เต๋าอิ่นเพื่อการฟื้นฟูพาร์กินสัน

Last updated: 20 ต.ค. 2566  |  233 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เต๋าอิ่นเพื่อการฟื้นฟูพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease : 帕金森病) คือ โรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทบริเวณก้านสมอง ส่งผลให้การผลิตสารบางอย่างหรือ โดพามีน (dopamine : 多巴胺) ลดลง ทำให้เกิดความผิดปกติ เช่น เคลื่อนไหวช้า อาการสั่นแข็งเกร็ง และปัญหาการทรงตัว ซึ่งเป็นอาการหลักสำคัญของโรคพาร์กินสัน เนื่องด้วยปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโรคพาร์กินสันทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบมากในกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 50 ปี มีอัตราการเกิดโรคถึง 1.7%  

สาเหตุที่ทำให้การผลิตสารโดพามีนลดลงนั้น ยังไม่ทราบเหตุผลที่แน่ชัด ซึ่งที่พบบ่อยเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ นั่นคือจากการรับประทานยาบางชนิดเป็นระยะเวลานาน เช่น ยาแก้เวียนศีรษะ ยารักษาความผิดปกติทางจิตบางชนิด เป็นต้น หรือที่พบบ่อยมาก ๆ คือ เกิดความผิดปกติของสมองอื่น ๆ เช่น อัมพฤกษ์อัมพาตจากหลอดเลือดสมองอุดตัน หลอดเลือดสมองแตก สมองอักเสบ โพรงน้ำในสมองขยายตัว เคยได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ เป็นต้น หรือประวัติคนในครอบครัวซึ่งสามารถพบได้จากการถ่ายทอดพันธุกรรมร้อยละ 10-15

อาการที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว มี 4 อาการหลัก ๆ คือ

  1. เคลื่อนไหวช้า ทำอะไรช้าลง
  2. อาการสั่น ทำอะไรไม่คล่องเหมือนเก่า เช่น เขียนหนังสือ เปิดฝาขวดน้ำ หรืออาจมือสั่นขณะอยู่นิ่ง เมื่อเคลื่อนไหวอาการสั่นหายไป
  3. อาการแข็งเกร็ง แขนขาเกร็งแข็ง บางครั้งอาจปวดหรือเกิดตะคริว ใบหน้าแสดงออกได้น้อย เป็นต้น
  4. ปัญหาการทรงตัว การเดินผิดปกติ เดินลำบาก ก้าวขาไม่ออก ก้าวเท้าสั้น ๆ ซอยเท้าถี่ หมุนลำตัวลำบาก

แพทย์แผนจีน เรียกว่า ช่านปิ้ง (颤病) จวีปิ้ง (拘病) ช่านจวีปิ้ง (颤拘病)

ในอาการเคลื่อนไหวช้าแข็งเกร็งเป็นหลัก แพทย์แผนจีนถือว่า เลือดไม่หล่อเลี้ยงเส้นเอ็น ทำให้เส้นเอ็นแข็งหดเกร็ง

อาการสั่นเป็นหลัก แพทย์แผนจีนถือว่า อินพร่องเกิดลมเคลื่อนไหวภายใน สามารถแบ่งตามกลุ่มอาการได้ดังนี้

