รู้จักโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) ป้องกันและรักษาด้วยวิธีแพทย์แผนจีน

Last updated: 10 ต.ค. 2566  |  61755 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รู้จักโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) ป้องกันและรักษาด้วยวิธีแพทย์แผนจีน

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)   白疕  (白疕)   De bái bǐ;
 松皮癬 (松皮癣)  Sōng pí xuǎn
เป็นโรคผิวหนังที่เป็นปื้นสีแดงรูปร่างต่างๆ   ที่ผิวมีสะเก็ดสีเงิน  ถ้าขูดสะเก็ดออกจะพบว่ามีจุดเลือดออก    เป็นโรคที่มีสาเหตุจากธาตุร่างกายแต่กำเนิด  หรือร่างกายมีภาวะเลือดพร่องทำให้เกิดพิษลมและแห้งขึ้น    หรือเกิดจากพิษภัยจากความชื้นและเลือดคั่งอุดกั้น


"โรคสะเก็ดเงิน"  มีอีกชื่อว่า "เรื้อนกวาง" เป็นโรคเรื้อรังทางผิวหนังที่พบได้บ่อย เกิดจากมีปัจจัยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันทำให้เกิดการอักเสบและกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวให้เร็วเกินไปพบได้ประมาณร้อยละ 1 – 2 ของประชากรทั่วโลก ผู้ชายและผู้หญิงก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ใกล้เคียงกัน มักมีอาการเมื่ออายุระหว่าง 20 – 30 ปี โรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ
สามารถเกิดได้กับทุกส่วนของร่างกาย เช่น ข้อศอก หนังศีรษะ ใบหน้า และฝ่ามือ

อาการของโรคสะเก็ดเงิน 
คัน / มีผื่นสีแดง /  ผิวลอก / มีน้ำเหลืองไหล

จุดสังเกตและอาการสำคัญ
“ผื่น ปื้น นูน สีแดง ขอบเขตชัดเจน มีขุยสีขาวขุ่น หรือ สีเงิน สีเทา อยู่ด้านบน”

- หากขูดขุยสีขาวออก จะพบจุดเลือดออกใต้ผิว
- หากเป็นที่ศีรษะ ผมจะเกาะรวมกันเป็นกระจุกคล้ายปลายพู่กัน
- ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติที่เล็บร่วมด้วย
- สะเก็ดเงินมีหลายประเภท แบบผื่นหนา แบบมีตุ่มหนอง แบบมีอาการข้ออักเสบ แบบมีผื่นสีแดงกว่าปกติ










(ข้อมูลภาพประกอบด้านโรคอาจมีภาพที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจ
 ทั้งนี้เพื่อเป็นข้อมูลประกอบทางวิชาการและสร้างความเข้าใจในการรักษาอย่างถูกวิธีสำหรับผู้ป่วย)

สะเก็ดเงินแบบผื่นหนานูน 寻常型银屑病:红斑+鳞屑


สะเก็ดเงินแบบหยดน้ำ 点滴状银屑病


สะเก็ดเงินแบบกลมคล้ายเหรียญ 钱币状银屑病


สะเก็ดเงินแบบแผนที่ 地图状银屑病


หากเป็นที่ศีรษะผื่นจะเกินไรผมออกมา ทำให้ดูคล้ายคนใส่หมวก



จุดเลือดออกหลังจากขูดขุยออก



สะเก็ดเงินบนหนังศีรษะจะทำให้ผมรวมตัวกันเป็นกระจุกคล้ายพู่กัน



รอยบุ๋มเล็กๆบนเล็บ 


เนื้อเล็บแยกจากผิวหนัง 甲床与加甲板分离


ผิวใต้เล็บหนาตัวทำให้เล็บหนาตัว มีสีผิดปกติ  


แผ่นเล็บเสียหายขรุขระหงิกงอ 





ปัจจัยที่ทำให้เกิดสะเก็ดเงิน

1. พันธุกรรม
ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยสะเก็ดเงินจะมีประวัติของบุคคลในครอบครัวหรือเครือญาติโดยนับย้อนไปภายใน 2-3รุ่น หากมีบิดามารดาเป็นสะเก็ดเงินโอกาสที่บุตรจะเป็นโรคมีมากกว่าประชากรทั่วไป

2. ภาวะทางอารมณ์ 
 โดยเฉพาะ “ความเครียด” และภาวะทางอารมณ์อื่นๆที่สามารถส่งผลต่อภาวะเครียด เช่น โกรธ หงุดหงิด กังวล เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการกำเริบของผื่นได้

