรนเทียม นั้นมีลักษณะการปวดคล้าย ๆ กัน คือ มีการปวดหัวข้างเดียว ปวดขมับ ปวดกระบอกตา ปวดท้ายทอย มักเป็นเวลาตื่นนอนตอนเช้า หรือ หลังจากนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์หรือขับรถเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจจะเป็น ๆ หาย ๆ มักมีอาการปวดคอบ่า ปวดหัวไหล่ มีการเคลื่อนไหวคอติดขัดร่วมด้วย สาเหตุเกิดจากกล้ามเนื้อที่คอและบ่ามีความตึงตัวมากเกินไป จนเกิดอาการปวดร้าวขึ้นไปถึงบริเวณท้ายทอย หรือ ขมับ
ในทางการแพทย์แผนจีนมองว่าการปวดศีรษะไมเกรนมักมีสาเหตุมาจากภาวะตับร้อน เสมหะอุดกั้น และเลือดคั้ง โดยการรักษาอาการปวดศีรษะทั้งสองแบบนั้นได้ผลค่อนข้างดีมาก การฝังเข็มและการนวดทุยหนาจะเลือกใช้จุดที่เส้นลมปราณถุงน้ำดี จะช่วยคลายกล้ามเนื้อที่มีการหดเกร็ง เพิ่มการไหลเวียนเลือด ลดอาการปวดได้ดี กระตุ้นสมองให้หลั่งสารระงับอาการปวด การใช้ยาสมุนไพรจะช่วยปรับสมดุลอิน หยาง ระบายความร้อน ขับเสมหะ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ทะลวงลมปราณ นอกจากการรักษาแล้วเราก็ต้องเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงปัจจัยการเกิดโรคเพื่อไม่ให้กลับมามีอาการปวดอีก
สำหรับผู้ที่ปวดศีรษะไมเกรนแท้ ควรหลีกเลี่ยงเหตุปัจจัยที่กระตุ้นทำให้เกิดอาการปวด ได้แก่ ความเครียด การพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แจ้งมีแสงจ้า เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน การสูบบุหรี่ การอดอาหาร เป็นต้น สำหรับผู้ที่ปวดศีรษะไมเกรนเทียมให้หลีกเลี่ยงการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ หรือการขับรถเป็นระยะเวลานานๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอจะช่วยยืดเหยียด คลายกล้ามเนื้อ ลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อได้ เมื่อมีอาการปวดศีรษะทั้งสองแบบการนวดคลึงที่จุดไท่หยาง太阳 เฟิงฉือ风池 ไป่ฮุ่ย 百会จะช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะได้
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน บดินทร์ ก่อกวิน (หมอจีน กวน จิน ซุ่น)
关金顺 中医师
TCM. Dr. Bordin Korkawin (Guan Jin Shun)
แผนกกระดูกและทุยหนา
30 ส.ค. 2567
15 ก.ค. 2567
22 ก.ค. 2567