  1. กลุ่มอาการอินและเลือดพร่อง เส้นเอ็นขาดการบำรุงเลี้ยง
    อาการ : กล้ามเนื้อแขนขายึดเกร็งเป็นหลัก เคลื่อนไหวช้าบางครั้งเคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กัน เดินลากขา สีหน้าพูดจาไร้อารมณ์ ปวดเมื่อยเอว ท้องผูก ลิ้นค่อนข้างอ่อนนุ่มฝ้าลิ้นน้อย (舌嫩苔薄白 : เสอเนิ้นไทป๋อไป๋) ชีพจรตึงหรือตึงเล็ก (脉弦或弦细 : เสียนม่ายหรือเสี่ยนสี้)
    วิธีการรักษา : บำรุงตับไต ให้ความชุ่มชื้นกับเส้นเอ็น
  2. กลุ่มอาการอินและเลือดพร่อง ลมตับเคลื่อนไหวภายใน
    อาการ : มีอาการสั่นเป็นหลัก กล้ามเนื้อแขนขายึดเกร็ง เคลื่อนไหวช้า แขนเคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กัน เดินลากขา สีหน้าพูดจาไร้อารมณ์ ปวดเมื่อยเอว ท้องผูก ลิ้นค่อนข้างอ่อนนุ่มฝ้าลิ้นน้อย (舌嫩少苔 : เสอเนิ้นส่าวไท) ชีพจรตึงเล็กหรือตึง (脉弦细或弦 : เสี่ยนสี้หรือเสียน)
    วิธีการรักษา : บำรุงตับไต ระงับลมหยุดสั่น
  3. กลุ่มอาการชี่และเลือดพร่อง ลมตับเคลื่อนไหวภายใน
    อาการ : แขนขาศีรษะสั่นเป็นหลัก สีหน้าไม่แสดงอารมณ์ การทรงตัวไม่ดี คอแข็งหลังแข็ง แขนขายึดเกร็ง อ่อนเพลียไม่มีแรง ปวดเมื่อยเอวและขา ลิ้นสีแดงอ่อนหรือซีดคล้ำฝ้าบางขาว (舌淡红或淡暗苔薄白 : เสอตั้นหงหรือตั้นอั้นไทป๋อไป๋) ชีพจรเล็กบาง (脉细 : สี้)
    วิธีการรักษา : บำรุงชี่และเลือด
  4. กลุ่มอาการอินพร่องกระทบหยาง อินหยางพร่องทั้งคู่
    อาการ : เดินเคลื่อนไหวลำบากคอแข็งหลังแข็งเป็นหลัก แขนขาศีรษะสั่นป็นเวลานาน สีหน้าไม่แสดงอารมณ์ อ่อนเพลียไม่มีแรง มือเท้าเย็น ปวดเมื่อยเอวและขา บางครั้งมีวินเวียนศีรษะ ลิ้นสีแดงอ่อนหรือซีดคล้ำ ฝ้าลิ้นบางขาว (舌淡红或淡暗苔薄白 : เสอตั้นหงหรือตั้นอั้นไทป๋อไป๋) ชีพจรลึกจมเล็ก (脉沉细 : เฉินสี้)
    วิธีการรักษา : บำรุงอินประคับประคองหยาง ระงับลมหยุดสั่น  

กลุ่มอาการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวที่อาจพบได้ เช่น อาการทางจิตประสาทซึมเศร้า ท้องผูก เบื่ออาหาร ขาบวมน้ำ เหงื่อออกมาก เป็นต้น

โรคพาร์กินสันในทางแพทย์แผนจีนสามารถรักษาด้วยการฝังเข็มหรือการใช้ยาสมุนไพรจีนร่วมกัน ยาสามารถช่วยบำรุงอวัยวะภายใน กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ปรับสมดุลร้อนเย็นภายในร่างกายแบบองค์รวม อีกทั้งยังช่วยชะลอควบคุมการพัฒนาของโรคได้ค่อนข้างดีและยังมี

การเต๋าอิ่น เป็นวิธีการเคลื่อนไหวเพื่อการฟื้นฟูร่างกายร่วมกับฝึกลมหายใจแบบแพทย์แผนจีน โดยจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้กล้ามเนื้อเส้นเอ็นอ่อนนุ่ม การเคลื่อนไหวของข้อต่อคล่องตัวมากขึ้น ส่งผลให้การเคลื่อนไหว การเดิน และการทรงตัวประสานสัมพันธ์ดีขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตเรียบง่ายขึ้นและสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด ครั้งนี้หมอมีเคล็ดลับดี ๆ เกี่ยวกับการเต๋าอิ่นง่าย ๆ ด้วยตนเอง เพื่อฟื้นฟูการเดินของโรคพาร์กินสันในส่วนของการเดินกันครับ (步行及抬腿导引法)

ท่าที่ 1 การนั่งแล้วลุกขึ้นยืน

  • นั่งเก้าอี้ตัวตั้งตรง
  • เอามือเท้าที่เก้าอี้ดันตัวมาด้านหน้า
  • โน้มตัวมาด้านหน้า เหยียดเข่า เหยียดสะโพก และดันตัวลุกขึ้น


  • โน้มตัวไปด้านหน้าถ่ายน้ำหนักไปที่ก้น
  • ถ่ายน้ำหนักลงนั่งที่เก้าอี้ ย่อเข่า ย่อสะโพก
  • เอามือท้าวที่เก้าอี้ดันตัวมาด้านหลัง

**ยืนและนั่งลงนับ 1 ทำซ้ำ 5 ครั้ง**

 

ท่าที่ 2 การเดินข้ามเส้นสลับซ้ายขวา

 