3. การติดเชื้อ 
การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการเห่อของผื่นสะเก็ดเงินได้  โดยเฉพาะเชื้อประเภท streptococcus 

4. ปัจจัยทางกายภาพ เช่น การกระทบกระแทก เกิดบาดแผล การเสียดสี การไหม้จากแสงแดด อาจทำให้เกิดผื่นใหม่ขึ้นได้

5. การใช้ยา
การใช้ยาบางชนิดก็ทำให้เกิดผื่นหรือผื่นเห่อขึ้น ควบคุมโรคได้ยากขึ้น เช่น

* ยาแก้อักเสบ (NSAIDs)
* ยาต้านมาลาเรีย
* ยาลดไขมัน
* ยารักษาอาการซึมเศร้า
* ยาลดความดัน

การเกิดสะเก็ดเงินในมุมมองแพทย์จีน
1. หัวใจ
"หัวใจเป็นจ้าวแห่งอวัยวะ" ควบคุมเลือดและหลอดเลือด ควบคุมความรู้สึกนึกคิดและจิตใจสาเหตุของโรคสะเก็ดเงินมีความสัมพันธ์กับอารมณ์ส่งผลต่อโรคอย่างใกล้ชิด

2. ตับ
"ตับดุจแม่ทัพของอวัยวะ" ทำหน้าที่กระจายชี่ขับเคลื่อนไปทั่วร่างกาย เก็บเลือด ความสมบูรณ์ของตับดูที่เล็บ ประสิทธิภาพของตับอยู่ที่เส้นเอ็น ตับใช้เลือดในการหล่อเลี้ยง ใช้ชี่เป็นตัวกระจาย  ตับพร่องเลือดก็พร่อง สะเก็ดเงินในกลุ่มอาการเลือดพร่อง มักมีอารมณ์อ่อนไหวหรือถูกกระตุ้นทำให้เกิดภาวะชี่ตับติดขัด เมื่อชี่ตับติดขัดนานเข้าทำให้เกิดความร้อนที่ตับ สะสมภายในเลือด

3. ม้ามกระเพาะอาหาร
"ม้ามเป็นคลังเสบียงของร่างกาย" ทำหน้าที่ลำเลียงสารอาหารเลี้ยงทั่วร่างกาย นำสารอาหารดีเลี้ยงส่วนบนร่างกาย  กระเพาะอาหารทำหน้าที่รับสารอาหาร ย่อยอาหารนำของเสียลงต่อด้านล่าง  ม้ามทำหน้าที่ควบคุมเลือดไม่ให้เลือดไหลออกนอกเส้นเลือด สะเก็ดเงินในระยะแรกที่แสดงอาการมีผื่นสีแดงสดเมือขูดหรือเกาจะมีเลือดออก ทั้งนี้เกิดจากเลือดร้อน ม้ามสูญเสียการควบคุมเลือด เลือดไหลไม่เป็นในทิศทางเดียวกัน ไหลออกนอกเส้นเลือด
คนที่เป็นโรคสะเก็ดเงินมาระยะยาวนาน ลักษณะสะเก็ดหนาตัว เกิดจากการทำงานของม้ามที่ผิดไป

4. ปอด
"ปอดดุจเสนาธิการ" มีพื้นฐานการทำหน้าที่ คือเรื่องชี่ ความสมบูรณ์ของปอดอยู่ที่ขน ประสิทธิภาพของปอดอยู่ที่ผิวหนัง ทำหน้าที่ควบคุมการหายใจและ  นำชี่บริสุทธิ์ไปทั่วร่างกาย ชี่ไหลเวียนเลือดก็ไหลเวียนดีชี่ติดขัดเลือดก็คั่ง หากชี่ปอดผิดปกติ ทำให้สะเก็ดเงินมีลักษณะหนาตัว คล้ายเปลือกหอยนางรม มีสีม่วงคล้ำ

5. ไต
"ไตเปรียบเสมือนทัพสนับสนุน"  ความสมบูรณ์ของไตอยู่ที่เส้นผม ประสิทธภาพของไตอยู่ที่กระดูก  ไตเก็บสารจำเป็นของร่างกาย(จิง) ควบคุมสารน้ำในร่างกาย ควบคุมอวัยวะสืบพันธุ์

ตับทำหน้าที่เก็บเลือดไตทำหน้าที่เก็บสารจิง จิงและเลือดมีต้นกำเนิดเดียวกัน ดังนั้นการรักษาจึงต้องรักษาร่วมกัน

โรคสะเก็ดเงินมีส่วนสัมพันธ์กับกรรมพันธุ์  ไตเป็นต้นทุนของชีวิตมาแต่กำเนิด ในเพศหญิงตับก็ถือเป็นต้นทุนของชีวิตเช่นกัน ถ้าหากสารจำเป็น (จิง) ที่มีแต่เกิดไม่พอ จะมีภาวะตับไตพร่อง และผู้หญิงก็มีเรื่องเกี่ยวกับประจำเดือนหรือภาวะตั้งครรภ์ ทำให้ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์

สะเกิดเงินแบ่งออกเป็น 3 ระยะ
1. ระยะเฉียบพลันเกิดจากภาวะเลือดร้อน



มีผื่นใหม่ขึ้นไม่หยุด ลุกลามอย่างรวดเร็ว สีของผื่นเป็นสีแดงสด มีขุยมาก คันมาก หากขูดขุยออกจะพบจุดเลือดออก คอแห้งกระหายน้ำบ่อย เจ็บคอ หงุดหงิดง่าย ท้องผูก 

แนวทางการรักษา :  ดับร้อนทำให้เลือดเย็น ลดอาการคัน


2. ระยะที่โรคสงบเกิดจากเลือดแห้ง (ขาดสารน้ำ)



ลักษณะผื่น สีแดงซีด ขุยมากแต่ไม่หนา คัน ผิวค่อนข้างแห้ง
แนวทางการรักษา : พยุงเลือดบำรุงยิน ขจัดลมทำให้ผิวชุ่มชื้น


3. ระยะโรคเป็นมานานเกิดจากเลือดอุดตัน



ลักษณะผื่น ผื่นเป็นๆหายๆมาเป็นระยะเวลานาน สีของผื่นเป็นสีแดงคล้ำ ขุยหนา แข็งหลุดยาก คัน

แนวทางการรักษา : เพิ่มการไหลเวียนเลือด สลายเลือดคั่ง ลดอาการคัน

แนะนำโภชนบำบัด อาหารหย่างเซิง ผักผลไม้ที่เหมาะสมกับพยาธิสภาพ
1. ผัก

ผักโขม ผักกาดขาว แครอท ไช้เท้า มะเขือ (ม่วง) เผือก ผักบุ้ง  มันฝรั่ง  โหยวไช่ มะระ ฟักทอง แตงกวา บวบ ฟัก ถั่วงอก

2. ผลไม้
แตงโม พุทรา ส้ม ลูกพีช ลูกพลับ มะเดื่อฝรั่ง สาลี่ แอปเปิ้ล กล้วย องุ่น

3. ธัญพืช
ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วปากอ้า ถั่วแดง ถั่วลิสง งา

การปฏิบัติดูแลตนเองเพื่อป้องกันและรักษา
- หมั่นดูแลสุขภาพ เพื่อยกระดับเลือดลม เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
- ไม่ควรอาบน้ำด้วยน้ำอุ่นจัดๆ หรือร้อนจัดเกินไป

- หลีกเลี่ยงการทานยาที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้มีผื่นขึ้น
- กรณีที่มีการทานยาสเตียรอยด์หรือยากดภูมิไม่ควรหยุดยากะทันหัน
- หากมีการใช้ยาใช้ภายนอกในบริเวณกว้างควรระวังเรื่องความเข้มข้นของยา
- ผื่นบริเวณใต้รักแร้ อวัยวะเพศ ขาหนีบหรือใบหน้าไม่ควรใช้ยาที่มีผลข้างเคียงมาก
- หากมีการติดเชื้อควรรักษาการติดเชื้อก่อน
- หลีกเลี่ยงการใช้สบู่หรือครีมอาบน้ำที่มีฤทธิ์รุนแรง เป็นไปได้มึควรใช้สบู่ทุกครั้งที่มีการอาบน้ำ
- หลีกเลี่ยงการทางอาหารรสจัด อาหารมัน หรือ เนื้อประเภทเนื้อแดง เน้นทานปลา หรือผักผลไม้ที่ไม่หมักดอง
- งดสูบบุหรี่  เหล้า แอลกอฮอลล์
- หลีกเลี่ยงสภาวะเครียด คิดมาก พยายามทำจิตใจให้ผ่องใส

ข้อมูลโดย : แพทย์จีน ณัฐฐิมา เตชะพิพัฒน์ชัย  (เจิง ฉ่าย อิง)
แผนกอายุรกรรมผิวหนัง


อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
1. ลมพิษ ผื่นลม ผื่นซ่อนเร้น Urticaria
2. งูสวัด Varicella zoster virus
3. การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน
4. การรักษาด้วยยาจีน
5. หาหมอจีนทำไมต้องแมะ?

สอบถามข้อมูลการรักษาเพิ่มเติม 
LINE@ : @huachiewtcm


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้