โดยเริ่มจากขาข้างซ้าย งอเข่า งอสะโพกข้างซ้ายขึ้น ก้าวผ่านเส้นที่ขีดไว้ โดยไม่เหยียบเส้นและก้าวเท้าขวาข้ามเส้นสลับไปมา เมื่อสิ้นสุดเส้น ให้ก้าวเท้าเฉียงในแนว 45 องศา โดยให้ก้าวสลับซ้ายขวาข้ามเส้นหน้ามองตรงไปข้างหน้า ลำตัวตรง ขาเหยียดตรง เท้าไม่ชิดกัน

**เส้นสามารถทำได้ง่าย ๆ โดยใช้เทปแบบติดแน่น ที่มีความกว้างอย่างน้อย 2 นิ้วและยาวประมาณ 2 ฟุต ติดเทปเส้นเป็นแนวตามรูป โดยให้ทำ 1-2 รอบ** 

 

ท่าที่ 3 การเดินข้ามสิ่งกีดขวาง  

 

เริ่มจากขาซ้าย งอเข่า งอสะโพก ก้าวขาขวาตามชิดขาซ้าย เดินก้าวไปสุดทาง กลับหลังหันมาทางเดิม สลับข้างเดิน โดยให้เริ่มจากขาขวา งอเข่า งอสะโพก ก้าวขาว้ายตามชิดขาขวา และเดินไปสุดทาง

**ให้ทำ 1-2 รอบ**

 

ท่าที่ 4 การเดินก้าวขึ้นลงบันได

วางบันไดฝึกไว้ข้างหน้า และเริ่มก้าวจากขาข้างซ้าย งอเข่า งอสะโพก ก้าวขาซ้ายขึ้นขาขวาก้าวขึ้นตาม ตอนลงให้ก้าวเท้าซ้ายหรือข้างเดียวกันลงก่อน จากนั้นค่อย ๆ ก้าวลงและขาขวาลงตาม

**ก้าวขึ้นและลงนับ 1 ให้ทำด้านซ้าย-ขวาข้างละ 5 ครั้ง**

 

ท่าที่ 5 การเดินซิกแซก

เริ่มจากขาข้างซ้าย ในแนวเฉียง 45 องศา วนมาทางด้านขวา สลับซ้ายและขวาวนรอบกล่อง เดินไปจนสุดทาง แล้วค่อยเปลี่ยนมาเริ่มจากขาขวาก่อน โดยก้าวไปทางแนวเฉียง 45 องศา วนมาทางด้านซ้ายและสลับขวาจนสุดทางเดิน

**กล่องแต่ละชิ้น ให้วางห่างประมาณ 50 เซนติเมตร**

 

ประเทศจีนได้มีผลการวิจัยที่กล่าวถึงการรักษาด้วยการฝังเข็ม การใช้ยาสมุนไพรจีน และเสริมกับการเคลื่อนไหวร่างกายที่สามารถควบคุมและชะลอการพัฒนาของโรคพาร์กินสันได้ค่อนข้างดีอีกด้วย ซึ่งเป้าหมายการรักษาฟื้นฟูโรคพาร์กินสัน คือ  

  • ช่วยควบคุมอาการของโรคได้
  • ชะลอการพัฒนาของโรค
  • ยืดเวลาการออกฤทธิ์ของยาแผนปัจจุบันให้ยาวนานขึ้น
  • ป้องกันและฟื้นฟูอาการข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยาแผนปัจจุบัน

หากมีการรักษาฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง มีส่วนช่วยลดปริมาณและผลข้างเคียงการใช้ยาแผนปัจจุบัน อีกทั้งยังช่วยประคับประคองอาการของโรคให้คงที่ได้

ปรึกษาสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่ ทีมแพทย์จีน คลินิกฟื้นฟูอัมพฤกษ์อัมพาตและโรคทางระบบประสาท ชั้น 8 คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีน พัลลภ อ่อนแก้ว (จาง เหวิน จิ้ง)
张文静 中医师
TCM. Dr. Phanlob Onkaew
คลินิกฟื้นฟูอัมพฤกษ์อัมพาตและโรคทางระบบประสาท

อ้างอิง

  1. https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/parkinsons-disease
    สืบค้นเมื่อ 13 เมษายน 2566
  2. https://www.huachiewtcm.com/cn/content
    สืบค้นเมื่อ 13 เมษายน 2566
  3. ศาตราจารย์ นายแพทย์ รุ่งโรจน์ พิทยศิริ : คู่มือออกกำลังกายเพื่อบำบัดโรคพาร์กินสัน ใน 20 นาที x4 : คลินิกเวชกรรมเฉพาะทางโรคสมองและโรคพาร์กินสัน, 2559
  4. 导引康复法帕金森病 : 主编 严蔚冰,李殿友

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้